สัญญาณ ‘พท.’ถอย ดับฝัน ‘ส้ม’ล้มเกมแก้ รธน.
ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญยังต้องจับตา ในวงประชุมวิป3ฝ่ายวันนี้ ว่าจะเป็นหัวเชื้อให้เกิดแรงต้าน กระทบชิ่ง ให้ "พรรคเพื่อไทย" ใส่เกียร์ถอยเกมแก้กฎหมายอีกหรือไม่
KEY
POINTS
Key Point
- พรรคเพื่อไทย ไม่ได้ใส่เกียร์ถอย เฉพาะ ร่างกม.จัดระเบียบกลาโหมเท่านั้น
- ที่ผ่านมามีมาแล้ว 2 ฉบับ คือ การแก้ไข พ.ร.ป.ป.ป.ช. และ แก้รัฐธรรมนูญ หมวดคุณสมบัตินักการเมือง-ตัดจริยธรรม
- อาการถอยครั้งนี้ เหมือน "เพื่อไทย" ต้องการตรวจแนวต้าน ว่าจะแรงฤทธิ์แค่ไหน
- รวมไปถึง การโยนประเด็น แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ผ่านประชามติ2ครั้ง ที่ให้ "พรรคประชาชน" เดินนำ และเพื่อไทยประกบเป็นลูกคู่
- สิ่งที่ถูกเดินนำ คือ ลองยื่นแก้มาตรา 256 ตัดเกณฑ์บางอย่าง เช่น เกณฑ์เสียงสว. เสียงฝ่ายค้าน รวมถึงเงื่อนไขสำคัญที่ต้องทำประชามติ
- ต้องจับตาให้ดี ถึง แรงผลักของ "เพื่อไทย" ต่อเรื่องนี้ ว่าจะใส่เกียร์ถอย ที่บ่งชี้เป็นสัญญาณการโดดเดี่ยว "พรรคประชาชน" อีกครั้ง
อาการชักเข้า-ชักออกของ “พรรคเพื่อไทย” ต่อการเสนอแก้ไขกฎหมายสู่สภาฯ ไม่ได้มีแค่ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่..) พ.ศ… ฉบับของ “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” และคณะ ที่ถูกแปลความว่า “ฝ่ายการเมือง” พยายามล้วงลูก “กองทัพ” เท่านั้น
ที่ผ่านมายังมี อีก 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พ.ศ..ซึ่งเสนอโดย “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ที่เสนอและบรรจุวาระต่อที่ประชุมรัฐสภาไว้แล้ว แต่กลับถอนออกเพื่อไปปรับปรุง ซึ่งเนื้อหาได้ยื่นสิทธิให้ “ผู้เสียหาย-ญาติ” ฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐได้ หากช่องทางของ “ป.ป.ช.” ไม่ดำเนินการ
อีกฉบับคือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและจริยธรรม ที่เพียงแค่เสนอเข้าสู่ระบบตรวจสอบ แต่ยังไม่ทันบรรจุวาระ
อาการของพรรคเพื่อไทย กับร่างกฎหมาย 3 ฉบับนี้ ถูกมองว่าเป็นการหยั่งเชิงและกระแสของ “แนวต้าน” ว่าจะลดราวาศอกได้มากแค่ไหน ทว่า เพียงแค่การแสดงความเห็นค้านจาก “พรรคร่วมรัฐบาลสายอนุรักษ์นิยม” ทำให้พลพรรคเพื่อไทยรู้ว่า ไม่ควรเล่นกับไฟ
ในการเปิดประชุมสภาฯ วันนี้ (12 ธ.ค.) ยังมีอีกหลายวาระทางกฎหมายที่ต้องจับตาว่าพรรคเพื่อไทยจะโยนหินถามทาง เพื่อไปสู่แผนการเมืองที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังอย่างไรบ้าง
ประเด็นที่ต้องจับตาคือ การเดินเกมแก้รัฐธรรมนูญที่มีความพยายามเดิน 2 ขา คือการรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ และ การแก้ไขรายมาตรา ที่ “พรรคประชาชน” เดินเกมนำ และ “พรรคเพื่อไทย” รับบทลูกคู่
ว่าด้วยเรื่องแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ก่อนหน้านี้ สส.พรรคประชาชนเข้าชื่อเสนอร่าง 17 ฉบับ และ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา สั่งบรรจุในวาระแล้วทั้งหมด
หากพิจารณาไล่เรียงดูสาระทั้ง 17 ฉบับ สามารถจัดกลุ่มได้เป็น 5 กลุ่ม คือ
1.แก้ไขหลักเกณฑ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
2.กลุ่มประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงานนิติบัญญัติ-คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
3.หมวดสิทธิ และเสรีภาพ เช่น เสรีภาพด้านวิชาการ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ความเสมอภาคทางเพศ สิทธิประกันตัวของผู้ต้องหา การเรียกเกณฑ์ทหาร
4. กลุ่มแก้ไขอำนาจขององค์กรอิสระและศาล
5. กลุ่มลบล้างผลพวงของการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557
ไฮไลต์เรื่องนี้ ถูกโฟกัสไปที่การหารือของ “วิป 3 ฝ่าย” ที่จะยกประเด็นมาพิจารณาวันนี้ว่า นอกจากการกำหนดกรอบการพิจารณาแล้ว สาระของเรื่องใดบ้าง ที่ควรถูกโต้แย้ง และขยายผลเป็นประเด็นการแสดงจุดยืนของแต่ละพรรคการเมือง รวมถึง สว.
