เปิดคำพิพากษาอุทธรณ์แก้สั่งปรับ 5 แสน ทัวร์ศูนย์เหรียญจากเดิมยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ สั่งปรับ "3 กก.ผจก.ฝูอันฯ" ผิด พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยว ส่วนบริษัทไทยกลุ่มโอเอ ยืนยกฟ้อง 10 ราย
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 15 พ.ย.61 ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ คดีหมายเลขดำ ฟย.46/2559 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 3 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสมเกียรติ คงเจริญ อายุ 59 ปี กก.ผจก.บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด , นางธวัล แจ่มโชคชัย อายุ 61 ปี กก.ผจก.ฝูอันฯ , บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด , นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี อายุ 28 ปี กก.ผจก บจก.โอเอฯ , บริษัท รอยัลเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ไทยเฮิร์บ จำกัด, บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด, บริษัท รอยัลพาราไดซ์ จำกัด, นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี อายุ 63 ปี กรรมการผู้จัดการทั้งสี่บริษัท ซึ่งเป็นมารดาของนายวสุรัตน์ , นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี อายุ 62 ปี สามีของนางนิสา, บริษัท บ้านขนมทองทิพย์ จำกัด,
น.ส.สายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสิ อายุ 37 ปี กรรมการผู้มีอำนาจ บจก.บ้านขนมทองทิพย์ซึ่งเป็นบุตรของนายธงชัย และนายวินิจ จันทรมณี อายุ 71 ปี ผจก.ฝูอันฯ เป็นจำเลยที่ 1-13 ฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคแรก, พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 และร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 ต.ค.59 ระบุพฤติการณ์สรุป เมื่อที่ 24 มี.ค. - 31 ส.ค.59 บริษัทนำนักท่องเที่ยว จากประเทศจีนเข้ามาโดยไม่มีค่าบริการ (ทัวร์ศูนย์เหรียญ) และกำหนดแผนการเดินทางให้มัคคุเทศก์และผู้ขับขี่นำรถไปจอด ให้นักท่องเที่ยวแวะซื้อสินค้าจากร้านในเครือเดียวกับ บจก.โอเอ ฯ ซึ่งสินค้าภายในร้านมีราคาแพงกว่าท้องตลาดหลายเท่า แสดงฉลากไม่ถูกต้อง
โดย บจก.โอเอฯ แบ่งปันผลประโยชน์ให้บริษัททัวร์ 30-40% ให้มัคคุเทศก์ 3-5% ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำ ลักษณะปกปิดวิธีการอันมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินของนักท่องเที่ยวศูนย์เหรียญชาวจีน รวมมูลค่าความเสียหาย 98 ล้านบาทเศษ จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขณะที่"ศาลชั้นต้น" ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ส.ค.60 ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 13 คน เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมา ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลงโทษพวกจำเลยตามฟ้อง โดยอัยการโจทก์ ยื่นอุทธรณ์ "ศาลอุทธรณ์" ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือเเล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นายสมเกียรติ จำเลยที่ 1 เป็น กก.ผจก.บ.ซินหยวน ทราเวล จก. , นางธวัล จำเบยที่ 2 เป็นกก.ผจก.บ.ฝูอันฯ ต่อมาบริษัททั้งสองแห่งได้ถูกนายทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียน ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวเเละมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 ที่ว่าผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องไม่กระทำให้เกิดความเสียหายเเก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เเละต้องปฏบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดมาตรา 12(3) ที่ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจัดบริการ หาประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมด้วยการนำนักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้าจากร้านค้าโดยทราบว่าสินค้านั้นราคาสูงผิดปกติ หรือหลอกลวงเพื่อได้รับส่วนเเบ่งรายได้
คดีจึงปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งหมดกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งโจทก์ อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3-12 ร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยว โดยร่วมกับจำเลยที่ 1,2 เเละ13 ประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเป็นความผิดตามฟ้อง ซึ่งโจทก์ มีพยานที่เป็นตำรวจ หลายปาก เบิกความทำนองว่า พฤติการณ์จำเลยเป็นการร่วมกันประกอบธุรกิจการนำเที่ยวโดยเเบ่งผลประโยชน์กันในกลุ่ม เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นความผิดตามฟ้อง "ศาลอุทธรณ์" เห็นว่าจุดเริ่มต้นคดีมาจากรัฐบาลมีนโยบายดูเเลการท่องเที่ยวเนื่องจากเกิดปัญหาจึงมีการตรวจสอบดำเนินคดีพยานหลักฐานโจทก์จึงเป็นการรวบรวมข้อมูลที่ได้จากตำรวจที่เกี่ยวข้องเเละพนักงานสอบสวนนำมาประมวลเป็นความเห็นเเละกล่าวหาตามฟ้อง
