รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (3) กำหนดลักษณะต้องห้ามการสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ซึ่งก็ถูกโยงไปเป็นลักษณะต้องห้ามของการเป็นส.ว.และรัฐมนตรีด้วยตามมาตรา 108 และ 160 คือ “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ"
ประเด็นปัญหาเกิดขึ้นกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อปรากฎว่า มีการแจ้งการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นใน บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นกิจการผลิตนิตยสาร ที่เขาและนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา เคยถือหุ้นรวมกัน 900,000 หุ้น ไปให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเป็นมารดา ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 ซึ่งเป็นวันหลังวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2562 จึงเกิดคำถามว่าจะเข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด เจ้าของเจ้าของนิตยสาร WHO (หยุดตีพิมพ์15 ต.ค.2559) และ นิตยสาร JibJib ที่แจกบนสายการบินนกแอร์ เปลี่ยนชื่อมาจากบริษัทโซลิด มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2555 หรือ 5 ปีให้หลังจัดตั้งบริษัท จำนวนหุ้นจดะทเบียน 4,500,000 หุ้น ถือหุ้นใหญ่โดยนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ จำนวน 3,375,000 หุ้น
ต่อมาวันที่ 12 ม.ค. 2558 นายธนาธร-รวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ปรากฎชื่อเป็นผู้ถือหุ้น วี-ลัค มีเดีย ครั้งแรก โดยนายธนาธร ถือ 675,000 หุ้น และ นางรวิพรรณ ถือ 225,000 หุ้น พร้อมๆกับการที่นางสมพร ลดจำนวนการหุ้นเหลือเพียง 675,000 หุ้น ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2558
เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2562 วี-ลัค มีเดีย ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นที่สนามไดร์ฟกอล์ฟเบอร์ดี้ และได้แจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ว่า มีกรรมการ/ผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม 10 คน และต่อมาวันที่ 21 มี.ค.2562 นางสมพร ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น(บอจ.5) บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งคัดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร
สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ระบุรายละเอียด จำหนวนหุ้นจดทะเบียน 4,500,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท ผู้ถือหุ้นลำดับที่ 1 นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ จำนวนที่ถือทั้งหมด 6 รายการ รวม 2,250,000 หุ้น ประกอบด้วย รายการที่ 1เลขหมายหุ้นที่ 0000001-0675000 จำนวน 675,000 หุ้น ลงวันที่ 8 ม.ค.2551 และ วันลงทะเบียนผู้ถือหุ้น 12 ม.ค.2558
รายการที่ 2 เลขหมายหุ้นที่ 13500001-2025000 จำนวน 675,000 หุ้น ลงวันที่ 21 มี.ค.2562 และ วันลงทะเบียนผู้ถือหุ้น 21 มี.ค.2562 (ธนาธร ชี้แจงว่าขายให้มารดา)
รายการที่ 3 เลขหมายหุ้นที่ 2925001-3150000 จำนวน 225,000 หุ้น ลงวันที่ 21 มี.ค.2562 และ วันลงทะเบียนผู้ถือหุ้น 21 มี.ค.2562 (รับโอนจาก นายณรงค์ศักดิ์ โอปีสันธน์)
รายการที่ 4 เลขหมายหุ้นที่ 3625001-3670000,4075001-4120000,4187501-4232500 จำนวน 225,000 หุ้น ลงวันที่ 21 มี.ค.2562 และ วันลงทะเบียนผู้ถือหุ้น 21 มี.ค.2562 (รับโอนจาก นายอรัญ วงศ์งามกิจ)
รายการที่ 5 เลขหมายหุ้นที่ 5175001-5220000,5445001-5490000,5220001-5445000 จำนวน 225,000 หุ้น ลงวันที่ 21 มี.ค.2562 และ วันลงทะเบียนผู้ถือหุ้น 21 มี.ค.2562(รับโอนจาก นายอรัญ วงศ์งามกิจ และ นางกมลฉัตร จึงรุ่งเรืองกิจ)
รายการที่ 6 เลขหมายหุ้นที่ 3150001-3375000 จำนวน 225,000 หุ้น ลงวันที่ 21 มี.ค.2562 และ วันลงทะเบียนผู้ถือหุ้น 21 มี.ค.2562 (รับโอนจากนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ)
ผู้ถือหุ้นลำดับที่ 2 นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ จำนวน 675,000 หุ้น ลำดับที่ 3 นางสาวรุจิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ จำนวน 675,000 หุ้น ลำดับที่ 4 นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ จำนวน 675,000 หุ้น และ ลำดับที่ 5 นาย บดินทร์ธร จึงรุ่งเรืองกิจ จำนวน 225,000 หุ้น
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ อธิบายถึงประเด็นดังกล่าวว่าและตั้งประเด็นสงสัย 9 ข้อ ได้แก่ 1.ตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทมาตรา 1129 วรรคสอง บัญญัติว่า การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ถ้ามิได้ทำเป็น เป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน และมีพยานหนึ่งคนเป็นอย่างน้อยหนึ่งคนลงชื่อรับรองลายมือชื่อนั้น เป็นโมฆะ
ทั้งนี้ในหนังสือโอนหุ้นต้องระบุหมายเลขหุ้นไว้ด้วย และในมาตรา 1129 วรรคท้าย บัญญัติว่า การโอนจะใช้ยันบริษัทและบุคคลภายนอก เมื่อบันทึกชื่อที่อยู่ของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว
2.นายธนธร ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่าได้โอนหุ้นใน วี-ลัค มีเดีย ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2562 พร้อมนำตราสารโอนหุ้น ลงวันที่ 8 ม.ค. 2562 มาแสดงด้วย
3.สำหรับสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้น แบบ บอจ.5. ที่บริษัทวี -ลัคมีเดียจำกัด จัดทำขึ้นและนำส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่สำนักข่าวอิศรานำมาเสนอเป็นข่าวนั้น เป็นเพียงสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ที่นำส่งต่อนายทะเบียน เพื่อแสดงว่าในช่วงนั้นมีใครเป็นผู้ถือหุ้น และใครพ้นจากการเป็นผู้ถือหุ้น ไม่ใช่การจดทะเบียนผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียน เพราะการโอนหุ้นไม่ต้องจดทะเบียน
4.เมื่อมีตราสารการโอนหุ้น ลงวันที่ 8 ม.ค.2562 โดยมีผู้โอนและผู้รับโอนลงลายมือชื่อ มีพยานลงลายมือชื่อรับรอง และในตราสารการโอนหุ้นก็ได้ระบุหมายเลขหุ้นที่โอนไว้ คือหมายเลข 1350001 ถึง 2025000 ถือว่าเป็นหลักฐานที่เป็นหนังสือการโอนหุ้นที่ถูกต้องมีผลตั้งแต่ วันที่ 8 มกราคม 2562 แม้หากยังมิได้มีการจดแจ้งการโอนระบุชื่อผู้รับโอนในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ผลการโอนทางฝั่งเจ้าของหุ้นผู้โอนมีผลสมบูรณ์แล้ว
5.ในกรณีนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า เหตุใดนายธนาธร จึงไม่แถลงการโอนหุ้นในบริษัทวี-ลัคมีเดีย จำกัด เสียตั้งแต่แรก ทั้งที่การถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์เป็นของต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการทำหลักฐานหนังสือการโอนย้อนหลังหรือไม่
6. เมื่อตรวจเอกสารที่เรียกว่าตราสารการโอนหุ้นของนายธนาธร ที่ระบุว่า โอนหุ้นหมายเลข 1350001 ถึง 2025000 ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2562 แต่พิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงจากแบบบอจ.5 สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ วี-ลัค มีเดีย นำส่งต่อนายทะเบียน ซึ่งระบุว่าคัดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562
ปรากฎว่า (1) ในช่องเลขหมายของหุ้น 0000001 -0675000 ระบุว่าลงวันที่ 8 ม.ค. 2551 ซึ่งก็แสดงว่าใบหุ้นเลขหมาย 0000001 -0675000 ออกให้เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2551 บรรทัดถัดมาคือหุ้นหุ้นคือ 1350001 -2025000 ระบุว่าลงวันที่ 21 มี.ค.2562 ซึ่งก็แสดงว่าหุ้นหมายเลข 1350001-2025000 เพิ่งมีการออกเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 ดังนั้นในตราสารการโอนหุ้นที่ระบุว่ามีการโอนหุ้นเลขหมายดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562 จึงขัดต่อข้อเท็จจริง
(2) ในช่องวันลงทะเบียนผู้ถือหุ้น หุ้นเลขหมาย 0000001 -0675000 ระบุว่าลงวันที่ 12 ม.ค.2558 แสดงว่ามีการลงทะเบียนเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นในวันที่ 12 ม.ค. 2558 หุ้นหมายเลข 1350001-2025000 ระบุว่าลงวันที่ 21 มี.ค.2562 ซึ่งก็สอดรับกับวันที่ออกใบหุ้นแสดงให้เห็นว่าเพิ่งมีการลงทะเบียนเปลี่ยน แปลงการโอนหุ้นในวันที่ 21 มี.ค. 2562 และก็น่าจะบ่งชี้ได้ว่าเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นในวันที่ 21 มี.ค.2562 หากจะอ้างว่ามีการลงทะเบียนช้า โอนนานแล้ว เพิ่งมาลงทะเบียนในวันที่ 21 มี.ค. 2562 ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะเพิ่งมีการออกใบหุ้น หุ้นหมายเลข 1350001-2025000 ในวันที่ 21 มี.ค.2562 จึงเป็นไปไม่ได้ที่มีการโอนหุ้นหมายเลขดังกล่าวก่อนวันที่ 21 มี.ค.2562
7.ถึงแม้แบบ บอจ 5.เป็นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ไม่ใช่เอกสารการจดทะเบียนก็ตาม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงจากเอกสารที่บริษัท วี-ลัคมีเดีย จำกัด ทำขึ้นเองและได้ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเอง
8.ปรากฎข้อเท็จจริงที่บริษัท วี-ลัค มีเดียจำกัด ได้ยื่นจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ โดยจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้น โดยระบุว่ามีผู้ถือหุ้นเข้าประชุม 10 คน ซึ่งเดิมมีผู้ถือหุ้น 10 คน หากนายธนาธร และภรรยาขายหุ้นไปแล้วจริงก็ควรต้องเหลือผู้ถือหุ้น 8 คน
9.จากข้อเท็จจริงและหลักฐานดังกล่าวจึงน่าเชื่อได้ว่าตราสารการโอนหุ้น ลงวันที่ 8 ม.ค.2562 เป็นการทำลงวันที่ย้อนหลัง
ส่วนที่มีการแถลงว่า บริษัทวี- ลัคมีเดีย จำกัด ได้เลิกกิจการไปแล้ว การเลิกบริษัทไม่อาจกระทำได้เพียงการแถลงของบุคคลใดบุคคลหนึ่งและเป็นบุคคลที่อ้างว่า ขายหุ้นไปแล้วด้วย เพราะการเลิกบริษัทมีขั้นตอนคือต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นต้องมีมติพิเศษให้เลิกบริษัท และต้องนำความไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน แม้จดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วกฎหมายยังถือว่ายังคงอยู่เพื่อการชำระบัญชีจนกว่าจะชำระบัญชีเสร็จ และไปจดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชี