ศาลปกครอง-ศาลรธน. ห้ามใครละเมิด
คำพิพากษาศาลปกครอง-ศาลรธน.วิจารณ์ได้โดยสุจริต ห้ามละเมิดหยาบคาย ยกเหตุคำวินิจฉัยศาลรธน.มึผลผูกพันทุกองค์กร ต้องมีกฎหมายคุ้มครองตุลาการให้ปฎิบัติหน้าที่อย่างอิสระ ไม่ถูกคุกคาม
เมื่อวันที่ 10 ก.ค.62 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประจำประเทศไทยจัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง "การละเมิดอำนาจศาล : แนวคิดและการปรับใช้" โดยมีนายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานแผนกคดีละเมิดและความผิดอย่างอื่นในศาลปกครองสูงสุด นายบรรเจิด สิคะเนติ ผอ.หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เข้าร่วม
นายบรรเจิด กล่าวว่า กฎหมายได้ให้หลักอิสระองค์กรตุลาการตามอำนาจกฎหมาย ซึ่งจุดมุ่งหมายสูงสุดของการบัญญัติ ให้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเพื่อคุ้มครองอำนาจตุลาการให้ทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระในต่างประเทศได้มีการกำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้หลายประเทศเช่น เยอรมัน สเปน เกาหลีและสาธารณรัฐเช็ค ซึ่งแต่ละประเทศมีการกำหนดองค์คณะที่มีอำนาจในการพิจารณาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ขั้นตอนและวิธีการพิจารราความผิดละเมิดอำนาจศาลและบทลงโทษที่แตกต่างกัน
ด้านนายประสิทธิ์ศักดิ์ กล่าวว่า ศาลปกครองได้กำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล บนพื้นฐานของเจตนาที่ต้องการให้ การพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมไม่ได้มุ่งคุ้มครองศาลปกครอง โดยเป็นไปตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาศาลปกครอง2542 มาตรา 57 ,64,65 และระเบียบของที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุด ปี43 และกำหนดให้การประมวลกฏหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา30 มาบังคับใช้ โดยมูลละเมิดของศาลปกครองแบ่งเป็น 2กรณีคือ การละเมิดที่เกิดขึ้นภายในศาลหรือบริเวณศาล และโทษในฐานความผิดละเมิดศาลปกครอง คือ การตักเตือน โดยมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร การไล่ออกจากบริเวณศาล การลงโทษจำคุกไม่เกิน1 เดือนหรือปรับไม่เกิน5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายประสิทธิศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในพ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 38,39 ซึ่งบทลงโทษแบ่งได้ 3 กรณี คือตักเตือนโดยจะมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้ การไล่ออกจากบริเวณศาล การจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการวิจารณ์คำสั่งหรือการวินิจฉัยคดีสามารถทำได้แต่ต้องเป็นไปโดยสุจริตไม่ใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคาย เสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย
“ ผลผูกพันของคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีผลในวงกว้าง ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคู่ความในคดี แต่มีผลผูกพันกับองค์กรอื่นของรัฐด้วย ขณะที่ผลผูกพันของคำตัดสินของศาลอื่นจะมีผลผูกพันในคดีเท่านั้น ดังนั้นเจตนารมณ์ในการกำหนดบทบัญญัติดังกล่าวก็เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอิสระในการดำเนินคดีไม่ถูกข่มขู่คุกคามให้เกรงกลัว สามารถอำนวยความยุติธรรมเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงของระบบกฎหมายและการคุ้มครองหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ” นายประสิทธิศักดิ์ กล่าว
ขอบคุณภาพจาก www.constitutionalcourt.or.th