แน่นอนว่า ฉบับที่อาจกลายเป็นวาระร้อนในรัฐสภาคือ การแก้ไขหลักเกณฑ์ของการแก้รัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดย “พริษฐ์ วัชรสินธุ” มีสาระสำคัญคือ ยกเลิกมาตรา 256 ที่กำหนดเป็นหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
โดยตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียง สว.ร่วมโหวต และเปลี่ยนให้เป็นการลงมติของสส.ทั้งหมด แต่ยังติดหลักเกณฑ์คือ เสียงเห็นชอบนั้นต้องเกินกึ่งหนึ่ง และสส.ต้องออกเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสส.ที่มีอยู่
ส่วนที่จะหายไป คือการได้เสียงเห็นพ้องจาก “ฝ่าย สว.” ในวาระแรก และวาระสาม และเสียงเห็นชอบจาก “ฝ่ายค้าน” ในวาระสาม
รวมถึงเกณฑ์ที่ต้องผ่านการเห็นชอบจากประชาชน ด้วยกระบวนการทำประชามติ ในประเด็นที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ได้แก้ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1.แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์
2.แก้ไขคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ
3.เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ
4.เรื่องที่ทำให้ศาล หรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้
มีการแปลความหมายไว้ว่า หากสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบ หรือแม้แต่แค่เห็นด้วย-รับหลักการ จะเท่ากับเปิดทาง “ตีเช็คเปล่า”ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับที่ถูกเรียกว่า “รัฐธรรมนูญปราบโกง” แบบสุดซอย ได้ในอนาคต
นอกจากนั้นแล้ว ในประเด็นความพยายามรื้อใหญ่แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยังคงมีความพยายามที่ “พรรคประชาชน-พรรคเพื่อไทย” วางประเด็นให้ “วันนอร์” ทบทวนการบรรจุวาระ แก้มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่ต้องรอการทำประชามติสอบถามความเห็นจากประชาชนก่อน
เพื่อหวังเร่งรัด “โรดแมป” การได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน งานนี้ “พรรคประชาชน” ออกหน้านำไปแล้ว และ “เพื่อไทย” มีแนวโน้มจะเอาตาม แต่ยังมีประเด็นที่วันนอร์ต้องพิจารณาให้ดี หากจะทบทวนมติของตัวเอง ที่ไม่บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่รัฐสภาเมื่อต้นปี 2567
เพราะด้วยคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่มีผลผูกพันกับทุกองค์กร และรวมถึงกระบวนการนิติบัญญัติ หาก วันนอร์ยอมตามออเดอร์ของฝ่ายการเมือง ย่อมเสี่ยงที่จะหลุดจากเก้าอี้ประธานรัฐสภา รวมถึงต้องเดิมพันชะตาทางการเมือง ด้วยข้อหากระทำการที่ฝ่าฝืน หรือขัดกับรัฐธรรมนูญ ที่โยงไปถึงความผิดตามประมวลจริยธรรมด้วย
ดังนั้น ไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา หรือรื้อใหญ่ทั้งฉบับ “พรรคเพื่อไทย”ต้องรอจับสัญญาณฟากอนุรักษ์นิยมให้ดี
ไม่แน่ อาจได้เห็นการถอยกรูดของ “พรรคสีแดง” และปล่อยโดดเดี่ยว “พรรคส้ม” อีกครั้ง.