ผ่าเครือข่าย'อดีตบิ๊กสอบสวนกลาง'
(รายงาน) ผ่าเครือข่าย "อดีตบิ๊กสอบสวนกลาง" สารพัดข้อหา-จับตาอาฟเตอร์ช็อค
นับเป็นอีกหนึ่งคดีที่ต้องจารึกไว้บนหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ตำรวจไทย สำหรับการดำเนินคดีแบบฟ้าผ่ากับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) กับนายตำรวจระดับสูงที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมอีกหลายนาย รวมทั้งพลเรือนอีกจำนวนหนึ่ง
ด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงอย่างหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อกล่าวหาฐานประพฤติมิชอบโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์
แรกเริ่มคดีนี้อึมครึมจนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่มีคำสั่งย้าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ และ พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ อดีตรองผบช.ก.ตั้งแต่คืนวันที่ 11 พ.ย.ต่อเนื่องมาร่วม 2 สัปดาห์ คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าล้วนก่อให้เกิดความพิศวงงงงวยกับสังคม และมีคำถามตามมาอย่างมากมาย จนกระทั่งบัดนี้คำถามค้างคาใจเหล่านั้นก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
แม้จะมีการเปิดแถลงข่าวด้วยตัวเองของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แล้วก็ตาม
คดีนี้เริ่มปรากฏเค้าลางที่มาที่ไปว่ามีการกล่าวหาด้วยข้อหาร้ายแรงหลายข้อหาด้วยมูลเหตุอะไร รายละเอียดที่สามารถนำมาอ้างอิงเพื่ออธิบายเรื่องนี้ได้ดีที่สุดมาจาก "คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 632/2557" เรื่องให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน และ "คำร้องฝากขัง" ของพนักงานสอบสวนที่ยื่นต่อศาลอาญา เพื่อขอผัดฟ้องฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมดระหว่างการสอบสวน กอปรกับการประมวลคำสั่งโยกย้ายนายตำรวจกลุ่มนี้ในช่วงที่ผ่านมา
ปฐมบทของคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พ.ย. (เผยแพร่วันที่ 12 พ.ย.) พล.ต.อ.สมยศ ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผบช.ก. และ พล.ต.ต.โกวิทย์ รองผบช.ก. ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) โดยให้ขาดจากตำแหน่งเดิม แล้วแต่งตั้งให้ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบช.ก.
ถัดมา 2 วัน คือ วันที่ 14 พ.ย. พล.ต.อ.สมยศ ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ พล.ต.ต.ชัยทัต บุญขำ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) และ พ.ต.อ.อัครวุฒิ์ หลิมรัตน์ ผู้กำกับการ 1 บก.ป. ไปปฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร.เช่นกัน
พร้อมกันนั้น พล.ต.ท.ประวุฒิ ซึ่งเข้ามารักษาการแทน ผบช.ก. ได้ออกคำสั่ง บช.ก.ให้ พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รอง ผบก.ป. รักษาราชการแทน ผบก.ป. พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว (ผกก.5 บก.ทท.) รักษาราชการแทน ผกก.1 บก.ป. และ พ.ต.อ.ภูมินทร์ พุ่มพันธุ์ม่วง (หลานชายของ พล.ต.อ.สมยศ) ผู้กำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจน้ำ (ผกก.8 บก.รน.) รักษาราชการแทน ผกก.5 บก.ป. ซึ่งเป็นตำแหน่งของ พ.ต.อ.วัชรพล ทองล้วน
คำสั่งฟ้าผ่า บช.ก.ครั้งนี้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกระหึ่มไปทั่วประเทศว่ามีสาเหตุมาจากเรื่องอะไร แต่หลังจากผ่านไปกว่า 1 สัปดาห์ คือ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ก็มีข่าวลือทางแอพพลิเคชันไลน์ว่า พ.ต.อ.อัครวุฒิ์ เสียชีวิตแล้ว
