โพลล์ชี้คนไทยยังเพิกเฉยกับปัญหาคอร์รัปชัน

โพลล์ชี้คนไทยยังเพิกเฉยกับปัญหาคอร์รัปชัน

เอแบคโพลล์ชี้คนไทยยังไม่ตื่นตัวกับปัญหาคอร์รัปชัน แถมยังเห็นว่าการเลี่้ยงดูปูเสื่อคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องปกติ

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง จุดวิกฤตของปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในหมู่คนไทย จุดวิกฤตของประเทศและผลประโยชน์ของทุกคน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 10 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง จุดวิกฤตของปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในหมู่คนไทย จุดวิกฤตของประเทศและผลประโยชน์ของทุกคน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 10 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,561 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 12 - 16 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน

โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.0 เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า โกหกบ้างไม่เป็นไรเพื่อความอยู่รอด และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.3 เคยโกหกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.5 เห็นด้วยกับการเลี้ยงดูปูเสื่อรับรองคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการทำธุรกิจ และพฤติกรรมที่น่ารังเกลียดของคนไทยที่ค้นพบ คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.6 เคยลัดคิวเพื่อซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆ

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.2 เคยให้สินบนสินน้ำใจตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกและเพื่อประโยชน์ของตนเองค่อนข้างบ่อยถึงบ่อยที่สุด

นอกจากนี้ ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ค้นพบคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.4 เคยลอกการบ้านหรือรายงานของเพื่อนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และที่น่าเป็นห่วงคือส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.9 เคยลอกข้อสอบ แอบดูคำตอบ แอบนำเนื้อหาเข้าห้องสอบอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อหันมาพิจารณาพฤติกรรมในกลุ่มแม่พิมพ์ของชาติหรือคณะครู พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 เชื่อว่ามีการทุจริตจริงในการโกงข้อสอบสอบครูผู้ช่วย โดยตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.4 ระบุรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการต้องรับผิดชอบต่อกรณีทุจริตโกงข้อสอบสอบครูผู้ช่วย ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อพิจารณาข้อมูลที่ค้นพบในกลุ่มข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.2 เคยมีพฤติกรรมคอรัปชั่นขณะปฏิบัติงาน เช่น เคยทำงานส่วนตัว ออกไปทำธุระส่วนตัวในเวลาทำงานโดยไม่ได้ขออนุญาตผู้บังคับบัญชา

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.6 เคยคอรัปชั่นทรัพย์สินของสำนักงานเพื่อประโยชน์ส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับงานอีกด้วย ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.7 เคยพบเห็นเคยรับรู้ว่าคนในหน่วยงานทุจริตข้อสอบเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.6 คิดว่าปัจจุบันมีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นกับทุกหน่วยงานราชการ

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.0 เห็นด้วยที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นควรถูกตรวจสอบด้วย นอกจากนี้ ร้อยละ 38.5 ไม่รับรู้รับทราบผลงานของทั้ง ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. ในการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ในขณะที่ร้อยละ 26.7 รับรู้ทั้งสองหน่วยงาน ร้อยละ 24.7 รับรู้รับทราบผลงานของ ป.ป.ช. มากกว่า และเพียงร้อยละ 10.1 เท่านั้นที่รับรู้ผลงานของ ป.ป.ท. มากกว่า

