'ศิริกัญญา' จี้รัฐ งัดแผนคู่ขนาน พยุงเศรษฐกิจ รับกำแพงภาษีทรัมป์

'ศิริกัญญา' จี้รัฐบาล งัดแผนคู่ขนาน หนุนกู้เพิ่มพยุงเศรษฐกิจ รับมือ 'กำแพงภาษีทรัมป์' หวั่นปมอุยกูร์-จับนักวิชาการสัญชาติอเมริกันคดี112 ผลักมิตร กระทบแผนเจรจา
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรศึกษาและติดตามมาตรการ การขึ้นภาษีนำเข้าของประเทศสหรัฐอเมริกา และเสนอแนวทางให้รัฐบาลไปพิจารณาดำเนินการ โดยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคกล้าธรรม เป็นผู้เสนอ ว่า เฉพาะสิ่งที่กระทบต่อประเทศไทย ส่วนตัวมองว่า มีทั้งความลึก ความกว้าง และความยาว
ผลกระทบในความลึก คือการประกาศขึ้นกำแพงภาษีครั้งนี้ ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 100 กว่าปี รุนแรงยิ่งกว่าในยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในช่วงปี 1930 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปที่การค้าโลก วันนี้เรากำลังจะเจอกับสถานการณ์ดังกล่าวอีกครั้ง นอกจากจะกระทบไปที่การค้าของโลกแล้ว ยังอาจกระทบไปที่การค้าระลอกอื่นๆ ที่จะตามมา
จากการที่เราเข้าไปเป็นซัพพลายเชนของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศจีน ที่เจอภาษีแบบสาหัสที่สุด เท่าที่เคยมีมา อยู่ที่อัตรา 104% ซึ่งจะเริ่มต้นวันที่ 10 เม.ย.เวลา 10.00 น. ตามเวลาประเทศไทย
ระลอกต่อมา คือการแข่งขันที่จะสูงขึ้น การตัดราคา การแสวงหาตลาดใหม่ๆ รวมไปถึงสินค้าราคาถูก จากทุกทิศทุกทาง จะไหลเข้ามาในไทย ในฐานะตลาดใหม่ เช่นเดียวกัน เศรษฐกิจโลกน่าจะชะลอตัวอย่างรุนแรง และจะกลับมากระทบกับเศรษฐกิจในประเทศอีกระลอก โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว และส่งออกของประเทศ ผลกระทบที่เป็นวงกว้าง
น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวว่า ในเรื่องของสินค้าสำคัญ ที่จะได้รับผลกระทบ กระทรวงพาณิชย์มักจะโชว์ตัวเลขที่เป็นการคำนวณจากพิกัดสินค้าอย่างหยาบๆ ทำให้เราไม่เห็นว่า ตกลงแล้วเราส่งออกสินค้าประเภทใดกันแน่ ถ้าเราเห็นสินค้าที่ชัดขึ้น เราจะมองเห็นตัวคนที่อยู่ในนั้น
ผลกระทบในครั้งนี้กว้างมาก และยาว เราต้องอยู่ในระเบียบโลกใหม่ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สร้างขึ้นมาไปอีกสักระยะ โดยไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่า สงครามการค้าครั้งนี้ จะสิ้นสุดเมื่อไหร่สิ่งที่เรากำลังเผชิญในเวลานี้ เป็นแค่ศึกแรก กระบวนการเจรจาจะเริ่มต้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า แต่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่
ขณะที่สหรัฐฯ ประกาศว่า มี 70 ประเทศที่ต่อคิวเข้าพบ เพื่อพูดคุยเจรจาต่อรองเพื่อลดกำแพงภาษี ในขณะที่การตอบโต้กันไปมา ระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ก็ยังคงดำเนินต่อไป และอาจทำให้เกิดลูกหลง ที่ประเทศไทยต้องเจอหางเลขไปด้วย
"การที่เขาตอบโต้กันไปมา ถามว่าไทยจะกระทบหรือไม่ กระทบกันแน่ เพราะเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน การผลิตสินค้าของจีนไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าสินค้านั้นต้องส่งไปขายที่สหรัฐฯ ก็คงต้องเจอผลการขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมาแน่ๆ ไม่ลดคำสั่งซื้อ ก็เลิกซื้อ ซึ่งจะกระทบมาที่ผู้ผลิตไทยแน่ๆ ยอดขายหายทันที ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์ยาง"
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า เมื่อวานนี้ (8เม.ย.) นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงมาตรการรับมือ ด้วยคำ 3 คำ รู้เขา รู้เรา เร็วและแม่นยำ อีกทั้งก่อนหน้า นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่า เราจะรอดูท่าที ยังไม่รีบ ตนจึงขอให้ไปตกลงกันให้ดีว่า จะเร็ว หรือจะไม่รีบ
ส่วนการที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พูดถึงการรับมือ 5 ประเด็น โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น 4.5 ล้านตัน ในราคาที่ถูกกว่าเราเกือบครึ่งย่อมส่งผลกระทบเรื่องราคาอย่างแน่นอน แม้จะมีการประกาศว่า จะนำเข้าหลังฤดูเก็บเกี่ยวก็ตาม