กระทั่งวันรุ่งขึ้น 21 พ.ย. มีการเผยแพร่ใบมรณบัตรของ พ.ต.อ.อัครวุฒิ์ ระบุสาเหตุว่า "กระดูกสันหลังส่วนอกหักหลายชิ้นเนื่องจากตกจากที่สูง" และเริ่มมีข่าวว่ามีการนำศพไปฌาปนกิจที่วัดหลักสี่ แต่ไม่มีการยืนยันข้อมูลใดๆ จากผู้เกี่ยวข้อง
จากนั้นผ่านไปหนึ่งวันจึงมีข่าวปรากฏในสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ยืนยันการเสียชีวิตของ พ.ต.อ.อัครวุฒิ์ โดยมีการประกอบพิธีทางศาสนาอย่างรวบรัดตัดตอน (นำศพไปวัดแล้วเผาในวันเดียว)
เมื่อกระแสวิจารณ์เริ่มบานปลายเกี่ยวกับการตายปริศนาของ พ.ต.อ.อัครวุฒิ์ ในวันเดียวกันนั้นเองก็มีการเผยแพร่คำสั่งของ พล.ต.อ.สมยศ ซึ่งออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ให้ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ไปขออนุมัติหมายจับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ กับพวก และพลเรือนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหมด 10 ราย จากศาลอาญา ด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงซึ่งมีระวางโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต (เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148-149 โทษสูงสุดประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต)
ศาลอนุมัติหมายจับในวันเสาร์ที่ 22 พ.ย. และฝ่ายตำรวจอ้างว่ามีการจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดในคืนเดียวกัน
จากนั้นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบจึงเริ่มให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้ และมีการนำตัวอดีตนายตำรวจระดับสูงสังกัด บช.ก.และตำรวจชั้นประทวนที่ถูกกล่าวหาทั้งหมดพร้อมพลเรือน ไปผัดฟ้องฝากขังผลัดแรกต่อศาลในอีก 2 วันถัดมา (วันจันทร์ที่ 24 พ.ย.) ซึ่งในคำร้องฝากขังผู้ต้องหานี้เองที่เผยให้เห็นว่าตำรวจและพลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอะไร รวมทั้งถูกดำเนินคดีในข้อหาอะไรบ้าง
คดีนี้มีการกล่าวหา พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ และ พล.ต.ต.โกวิทย์ ซึ่งทั้งสองเป็นเพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 31 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.สมยศ และ พล.ต.ท.ประวุฒิ ในข้อหาร้ายแรงหลายข้อหา ได้แก่ หมิ่นเบื้องสูง (ป.อาญา มาตรา 112) เป็นเจ้าพนักงานเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ (ป.อาญา มาตรา 148, 149 และ157) และฟอกเงิน โดยอ้างว่าพัวพันกับการซื้อขายตำแหน่ง ส่วยน้ำมันเถื่อน และบ่อนการพนัน เมื่อปลายปี 2553 ถึงปี 2557
พล.ต.ต.บุญสืบ ไพรเถื่อน อดีตผู้บังคับการตำรวจน้ำ (ผบก.รน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัด บช.ก.ที่ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ เป็นผู้บังคับบัญชา ถูกแจ้งข้อหาเรียกรับผลประโยชน์ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (ป.อาญา มาตรา 149 และ157) กรณีถูกกล่าวหาว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับส่วยน้ำมันเถื่อน โดยเป็นผู้เก็บรวบรวมแล้วส่งต่อให้ พล.ต.ต.โกวิทย์
พ.ต.อ.วุฒิชาติ เลื่อนสุคันธ์ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ถูกแจ้งข้อหาเป็นเจ้าพนักงานจูงใจให้ผู้อื่นมอบผลประโยชน์ เรียกรับ และปฏิบัติหน้าที่มิชอบ (ป.อาญา มาตรา 148, 149 และ157) กรณีการซื้อขายตำแหน่ง โดยเป็นผู้ผลประโยชน์เก็บรวบรวมแล้วส่งต่อให้ พล.ต.ต.โกวิทย์
