20 ปีพัฒนาการโทษ “ยุบพรรค” อาวุธประหัตประหารทางการเมือง
สัปดาห์ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวทางการเมืองว่าด้วยเรื่องการยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติได้แย่งชิงพื้นที่ข่าว ความสนใจเกือบทั้งหมดของผู้คนในสังคม
จริงๆ แล้วการ “ยุบพรรค” เป็นโทษทางการเมืองแบบหนึ่ง ซึ่งมีพัฒนาการในรอบ 20 ปีมานี้ จนกลายเป็นอาวุธอันทรงพลังที่ใช้ประหัตประหารคู่ต่อสู้ในสมรภูมิการเมืองไทย
ย้อนกลับไปก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 สมัยที่การเลือกตั้งและการกำกับดูแลพรรคการเมืองยังเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย โทษยุบพรรคต้องบอกว่าเป็นเรื่องชิลล์ๆ ทางการเมือง แทบไม่มีผลอะไรมากมาย โดนยุบได้ก็ตั้งใหม่ได้ ถ้าห้ามใช้ชื่อเดิม ก็หาชื่อใหม่คล้ายๆ เดิม และไม่มีการ “พ่วงโทษ” ตัดสิทธิทางการเมืองกับกรรมการบริหารพรรค
กระทั่งมีรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการกำหนดให้ กกต.เป็นองค์กรอิสระจัดการเลือกตั้งและกำกับดูแลกิจการของพรรคการเมือง โดยมีมาตรการควบคุมพรรคการเมืองมากขึ้น แต่โทษยุบพรรคก็ไม่ได้ร้ายแรง เช่น กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ก็มีโทษยุบพรรค แต่ไม่ได้ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค
โทษ “ยุบพรรค” ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธประหัตประหารทางการเมืองในปี 2549 เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ยื่นยุบพรรคไทยรักไทย ในข้อหาจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง
ต่อมามีการรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทย คณะรัฐประหารได้ออกคำสั่ง (ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ ประกาศ คปค.ฉบับที่ 27) เพิ่มโทษยุบพรรค ให้ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดด้วย
ทำให้เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกยุบเมื่อเดือน พ.ค.2550 ได้มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 111 คน (บ้านเลขที่ 111) ถือเป็นคดียุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองครั้งมโหฬารที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ต่อมาในรัฐธรรมนูญปี 2550 มีการเขียนในรัฐธรรมนูญมาตรา 237 วรรค 2 เลยว่า ถ้ากรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกตั้งเสียเอง หรือรู้เห็นให้สมาชิกพรรคทุจริต พูดง่ายๆ คือ “โดนใบแดง” พรรคจะต้องถูกยุบ และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดด้วย
มาตรา 237 นี้ แผลงฤทธิ์เมื่อปี 2551 มีการยื่นยุบพรรค 3 พรรค คือ พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังประชาชน (พรรคใหม่ของไทยรักไทยหลังจากถูกยุบไปเมื่อปี 2550) ปรากฏว่าทั้งสามพรรคโดนสั่งยุบทั้งหมด และเพิกถอนสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทุกคน ไม่ต่างจากโทษประหารทางการเมือง ทำให้ต่อมามีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237
กระทั่งในรัฐธรรมนูญปี 2560 และกฎหมายพรรคการเมืองซึ่งเป็นกฎหมายลูก ก็ยังคงบัญญัติเรื่องการยุบพรรคไว้ในเงื่อนไขคล้ายๆ เดิม แม้จะไม่มีเรื่องกรรมการบริหารพรรคโดนใบแดงแล้วต้องถูกยุบพรรคเหมือนมาตรา 237 แต่ที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ หากโดนยุบพรรคเมื่อไร ต้องเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทุกคน ซึ่งการเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง แรงกว่าเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเฉยๆ ที่สำคัญคือไม่กำหนดเวลา
นั่นก็หมายความโดนตลอดชีวิต เรียกว่า “ใบดำ” ซึ่งผู้ที่โดนใบดำ จะห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง ตลอดจนตำแหน่งในองค์กรอิสระทุกองค์กรตลอดไป
นี่คือโทษยุบพรรคในยุคดิจิทัล ปี 62 ซึ่งมีแนวโน้มว่าพรรคไทยรักษาชาติและบรรดาแกนนำทั้งหลาย จะประเดิมโดนโทษประหารนี้เป็นพรรคแรก
ปกติ ในประเทศประชาธิปไตยจะสนับสนุนให้พรรคการเมือง “ตั้งง่าย ยุบยาก” เพราะพรรคการเมืองคือรากฐานของการสร้างประชาธิปไตย แต่เมืองไทยดูจะกลับกัน คือ ตั้งพรรคยาก แต่การยุบพรรคทำได้ง่ายดาย และกลายเป็นอาวุธประหัตประหารทางการเมืองของบางฝ่ายไปโดยปริยาย