ปิดบัญชีจำนำข้าวขาดทุน7แสนล. แจงพบสต็อกข้าวดีแค่2.9ล้านตัน

ปิดบัญชีจำนำข้าวขาดทุน7แสนล. แจงพบสต็อกข้าวดีแค่2.9ล้านตัน

"อนุกรรมการ"ปิดบัญชีจำนำข้าว รอบปีบัญชี 2557 เผยผลขาดทุน 15 โครงการนับจากปี 2547 จำนวนประมาณ 7 แสนล้านบาท

 เพิ่มจากการปิดบัญชีงวดกลางปี 2557 จำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นผลขาดทุนใน 4 โครงการรัฐบาลยิ่งลักษณ์จำนวน 5.36 แสนล้านบาท ขณะข้าวในสต็อกที่เหลืออยู่ 17.5 ล้านตัน พบเป็นข้าวที่คุณภาพดีเพียง 2.9 ล้านตัน


นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการปี 2547 จนถึงสิ้นเดือนก.ย.2557จำนวน 15 โครงการ ข้อสรุปเบื้องต้นว่า การดำเนินโครงการในช่วงเวลาดังกล่าว มีผลขาดทุนจำนวนประมาณ 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท จากที่ดำเนินการปิดบัญชีในช่วงเดือนพ.ค.2557


"เหตุที่บอกว่า เป็นผลการปิดบัญชีเบื้องต้น เพราะยังมีตัวเลขการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ที่ยังมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อย โดยที่ประชุมมอบให้กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ และ องค์การคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ไปสรุปยอดระบายข้าวที่ชัดเจนและให้กลับมารายงานคณะอนุกรรมการฯเพื่อสรุปผลขาดทุนให้ชัดเจน และรายงานต่อนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า" นายรังสรรค์ กล่าว


ขาดทุนข้าวสมัยยิ่งลักษณ์4โครงการ
ทั้งนี้ ในจำนวนผลขาดทุนดังกล่าว เป็นผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ดำเนินโครงการจำนวน 4 โครงการ คิดเป็นผลขาดทุนจำนวนประมาณ 5.36 แสนล้านบาท


นายรังสรรค์ กล่าวต่อว่า การคำนวณผลการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้นำผลการตรวจนับสต็อก ซึ่งรวมถึงคุณภาพข้าวในโกดังของรัฐบาลในชุดคณะกรรมการที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการตรวจนับแล้ว ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ทำการคัดเกรดข้าวในสต็อกที่เป็นประโยชน์ต่อการคำนวณผลการดำเนินโครงการเป็นอย่างมาก


ยอดคงเหลือข้าวในสต็อก17.5ล้านตัน
ปัจจุบันยอดคงเหลือข้าวในสต็อกโกดังของรัฐบาลมีจำนวน 17.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าทางบัญชีประมาณ 2.3 แสนล้านบาท โดยราคาที่นำมาคำนวณ เป็นราคาที่สูงกว่าราคา ณ ปิดบัญชีงวดกลางปี 2557 ประมาณ 2 พันบาทต่อตัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ผลขาดทุนเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะราคาข้าวที่ขายออกไปนั้น สูงขึ้นจากช่วงปิดบัญชีครั้งก่อน


สำหรับจำนวนสต็อกข้าวในโกดังที่คงเหลือ 17.5 ล้านตันดังกล่าว ทางคณะกรรมการที่ตรวจนับรายงานว่า มีข้าวที่ผ่านเกณฑ์หรือคุณภาพยังดีอยู่เพียง 2.9 ล้านตัน ส่วนที่เหลือเป็นข้าวที่คุณภาพต่ำและไม่ตรงชนิด ที่เคยรายงานไว้ นอกจากนี้ ยังมีสต็อกข้าวที่ไม่สามารถตรวจนับได้ หรือที่เรียกว่า ข้าวกองล้ม เช่น กระสอบแตกเสียหาย มีจำนวนประมาณ 4.25 แสนตัน ซึ่งในทางบัญชีถือว่า ยังเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี


"ส่วนข้าวที่คุณภาพแย่หรือข้าวเน่านั้น ประเมินว่า มีอยู่จำนวนประมาณ 8 แสนตัน ในส่วนนี้ จะได้มีการพิจารณาว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับข้าวดังกล่าว"นายรังสรรค์ กล่าว


ระบุชำระหนี้เงินกู้ยังเดินหน้าต่อ
สำหรับผลการปิดบัญชีครั้งต่อไป จะเป็นการปิดบัญชีรอบปีบัญชี 2558 ส่วนการชำระบัญชี จะเริ่มได้ต่อเมื่อรัฐบาลสามารถขายข้าวในสต็อกได้หมด ซึ่งยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ ส่วนการชำระหนี้เงินกู้โครงการก็ยังคงเดินหน้าต่อไป


ด้านการพิจารณาเรียกค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าวตามการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช.นั้น ขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ใครคือผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าว โดยอาจต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา เพื่อให้ชัดเจน จากนั้น จึงจะเริ่มกระบวนการเรียกความเสียหาย หากท้ายสุดไม่สามารถเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำผิดได้ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องศาลในคดีแพ่ง


ถกเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวสป.หน้า
ขณะที่นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าติดตามความเสียหายจากโครงการจำนำข้าว ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (24 ก.พ.) ว่า ไม่ได้สอบถามเรื่องนี้ แต่ตนได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า กระทรวงการคลัง ขอเวลาพิจารณาให้เกิดความชัดเจนและจะหารือร่วมกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า


เขาย้ำว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว แต่เรื่องนี้เป็นไปตามกระบวนการความรับผิดทางแพ่ง ก็ต้องเริ่มจากไล่สอบข้อเท็จจริงจากความรับผิดทางละเมิดก่อน ซึ่งต้องใช้เวลา


ขณะนี้ กำลังพิจารณาเรื่องทางเทคนิค เพราะมีผู้ที่ร่วมถูกกล่าวว่ากระทำความผิดหลายคน จึงต้องพิจารณาว่า ใครจะเป็นคนแต่งตั้งคณะกรรมการ และจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอย่างไร กระบวนการตรวจสอบจะมีวิธีการอย่างไร ความเสียหายจะพิจารณาจากอะไรบ้าง และจะเรียกร้องความเสียหายอย่างไร จากใคร
ชี้หากพบผิดเดินหน้าฟ้องแพ่งทันที


"เรื่องแบบนี้จะรีบไม่ได้ กระทรวงการคลัง จะไปไล่ตามการกระทำผิดกับเงินหลวง ใครผิดจริง ผิดมากหรือน้อย ตั้งคณะกรรมการมาดูข้อเท็จจริง เพื่อให้ความยุติธรรม หากพบว่า มีความผิดจริง กระทรวงการคลังจะไปเรียกเงินจากผู้กระทำ และหากผู้กระทำผิดไม่ชดใช้ค่าเสียหาย ทางกระทรวงการคลังจะดำเนินการฟ้องเพ่งต่อไป"
ส่วนมูลค่าที่จะเรียกความเสียหายที่เกิดขึ้น เขากล่าวว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าว ต้องพิจารณาจากทีมของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าว ที่มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานและอีกส่วนหนึ่ง คือ ความเสียหายที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ตรวจสอบ


"เรื่องการขาดทุนจำนำข้าว ต้องรอคณะกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าว สรุปผลปิดบัญชีให้เสร็จสิ้นก่อน และมองว่า ผลขาดทุนจำนำข้าวกับความเสียหายจำนำข้าว จะไม่เท่ากัน ซึ่งความเสียหายจำนำข้าวจะมากกว่าก็ได้"