ปธ.กกต.ไม่ฟันธง 'ทักษิณ' เอานโยบายรัฐบาลหาเสียงเวทีท้องถิ่น ขัด กม.หรือไม่
ประธาน กกต.ไม่ฟันธง 'ทักษิณ' พูดบนเวทีช่วยหาเสียงชูนโยบายรัฐบาล เกินอำนาจท้องถิ่น เสี่ยงผิดกฎหมายหรือไม่ รับต้องดูหลัฏฐานก่อน เผยบัตรเลือกตั้ง อบจ.เตรียมส่งถึงทั่วประเทศ มีร้องเรียนล่าสุดกว่า 30 เรื่อง เตือนผู้สมัครเลี่ยงแจกแต๊ะเอียช่วงตรุษจีน
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2568 ที่สำนักงานคณะกรรมการกาเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดการเลือกตั้ง อบจ. ว่า ขณะนี้จัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วและอยู่ระหว่างกระบวนการให้ไปรษณีย์ไทยส่งบัตรเลือกตั้งไป อบจ.แต่ละจังหวัด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีระบบติดตาม GPS ตั้งแต่การรับบัตรเลือกตั้งที่โรงพิมพ์ ไปส่งแต่ละจังหวัด และมีการเก็บรักษาโดยมีกล้องวงจรปิดติดตามจนถึงวันเลือกตั้ง 1 ก.ค.2568 ส่วนเรื่องอื่นก็มีการเตรียมการอยู่เสมอ ทั้งผู้ที่จะทำหน้าที่จัดการการเลือกตั้ง พนักงานสืบสวนไต่สวนของ กกต. มีการตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วในการลงพื้นที่ในการป้องกันปราบปรามการซื้อเสียง และขั้นตอนสุดท้ายการอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง กปน. ในช่วงก่อนวันเลือกตั้งเพื่อเกิดความแม่นยำในการปฏิบัติติหน้าที่ ทั้งนี้จะเห็นว่าปี 2562 มีคำร้องเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ กปน. 100 เรื่อง ส่วนการเลือกตั้งปี 2566 พบว่าคำร้องเรียนเหลือเพียง 17 เรื่อง สะท้อนว่าการทำงานของ กปน.ดีขึ้น
นายอิทธิพร กล่าวว่า สำหรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง อบจ. จนถึงขณะนี้มี 30 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเกี่ยวกับการซื้อเสียง ส่วนการคาดการณ์คนออกมาใช้สิทธิ์บนพื้นฐานข้อเท็จจริงจากการเลือกอบจ.ปี 2563 ซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิ์ 62.86% อาจจะต่ำกว่าการเลือกสส.เมื่อปี 2566 แต่อัตราเฉลี่ยเลือกบวจ. 62.8% อาจไม่มาก แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกพื้นที่เป็นเช่นนั้น จังหวัดที่มีคนใช้สิทธิสูงที่สุด คือ พัทลุง 78% ลำพูน 77% สมุทรสาคร และอันดับ 5 คือเชียงใหม่ 71.95 % ถือว่าเยอะ
แต่มีบางจังหวัดที่มีคนใช้สิทธิ์น้อย คือ นนทบุรี 50.02 % และบุรีรัมย์ก็อยู่ราว ๆ นี้ ถือว่าน้อยในบริบทการเมืองไทย ส่วนการเลือกอบจ.ครั้งนี้ เดิมท่านเลขาธิการกกต.คาดว่าอยู่ที่ 65% ซึ่งก็ดี แต่หากกระตุ้นเตือนประชาชนมาใช้สิทธิ์ ซึ่งเป็นหน้าที่อยู่แล้ว คนได้รับเลือกก็จะภูมิใจ ขอให้ไปใช้สิทธิเยอะ ซึ่งจะสะท้อนประชาธิปไตยของไทยจะมีรากฐานที่มั่นคงขึ้น จะเริ่มจากท้องถิ่นอย่างไร ขอเตือนว่า หากไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 1 ก.พ.นี้ให้แจ้งเหตุอันไม่อาจไปใช้สิทธิ์ได้เพื่อไม่ให้ถูกจำกัดสิทธิ์ บางประการตามที่กฎหมายกำหนดไว้