ขณะที่พยานโจทก์ปากอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว , รองผู้ว่าการการเที่ยวเเห่งประเทศไทย เเละข้าราชการกรมท่องเที่ยว ทั้งหมด มาเบิกความแต่มีข้อเท็จจริงเเตกต่างไปจากพยานโจทก์ชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งทำหน้าที่กล่าวหา โดยพยานเหล่านี้เบิกความถึงทัวร์ศูนย์เหรียญว่า เป็นลักษณะของการประกอบธุรกิจหรือกลยุทธ์การตลาดที่บริษัทนำเที่ยวต่างประเทศไม่ได้โอนเงินมาให้บริษัทนำเที่ยวในไทย แต่บริษัทนำเที่ยวไทยจะมีรายได้จากการเจรจาตกลงหรือจัดทัวร์กับนักท่องเที่ยวเอง และจำเลยที่ 3-12 ไม่ได้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว เพียงเเต่ให้เช่ารถนำเที่ยวหับบริษัทนำเที่ยว กับทำธุรกิจด้านจำหน่ายอาหาร-สินค้าเท่านั้น ซึ่งไม่เคยมีนักท่องเที่ยวหรือการร้องเรียนว่าประกอบธุรกิจท่องเที่ยวเอารัดเอาเปรียบไม่เป็นธรรมเเต่อย่างใด
ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบเเล้วพยานโจทก์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกรณีนี้โดยตรงเเละมาจากต่างหน่วยงาน ได้ยืนยันข้อเท็จจริงเเตกต่างจากฝ่ายพยานชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นผู้รวบรวมหลักฐาน พยานในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงน่าเชื่อถือกว่า ซึ่งพยานยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3-12 ร่วมกับจำเลยที่ 1,2 เเละ 13 ประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่โจทก์ฟ้อง อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนความผิดฐานอั้งยี่เเละฟอกเงินนั้น "ศาลอุทธรณ์" เห็นว่า เมื่อพยานโจทก์ที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยนั้นเป็นความผิดฐานร่วมประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นเมื่อโจทก์กล่าวหาจำเลยในความผิดอั้งยี่เเละฟอกเงินโจทก์ก็ต้องนำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์ข้อเท็จจริงการกระทำของจำเลย แต่เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์กล่าวอ้างโดยเน้นหนักที่เป็นลักษณะทัวร์ศูนย์เหรียญนั้น ก็มีเพียงพยานที่เป็นข้าราชการมีหน้าที่โดยตรงเบิกความให้ข้อเท็จจริงว่า ทัวร์ศูนย์เหรียญเป็นคำเรียกขาน มีการดำเนินการโดยบริษัทนำเที่ยวหลายบริษัท การกระทำเป็นกลยุทธ์ แต่พยานหลักฐานอื่นๆ ของโจทก์ก็ไม่ปรากฎว่าการกระทำของจำเลยทั้งหมดกระทำการอื่นใดในลักษณะเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการอันมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานอั้งยี่ ที่อ้างว่ามีการข่มเหงรังเเก กลั่นเเกล้งนักท่องเที่ยวนั้น ก็ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน
ส่วนการกระทำลักษณะผูกขาดการจำหน่ายสินค้าเเพง กำหนดเงื่อนไขเป็นการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวเกิดผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวผลประโยชน์ของประเทศชาตินั้นกรณีเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่การกระทำผิดถึงขั้นผิดฐานอั้งยี่กรณีจึงยังไม่มีมูลฐานอันจะเป็นความผิดฐานฟอกเงินด้วย อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน สุดท้ายที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1,2 เเละ13 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวเเละมัคคุเทศก์พ.ศ.2551 มาตรา 24 กรณีประกอบธุรกิจนำเที่ยวลักษณะก่อให้เกิดความเสียหายเเก่อุตสหกรรมท่องเที่ยว เเหล่งท่องเที่ยวหรือนักท่องเที่ยวนั้น พฤติการณ์เเห่งคดีปรากฎว่า จำเลยที่ 1,2 เเละ 13 ร่วมกันนำนักท่องเที่ยวเข้ามาจัดนำเที่ยวลักษณะเดินทางตามรายการท่องเที่ยวเเละซื้อสินค้าจากเเหล่งต่างๆ ที่ระบุเป็นการเฉพาะหรือเครือข่ายตนเอง ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่า นักท่องเที่ยวต้องซื้อสินค้าราคาสูงกว่าปกติมากในลักษณะที่ผู้ขายเอาเปรียบเกินควร มุ่งประโยชน์ในการนำนักท่องเที่ยวเข้ามาลักษณะทัวร์ต้นทุนต่ำ ทำให้ต้องมีการดำเนินการเพื่อให้ได้ผลกำไรคุ้มทุนเป็นผลในด้านการเอาเปรียบนักท่องเที่ยวเกิดความไม่สะดวกในการท่องเที่ยว
อีกทั้งยังไม่ได้รับความประทับใจ เกิดภาพพจน์ความรู้สึกไม่ดีต่อการท่องเที่ยวในไทย ส่งความเสียหายเเก่อุคสาหกรรมการท่องเที่ยวทำให้เกิดความเสียหายเเก่ชาติ พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1,2 เเละ 13 นี้ จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวเเละมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 มาตรา 24 , 82 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ที่ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 13 คนนั้น "ศาลอุทธรณ์" ไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับนายสมเกียรติ คงเจริญ อายุ 59 ปี , นางธวัล แจ่มโชคชัย อายุ 61 ปี ทั้งสองเป็น กก.ผจก.ฝูอันฯ จำเลยที่ 1,2 เเละนายวินิจ จันทรมณี อายุ 71 ปี ผจก.ฝูอันฯ จำเลยที่ 13 คนละ 500,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับก็ให้กักขังเเทนค่าปรับให้กักขังเเต่ได้ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่เเก้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนยกฟ้องจำเลยกลุ่มบริษัทโอเอฯ แล้วพ่อลูกตระกูลโรจน์รุ่งรังสี "นายธงชัย" อายุ 62 ปี "นายวสุรัตน์" อายุ 28 ปี กก.ผจก บจก.โอเอฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณศาลในวันนี้ยังไม่ขอพูดอะไรมาก ขอให้เรื่องมันจบไปก่อน ส่วนจะมีการเเถลงข่าวหรือไม่ขอตัดสินใจอีกครั้ง