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นวิกฤตในปัญหาทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางเนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่อาจมองข้ามพฤติกรรมที่เป็นเชื้อแห่งการทุจริตคอรัปชั่นเล็กน้อยในวัยเด็กที่ปล่อยให้ลอกข้อสอบลอกการบ้านจนถึงกลุ่มผู้ใหญ่ที่ขาดความมีวินัยคอยแต่จ้องลัดคิวแซงคิว ปล่อยให้มีการเลี้ยงดูปูเสื่อคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง การทุจริตในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ขาดระบบคุณธรรมที่สุดท้ายส่งผลกระทบทำให้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเติบโตอย่างกว้างขวาง เพราะผลวิจัยล่าสุดค้นพบว่า มีเชื้อแห่งพฤติกรรมการทุจริตคอรัปชั่นเริ่มขึ้นตั้งแต่ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา กลุ่มแม่พิมพ์ของชาติที่เป็นครูบาอาจารย์ กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่กำลังอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของการทุจริตคอรัปชั่นอย่างรุนแรง ดังนั้น ผู้ใหญ่ในสังคมต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ดี จึงขอเสนอทางออกที่น่าพิจารณา คือ ประการแรก ได้แก่ เรียกร้องให้รัฐบาลนำงบประมาณในการพัฒนาประเทศทั้งหมดเปิดเผยต่อสาธารณชนผ่านเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถแกะรอยการใช้จ่ายงบประมาณตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำของทุกเม็ดเงินจนถึงมือประชาชนและพื้นที่ของการพัฒนาเพื่อสร้างความวางใจของสาธารณชนต่อรัฐบาล (Trust in the Government)

2 ได้แก่ เสนอให้แจกแจงรายละเอียดในใบเสร็จรับเงินค่าปรับต่างๆ ว่านำเงินค่าปรับเหล่านั้นไปใช้ทำอะไรบ้าง เช่น ส่งไปยังรัฐบาลกลางเพื่อพัฒนาประเทศ บางส่วนส่งไปพัฒนาห้องสมุดประชาชน บางส่วนส่งให้กับหน่วยงานที่จับกุมผู้กระทำความผิด และบางส่วนนำไปพัฒนาท้องถิ่นที่พบผู้กระทำความผิดนั้นๆ เป็นต้น เพื่อสร้างความวางใจของสาธารณชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ (Trust in the Public Officials)

3 ได้แก่ การรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องสำคัญแต่ความรวดเร็วฉับไวในการคุ้มครองพยานที่กำลังถูกคุกคามในพื้นที่ที่มีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างรุนแรงน่าจะสำคัญกว่าเพราะมีหลายพื้นที่ของประเทศในเวลานี้ ประชาชนจำนวนมากอึดอัดกับพฤติกรรมการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นแต่พวกเขาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลมืดที่ไม่มีหน่วยงานรัฐใดดูแลความปลอดภัยของพวกเขาได้อย่างจริงจังต่อเนื่อง

4 ได้แก่ กระตุ้นให้ประชาชนใช้เทคโนโลยีจับการทุจริตคอรัปชั่นของคน เช่น เปิดไลน์ (LINE) ห้องปราบทุจริตคอรัปชั่น โซเชียลเน็ตเวิร์ค เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ สื่อสารมวลชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและรัฐบาลร่วมบูรณาการปราบปรามการเรียกรับผลประโยชน์และการทุจริตคอรัปชั่น

5 ได้แก่ ทุกหน่วยงานของรัฐต้องมีระบบการคัดเลือกแต่งตั้งคนดีและเก่งขึ้นเป็นผู้นำหน่วยโดย "ขจัด" การแทรกแซงของฝ่ายการเมืองที่มักจะทำให้เกิดการวิ่งเต้น การซื้อขายตำแหน่งขึ้นในทุกหน่วยงาน ดังนั้นเสนอให้ใช้ระบบคุณธรรมที่ประกอบด้วยสามส่วนได้แก่ ผลงาน อาวุโส และการสอบเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง โดยผลงานต้องเป็นผลงานที่จับต้องได้เป็นที่ยอมรับของคนในหน่วยและเป็นที่พึงพอใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังต้องมีความอาวุโส และผ่านการสอบที่บริสุทธิ์ยุติธรรมตรวจสอบได้

"เพราะถ้าปล่อยให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางเช่นนี้ต่อไป ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเอาไว้ได้ ผลที่ตามมาก็คือ ประเทศไทยและประชาชนทุกคนภายในประเทศคงจะพบกับความทุกข์ความเดือดร้อน ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นกับตนเองกับคนใกล้ชิดและสังคมโดยส่วนรวมอย่างถาวร" ดร.นพดล กล่าว