เมื่อถามถึงกรณีการปราศรัยของนายทักษิณ ชินวัตร ที่หยิบยกนโยบายของรัฐบาลมาพูดบนเวทีการหาเสียงของท้องถิ่น นายอิทธิพร กล่าวว่า ที่จริงพูดไปแล้วว่า อยากจะให้ แยกว่าการพูดถึงนโยบายระดับชาติ กับการหาเสียงท้องถิ่นส่วนตัวมองว่าบางครั้งโยงกันได้ บริบทการเมืองไปกันได้ แต่จะเข้าข่ายเป็นการหาเสียงที่ผิดกฎหมายหรือไม่ซึ่งมี 2 ประการหลักคือ เสนอว่าจะให้ กับการหลอกลวง ซึ่งหากไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของอบจ.นั้นๆ อาจจะเข้าข่ายหลอกลวงได้ ดังนั้นเวลาพูดหากพูดไปถึงตรงนั้น ตรงนี้ แต่จะใช่ถึงขั้นเป็นการหาเสียงหลอกลวงว่าจะให้ หรือสัญญาว่าจะให้หรือไม่ก็ต้องดูบริบทแต่ละรายกรณี ต้องดูรายละเอียด ดังนั้น โดยหลักการหาเสียงเน้นว่า การที่ผู้สมัครจะเสนอนโยบายที่ตนเองจะเข้าไปทำหากได้รับเลือกว่าจะทำงานด้านอะไรบ้าง เพราะอำนาจหน้าที่ของอบจ.มีระบุไว้ในกฎหมายชัดเจน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นก็มีระบุไว้ชัดเจน ดังนั้นการหาเสียงก็ควรจะมุ่งเน้นในครอบนั้น หากพูดเกินเลยไปบ้างตนคิดว่าก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร
เมื่อถามอีกว่า กรณีมีผู้ช่วยหาเสียงพูดเน้นไปที่นโยบายของรัฐบาล และเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาล ไม่ใช่อำนาจ หรือภารกิจของอบจ. เช่น การระบุถึงการลดค่าไฟฟ้า 3 กว่าบาท ตลอดจนเงินดิจิทัล ประธาน กกต. กล่าวว่า อย่างที่บอกว่า การพูดถึงนโยบาย กับการหาเสียงงานในกรอบของท้องถิ่น อาจจะไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ตอบตอนนี้ ให้ฟันธงไปเลยมันคงไม่ได้ เพราะว่าความเห็น อย่าลืมว่ากรรมการกกต.มีทั้งหมด 7 คน ฉะนั้นจุดเชื่อมโยงตรงไหนที่มีการพูดถึงนโยบายของตัวเองโดยแท้ ไม่เกี่ยวกับการหาเสียง หรือเข้าข่ายหลอกลวง มันยังตอบทีเดียวไม่ได้ ต้องเอาข้อเท็จจริงที่พูด แต่ละอันที่หาเสียงมาดู ซึ่งก็เคยพูดไปแล้วว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ มันมีเส้นแบ่งอยู่ และต้องดูข้อเท็จจริงประกอบ และถ้าเป็นไปได้ การหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นก็ควรมุ่งเน้นที่นโยบายของผู้สมัครผู้นั้นประสงค์จะดำเนินการเมื่อได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งก็ให้ข้อคิดไปแล้ว ว่าโดยหลักเป็นอย่างนี้ ควรจะเป็นอย่างนี้ หากเกินเลยขอบเขตไปหากมีคนร้องก็ต้องเอาเรื่องทั้งหมดมาดู
ประธาน กกต. กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม คงไม่ต้องถึงขั้นทำหนังสือเตือนเพราะถือว่า ผู้สมัครรู้ดีอยู่แล้วว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง และโดยหลักเมื่อรับสมัครและได้หมายเลขแล้วมีการประชุมเชิงสมานฉันท์แจ้งให้ทราบอยู่แล้ว ฉะนั้นผู้สมัครจะถือว่าตัวเองไม่ทราบไม่ได้ ผู้สมัครมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย พรรคการเมืองก็มีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ดูแลสมาชิกพรรคให้เป็นไปตามกฎหมาย หากแต่ละคนตระหนักในหน้าที่ของตนเองก็จะไม่เกิดปัญหา เรื่องที่ก้ำกึ่งจะเป็นประเด็นเข้าสู่การพิจารณาของกกต. และถือเป็นความรับผิดชอบของผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงต่อสิ่งที่ตัวเองพูดไป