ด.ต.สุรศักดิ์ จันทร์เงา ลูกน้องคนสนิท อดีตพลขับของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ และ ด.ต.ฉัตรินทร์ หรือ จักรินทร์ เหล่าทอง พลขับของ พล.ต.ต.โกวิทย์ ซึ่งทั้งสองอยู่สังกัดกองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ บก.ป. ถูกแจ้งข้อหาตาม ป.อาญา มาตรา 148, 149 และ157
ส่วน พ.ต.อ.โกวิทย์ ม่วงนวล อดีตผู้กำกับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (อดีต ผกก.ตม.) สมุทรสาคร และ นางสุดาทิพย์ ม่วงนวล สองสามีภรรยา ถูกแจ้งข้อหาร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ พ.ศ.2484 มาตรา 54 และ 55 และร่วมกันปลูกสร้างอาคารฝายล่วงล้ำในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำหรือทะเลสาบที่ประชาชนใช้ร่วมกันโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 และ 183 ซึ่งนางสุดาทิพย์ได้เข้ามอบตัวเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ทั้งสองได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว
นอกจากนั้นยังมีพลเรือนอีก 4 คนที่ร่วมกระทำความผิดและถูกกล่าวหาในคราวเดียวกัน ประกอบด้วย นายชอบ ชินนะประภา และ นางปิยพรรณ ชินนะประภา สองคนนี้ถูกแจ้งข้อหาร่วมกันฟอกเงิน เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าทั้งสองเป็นผู้ถือครองทรัพย์สินแทน (นอมินี) พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์
ขณะที่ นายเริงศักดิ์ ศักดิ์ณรงค์เดช และนางสวงค์ มุ่งเที่ยง ยังไม่ทราบความสัมพันธ์ที่แน่ชัดว่าเกี่ยวข้องอะไรกับกลุ่มของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ได้ถูกแจ้งข้อหาร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 19 และ 47 โดยนางสวงค์ ถูกตำรวจนำตัวไปผัดฟ้องฝากขังต่อศาลแล้ว ส่วน นายเริงศักดิ์ เพิ่งถูกจับกุมได้ที่ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 24 พ.ย.
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเอกสารการแถลงข่าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการแถลงชี้แจงของกลางที่ตำรวจยึดได้จากกลุ่มผู้ต้องหาทั้งหมดเมื่อวานนี้ (25 พ.ย.) ระบุว่า นายตำรวจทั้งหมด และนางสวงค์ เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 22 พ.ย.เวลาประมาณ 20.00 น.เศษ หลังจากการควบคุมตัวของทหารภายใต้กฎอัยการศึก
ทั้งหมดคงพอฉายภาพให้เห็นที่มาที่ไป และเป็นที่คาดหมายกันว่าหลังจากนี้กลุ่มอดีตนายตำรวจระดับสูงสังกัด บช.ก.จะไม่ได้เผชิญเฉพาะข้อหาร้ายแรงในทางอาญาเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายอีกหลายระลอก ทั้งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงโดยจเรตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งเตรียมแยกคดีทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนต่อ
รวมทั้งถูกยึดทรัพย์ตามกฎหมายฟอกเงินด้วย!
ที่สำคัญหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าหลังจากนี้น่าจะมี "อาฟเตอร์ช็อค" ตามมาอีกหลายระลอก เพราะจากการตรวจค้นบ้านชนิดต้องนำรถแบ็คโฮเข้าไปทุบทลายกำแพงเพื่อเจาะตู้เซฟขนาดยักษ์ (ตามภาพที่ถูกนำมาแถลงข่าว) ย่อมพบหลักฐานเชื่อมโยงบุคคลอื่นอีกจำนวนมาก
และไม่ว่าบทสรุปของคดีนี้จะลงเอยอย่างไร ย่อมกลายเป็น "มหากาพย์" บทหนึ่งแห่งวงการสีกากีไทยอย่างแน่นอน!