'ชาติชาย' ชี้ 'อดีตกก.บห.ทษช.' หาเสียง-ทำกิจกรรมการเมืองได้
"ชาติชาย" ชี้ "อดีตกก.บห.ทษช." หาเสียง-ทำกิจกรรมการเมืองได้ แต่ห้ามรณรงค์โหวตโน ชี้ขัดกม.เลือกตั้งประเมินคำวินิจฉัยไม่กระทบเชื่อมั่นเลือกตั้ง 24 มี.ค.
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ว่า ประเด็นระยะเวลาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสามารถใช้ดุลยพินิจพิจารณาได้ แม้ในรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่กำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และเข้าใจได้ว่าคือการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ทั้งนี้ตนไม่ติดใจเนื่องจากฟังรายละเอียดคำวินิจฉัยซึ่งยกเหตุผลและคำอธิบายว่าพฤติกรรมเสนอชื่อบุคคลที่มีตำแหน่งในสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯหลังเลือกตั้งไม่ส่งผลร้ายแรง
นายชาติชาย กล่าวด้วยว่าสำหรับข้อห้ามอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ตัดสิทธิจัดตั้งพรรคใหม่ , เป็นกรรมการบริหารพรรค และ ร่วมจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่นั้น ตามกฎหมายนักการเมืองของพรรคไทยรักษาชาติ สามารถใช้สิทธิฐานะนักการเมือง เพื่อแสดงความเห็น ทำกิจกรรมและรณรงค์ทางการเมืองได้ แต่ต้องไม่ใช่การกระทำที่ขัดหรือผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง เช่น รณรงค์ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ออกเสียงไม่ประสงค์จะลงคะแนน (โหวตโน) เพราะเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา73 ที่ห้ามผู้สมัครหรือผู้ใดจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ผู้สมัครอื่น หรือ ให้ลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส.
"คนของพรรคไทยรักษาชาติ คงมีวิธีบอกให้ประชาชนซึ่งเป็นฐานเสียงให้เลือกพรรคการเมืองอื่นแทน หลังจากที่ไทยรักษาชาติถูกยุบ โดยสามารถทำได้ แต่ไม่สามารถประท้วงได้ เพราะตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ และวินิจฉัยครอบคลุมตามหลักนิติศาสตร์ มีเหตุและผล ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีม็อบหลังจากนี้นั้น ผมไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น" นายชาติชาย กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงสถานการณ์การเมืองและบรรยากาศเลือกตั้งหลังยุบพรรคไทยรักษาชาติ นายชาติชาย ประเมินว่า ไม่มีประเด็นที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม หรือทำให้การเลือกตั้งไม่ถูกยอมรับ เนื่องจากพฤติกรรมของคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติกรณีเสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังการเลือกตั้ง ตามคำวินิจฉัยขอศาลรัฐธรรมนูญมีเหตุและผลตามพฤติกรรมของคณะกรรมการบริหารพรรค รวมถึงก่อนหน้านั้นมีพระบรมราชโองการด้วย
"ผมว่าไม่มีน้ำหนักที่จะใครจะอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำลายความเชื่อมั่นของการเลือกตั้ง ยกเว้นจะมีกระบวนการเป่าหูตามที่ต่างๆ แต่ไม่น่าเป็นประเด็นใหญ่ ส่วนการเลือกตั้งจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ ผมมองว่าจะมีปัจจัยอื่นต้องพิจารณา เช่น กระบวนการนับคะแนน การตรวจสอบว่าโกงเลือกตั้งหรือไมม่ หรือเจ้าหน้าที่ไม่เป็นกลาง ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่" นายชาติชาย กล่าว.