เมื่อถามย้ำว่า ขอบเขตของผู้ช่วยหาเสียงเป็นอย่างไร นายอิทธิพร กล่าวว่า คือการช่วยผู้สมัครหาเสียง ในนโยบายที่ผู้สมัครประสงค์จะนำไปปฏิบัติเมื่อได้รับการเลือกตั้ง หากหาเสียงโดยไม่พูดถึงนโยบายที่จะทำในจังหวัดนั้นๆ มันก็ไม่ใช่นโยบายและจะส่งผลกระทบต่อการที่ไม่ได้รับคะแนนด้วยเพราะถ้าพูดเรื่องอื่น แต่ไม่พูดว่าจะทำอะไรในบริบทงานของตัวเอง
ซักอีกว่า กรณีนายทักษิณไปช่วยหาเสียง แต่พูดถึงนโยบายของรัฐบาล แล้วต่อมารัฐบาลก็ออกมารับลูก แบบนี้ถือว่าทำได้หรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า การพูดถึงนโยบายโดยบุคคลใดก็ตามที่ไปช่วยหาเสียง กับการพูดถึงนโยบายการเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น มันเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันธ์กันได้ แต่จะถึงขั้นผิดหรือไม่ ตนคงไม่สามารถตอบตอนนี้ตรงนี้ได้ เพราะจะทำให้เกิดความไขว้เขว เพราะฉะนั้นผู้ช่วยหาเสียงก็ต้องมีบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการทำอะไรก็ได้ที่มั่นใจว่าทำแล้วจะไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งหากสงสัยว่าที่ทำนั้นเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ก็สามารถสอบถามมายังพรรคการเมืองได้ ซึ่งกกต.มีหน้าที่ตอบโดยเร็ว ไม่เกิน 30 วัน ตนเชื่อว่าผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงทุกคนตระหนักดีว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ตัวอย่างมันก็มีที่เราเคยวินิจฉัยไว้ว่าหาเสียงอย่างไรที่จะเข้าข่ายหลอกลวง เสนอว่าจะให้ ฉะนั้นต้องถือว่าการพูดอะไรบางอย่างอาจจะไม่ตรงประเด็น 100% อาจจะเชื่อมโยงกันได้ แต่อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าถูกหรือผิด เพราะต้องดูข้อเท็จจริง พยานหลักฐานไปตามกรณีๆ ไป
เมื่อถามถึงการแจกแต๊ะเอียในเทศกาลตรุษจีน นายอิทธิพร กล่าวว่า แต๊ะเอียก็คือแตะเอีย ประเพณีบางอย่างเป็นประเพณีที่สำคัญ แต่ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง หากผู้สมัครหลีกเลี่ยงได้ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงในการแจกแต๊ะเอียเพราะเสี่ยงต่อการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และถูกมองว่าเป็นการให้เงินหรือไม่ ขอผู้สมัครอย่าปฏิบัติเช่นนั้น เพราะเป็นช่วงที่มีการเลือกตั้ง
เมื่อถามว่าหากกรณีงานแต่งงาน หากผู้สมัครเป็นญาติกัน จะสามารถช่วยเหลืองานประเพณีได้มากน้อยแค่ไหน ประธาน กกต. กล่าวว่า ถ้าเป็นญาติคงไม่ถึงขั้นซื้อเสียงญาติ เมื่อเป็นประเพณีปฏิบัติก็มีข้อยกเว้นได้ แต่ส่วนที่อาจจะเป็นสีเทา หรือสิ่งที่เลี่ยงได้ก็ควรที่จะเลี่ยง เพราะหากข้อเท็จจริงมาถึง กกต.เป็นสำนวนคดีคำร้อง กกต. ก็ต้องดูจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏและชี้ว่าตั้งใจหรือเป็นประเพณี แนะนำว่าหากหลีกเลี่ยงได้ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยง ซึ่งประเพรีก็น่าจะมีการให้กันซึ่งไม่น่าจะแลก แต่เพื่อให้ความมั่นใจก็อย่าบอกเบอร์ผู้สมัครหรือหาเสียงเลือกตั้งไม่เช่นนั้นจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยแท้