'จุรินทร์' หนีบ 2 รมต. ปชป.ลุยฟื้นเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้
“จุรินทร์” หนีบ 2 รมต. ปชป.ลุยฟื้นเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้ พบเศรษฐกิจฐานรากถือเป็นปัญหาเร่งด่วน ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาทั้งสามมิติคือ มิติด้านการลงทุน มิติด้านการท่องเที่ยวและมิติการค้าชายแดนในเขตภาคใต้ 5 จังหวัด
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการเดินทางครั้งนี้เพื่อมารับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะ การพัฒนาเศรษฐกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าเศรษฐกิจฐานรากถือเป็นปัญหาเร่งด่วน ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาทั้งสามมิติคือ มิติด้านการลงทุน มิติด้านการท่องเที่ยวและมิติการค้าชายแดนในเขตภาคใต้ 5 จังหวัด ซึ่งมีตัวเลขรวมกัน 2.3 แสนล้านบาท แต่ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขการส่งออกไปมาเลเซียติดลบ ทำให้ขาดดุลย์การค้า การที่ตัวเลขส่งออกลด สอดคล้องกับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราก็ลดลงด้วย
“การประชุมทุกฝ่ายในวันนี้เพื่อหาแนวทางในการแก้ไข ฟื้นฟูและจะต้องสร้างเศรษฐกิจฐานรากเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน ” นายจุรินทร์ กล่าว
ด้าน นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ต้องการมาร่วมรับฟังเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและแก้ไข ต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขบ้านเมือง ในส่วนของกระทรวงคมนาคม สัปดาห์ที่แล้วได้ร่วมรับฟังบรรยายสรุปจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ รัฐมนตรีช่วยอีกคน และได้กำหนดแนวทางที่กระทรวงจะร่วมพัฒนาทั้ง 4 ช่องทาง ประกอบไปด้วยการพัฒนาทางบก ในประเทศเพิ่มเส้นทางการขนส่งทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรอง ระหว่างประเทศมีแนวทางที่จะเชื่อมโยงกับ มาเลเซียและสิงคโปร์ โดยอนาคตอาจเชื่อมโยง มาเลย์ กับสิงคโปร์ ทั้งหมดนี้จะสอคคล้องกับยุทธศาสตร์ 1 belt 1 road , การพัฒนาการขนส่งทางน้ำการขนส่งทางน้ำ มีเป้าหมายเปิดประตูแห่งที่สาม สามเกตุเวย์ การขนส่งทางน้ำในภาคใต้มีความสำคัญเพราะเชื่อมโยงกับ 1 belt 1 road ที่จะเชื่อมกับ มาเลย์เซีย และจีน ,การพัฒนาการขนส่งทางรางที่สามารถเชื่อมโยงได้ทุกภูมิภาค, การพัฒนาการขนส่งทางอากาศแนวทางการขับเคลื่อน มีแผนขยายสนามบินนราธิวาส ทั้งนี้แผนการพัฒนาการขนส่งทางอากาศภายใน 10 ปี จะไม่มีการสร้างสนามบินเพิ่ม ยกเว้นการพัฒนาสนามบินที่มีอยู่แล้ว
ส่วน นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อมารับฟังปัญหา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่าน ศอบต. จากทุกภาคส่วน การพัฒนาจะใช้แนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้พี่น้องชาวใต้ ทั้งนี้กฏหมาย ศอบต. ได้กำหนดเรื่องการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะการกระจายอำนาจ อนาคตจะมีการเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษมากขึ้น จะเห็นรูปธรรมที่เกิดขึ้น จากการสร้างงาน เกิดการสร้างรายได้ให้พี่น้องประชาชนมากขึ้น นอกเหนือไปจากภาคเกษตร ต้องใช้กลไกท้องถิ่นเข้ามาแก้ปัญหาในท้องที่ โดยเฉพาะการใช้ท้องถิ่นนำสินค้าเกษตรมาใช้เพิ่มมากขึ้น เช่น ถนนยางพารา ที่ช่วยสร้างเสถียรภาพราคาให้กับยางพารา สร้างความต้องการการใช้งาน เพื่อให้ยางพารามีราคาสูงขึ้น
ทั้งนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร ผอ. ศอบต.ได้รายงานสถานการณ์ทั่วไป ชี้ให้เห็นว่าประเด็นศาสนายังเป็นเรื่องหลัก และการศึกษาที่ยังไม่ตอบโจทย์คนในพื้นที่ สถานการณ์เฉพาะในพื้นที่ในปัจจุบันยังมีการสร้างและขยายแนวร่วมเพิ่มเติม มีการสร้างความชอบธรรม หน้าที่ของ ศอบต. ต้องหยุดความเหลื่อมล้ำ สถานการณ์ในปัจจุบันถือว่า ดีขึ้นตามลำดับอย่างมีนัยสำคัญ แนวโน้มความรุนแรงแบบในอดีตมีแนวโน้มที่จะลดลง การแก้ปัญหาโดยการพัฒนา เพื่อให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือชีวิตที่ดีกว่า จะดึงคนรุ่นใหม่ให้หันมาร่วมกับภาครัฐมากขึ้น เป้าหมายคือการสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง ให้กับคนในพื้นที่