ทั้งนี้ แม้จะทำให้ไทยขาดดุลกับสหรัฐฯ ลดลงราว 1 หมื่นล้านบาท จากการนำเข้า 4.5 ล้านตัน แต่จะต้องทำให้การเจรจานี้ เป็นไปอย่างโปร่งใส โดยมีผู้ที่ มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จะต้องพูดคุยด้วยเช่นเดียวกัน นายกฯ อาจเดินทางไปพูดคุยกับเกษตรกรในสหรัฐฯ แต่ต้องไม่ลืมที่จะพูดคุยกับเกษตรกรในประเทศเสียก่อน
ขณะที่การผ่อนคลายการนำเข้าสินค้า ด้วยการลดภาษี เป็นเรื่องปกติที่ต้องทำ และไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไร ต่อการเกินดุลกับสหรัฐอเมริกา
ถัดมา มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี แต่เป็นการลดกฎระเบียบขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนจำนวนมาก แต่มาตรการกีดการภาษีหลายตัว คือ การบล็อกสินค้าไม่ให้นำเข้า ฉะนั้นจะมีตัวไหน มีความจำเป็น ต้องเปิดตลาดเพิ่มหรือไม่
น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวว่า การตรวจสอบคัดกรองสินค้า เพื่อตรวจสอบการหลบเลี่ยงภาษี จากการประมาณการณ์ ระบุว่ามีราว ๆ 23% ของยอดการส่งออก ถ้าเราทำได้ทั้งหมด ก็น่าจะเป็นตัวเลขเกินดุลกับสหรัฐฯ ได้อีกราว 1 หมื่นล้าน USD
อย่างไรก็ดี การหาโอกาสลงทุนกับทางสหรัฐฯ ถือเป็นท่าไม้ตาย ที่หลายประเทศใช้กัน คือ การร่วมลงทุนในท่อก๊าซที่อลาสก้า อยากจะสอบถามว่า ถ้าประเด็นนี้ จะเป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่เจรจา เราได้เริ่มหารือกับประเทศ อื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แล้วหรือไม่
ขณะที่ เรื่องอื่นๆ ที่หายไป คือ เรื่องจัดซื้อเครื่องบิน และอาวุธยุทโธปกรณ์ไม่ได้อยู่ในสิ่งที่รองนายกฯ ได้แถลงไป ขอถามว่า จะเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาหรือไม่
"สิ่งที่เรามีอยู่บนโต๊ะเจรจา ไพ่ที่เราจะไปดีลกับเขา มันไม่ได้ให้ความรู้สึกถึง Phenomenal อย่างที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการ"
น.ส.ศิริกัญญา ยังกล่าวอีกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์การส่งชาวอุยกูร์ไปจีน ทำให้มิตรกลายเป็นอื่น ล่าสุด ยังมีการแจ้งจับ ดร.พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการสัญชาติอเมริกัน ในคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หากผู้แทนสหรัฐฯ ยังรับสายรัฐบาลไทย ถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก
จึงมีข้อสงสัยว่า เรื่องนี้จะยังเดินหน้าเจรจาหรือไม่ หวังว่าหลังจากนี้ นายพิชัย จะเดินหน้านำข้อเสนอไทยไปเจรจาต่อรอง คาดว่าจะเห็นผลในอีก 1 - 5 ปี ข้างหน้า และความสมดุลการค้าจะเห็นผลในอีก 10 ปี
ตนและพรรคประชาชน ยืนยันว่าไม่ได้ติดใจต่อท่าทีของรัฐบาล ที่ไม่ได้เร่งรีบเจรจา แต่ใช้วิธีรอดูท่าที และไม่คิดว่า มีใครจะสนับสนุนให้รัฐบาลเข้าไปเจรจาแบบผลีผลาม หลายประเทศไม่ได้ใช้วิธีเชิงรุก แต่เน้นกลับมายืนยันหลักการ และเตือนภัยประชาชนอย่างตรงไปตรงมา อย่าง สิงค์โปร์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น
จึงขอเรียกร้องรัฐบาล เรื่องที่จะทำคู่ขนาน คือ การเจรจา เยียวยา พยุงกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการคาดการณ์จีดีพี ที่อาจต่ำสุดเหลือ 1% รัฐบาลได้เตรียมแผนรับมือไว้อย่างไรบ้าง มาตรการเฉพาะหน้า เป็นเรื่องจำเป็น ที่จะต้องดำเนินการเร่งด่วนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับเอกชน ที่กำลังรำส่ำระสาย
วันนี้ปัญหาเฉพาะหน้าใหญ่หลวง การลงทุนหยุดชะงัก คนกำลังตกงาน ต้องมีมาตรการฉุกเฉินเฉพาะหน้า ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปในเวลาเดียวกัน
ขณะนี้ งบประมาณการคลังที่เหลืออยู่ มีน้อยมาก หนี้สาธารณะใกล้ชนเพดาน เหลือพื้นที่กู้เพิ่มได้ ในงบประมาณปี 2568 อีก 4-5 แสนล้านบาท หากวิกฤติที่จะเผชิญในวันข้างหน้า รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ถ้าต้องขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ เพื่อกู้เงินเพิ่มสภาฯ ยินดีสนับสนุน ถ้าไม่ได้กู้เพื่อไปแจกเงินอย่างสะเปะสะปะ
“ถ้ามีแผนชัดเจน เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ฟื้นฟูประเทศ ให้กู้เลย เพื่อนำงบฯ มาเยียวยาภาคอุตสาหกรรม แรงงาน ไปปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ให้กู้เลย เพื่อเพิ่มความสามารถแข่งขัน กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ขออย่างเดียว อย่ากู้ไปแจก เพื่อเทน้ำลงบ่อทราย ตีเช็คเปล่าให้ตัวเอง" น.ส.ศิริกัญญา ระบุ