'ครูหยุย'แนะรัฐผ่าโครงสร้างศธ.ก่อนเดินหน้าปฏิรูป
“ครูหยุย”ระบุปฏิรูปการศึกษามากว่า 20 ปีไม่เคยสำเร็จ แนะต้องรื้อโครงสร้างกระทรวงศึกษาฯ ก่อน
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ครูหยุย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเลขาธิการ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า เนื้อหาการปฏิรูปการศึกษา ที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ไม่แตกต่างอะไรจากเดิมมากนัก เพราะสิ่งที่เขียนไว้ก็เป็นแนวคิดเดิมๆ ที่เคยกล่าวถึงจากคนวงการศึกษามากว่า 20 ปี เช่น การให้เด็กเป็นศูนย์การของการเรียนรู้ เป็นประโยคที่ได้ยินกันมานาน และที่สำคัญ การนำไปปฏิบัติ ไม่เป็นไปตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ
รัฐมนตรีแต่คนที่เข้ามาดูแลกระทรวง ต่างก็มีนโยบายเป็นของตัวเอง ไม่เคยสนใจว่าเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าอย่างไร ความต่อเนื่องของนโยบายการศึกษาจึงไม่เกิดขึ้น แต่รัฐธรรมนูญ ฉบับที่เพิ่มผ่านการออกเสียงประชามติ มีการเขียนล็อคเอาไว้ว่า รัฐบาลที่เข้ามา ไม่ว่าจะพรรคการเมืองใดก็ตาม จะต้องปฏิบัติตามกรอบการพัฒนา แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปที่วางไว้
“เนื้อหาการปฏิรูปไม่ได้นำพาให้การศึกษาของประเทศไปสู่สิ่งใหม่ แต่ผมว่า น่าจะดีขึ้นคือการบังคับรัฐบาลต้องปฏิบัติตาม”
ครูหยุย มองว่า ต่อจากนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ คือการปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลจะกล้าหรือไม่ จะทำอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก หากคิดว่าต้องการปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ ด้วยโครงการสร้างของกระทรวงนี้ มีลักษณะเหมือนเมืองแตก ผลมาจากการปฏิรูปประเทศครั้งก่อนที่กระจายออกไปสู่ท้องถิ่น กลับกลายเป็นการกระจายอำนาจที่หนักไปในทางโยกย้าย เลื่อนขั้น หรือให้ความดีความชอบกับพวกพ้อง
การปรับโครงสร้างกระทรวง ด้วยการบังคับใช้ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ถือของรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง โดยรัฐบาล คสช.สามารถใช้ มาตรา 44 จัดการเขตพื้นที่การศึกษา ยกศึกษาธิการจังหวัดขึ้นมา แล้วยกข้าราชการส่วนอื่นให้เข้ามาเป็นองค์ประกอบ ทำให้แก้ปัญหาการวิ่งเต้น โยกย้ายตำแหน่งในพื้นที่จังหวัดได้ระดับหนึ่งแล้ว
ส่วนอิทธิพลในเขตพื้นที่ของคณะผู้บริหาร กรรมการโรงเรียนต่างๆ ที่มีผลเสียต่อการศึกษา เช่น การฝากเด็กเข้าโรงเรียน ก็เป็นปัญหาที่แก้ไขไปได้เปราะหนึ่ง และสุดท้าย คือกลไลที่เป็นองค์ประกอบของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น สหกรณ์ครู คุรุสภา เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้มีปมปัญหาการคอร์รัปชั่นที่ต้องผ่าตัดกันยกใหญ่ แต่มีหน่วยงานอยู่กลุ่มหนึ่งที่เงื้อมือมานาน คือ ฝ่ายบริหาร 5 แท่งของกระทรวงที่ยังไม่มีใครกล้า ทำให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ไร้ซึ่งอำนาจ และไม่สามารถเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับแท่งอื่นๆ เลย เพราะมีระดับเทียบเท่ากับอธิบดีกรมต่างๆ
เสียดายที่ยังไม่มีการแก้ไข เนื่องจากประเทศไทย มีข้าราชการเป็นภาคส่วนที่ใหญ่สุด ถ้าไม่ทำช่วงนี้แล้วจะไปทำช่วงไหนได้อีก ก็หวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯรัฐมนตรี จะกล้า เพราะไม่เช่นนั้น การปฏิรูปการศึกษาต่อจากนี้ คงเป็นเรื่องยาก
“เมื่อเราไม่ปรับองคาพยพ หากประเทศมีเป้าหมาย นำพาทุกคนวิ่งให้ได้ 100 ก.ม.หากคนพาวิ่งไม่มีแรง แล้วเราจะวิ่งไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร”