สายควันวอน 'พณ.' ฟังปชช. หาผลิตภัณฑ์เสี่ยงน้อยกว่าแทนบุหรี่
"เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า" วอน "พาณิชย์" ฟังเสียงปชช. ตามแบบอังกฤษ ประชาพิจารณ์ทุกขั้นตอน ชี้หลายประเทศยอมรับบุหรี่ไฟฟ้า สิงห์อมควันลดอื้อ
นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทน “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST)” และเฟสบุ๊คเพจ “บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” เรียกร้องกระทรวงพาณิชย์เปิดโอกาสให้ภาคประชนแสดงความคิดเห็นเพื่อให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าควบคุมและเป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพน้อยกว่า โดยระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศพัฒนาแล้วเช่น อังกฤษ อเมริกา และอีก 20 กว่าประเทศในสหภาพยุโรป ที่รัฐบาลแต่ละประเทศสนับสนุนเป็นทางเลือกในการลดอันตรายจากควันบุหรี่ ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงเป็นประวัติการณ์ กลับกันประเทศไทยที่ยังไม่ยอมรับบุหรี่ไฟฟ้า มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงเพียงเล็กน้อย และคนตายจากการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น
“เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศอังกฤษเพิ่งออกร่างแผนการแก้ไขปัญหาสุขภาพภายใต้ชื่อ “Advancing our health: prevention in the 2020’s”โดยร่างแผนดังกล่าวตั้งเป้าหมายให้เป็นประเทศที่ปลอดบุหรี่ให้ได้ภายในปี 2030 โดยรวมไปถึงอุตสาหกรรมบุหรี่ ซึ่งอาจจะต้องเลิกการผลิตในปี 2030 ทั้งนี้แผนดังกล่าวต้องการให้คนเลิกบุหรี่ให้ได้หรือหันไปหาผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพน้อยกว่า อาทิ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้น โดยรัฐบาลอังกฤษได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถออกความคิดเห็นในเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยสามารถแสดงความคิดเห็นจนถึงวันที่ 14 ต.ค.62 ก่อนจะนำความคิดเห็นทั้งหมดไปปรับปรุงพัฒนาและออกเป็นแผนที่สมบูรณ์ต่อไปในอนาคต” นายมาริต กล่าว
นายมาริษ กล่าวอีกว่า ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะในปี 2007 และเป็นประเทศที่บุหรี่ส่งผลต่อสุขภาพประชากรต่ำที่สุดในยุโรป ในการร่างแผนต่างๆ ที่มีผลต่อประชากรโดยตรงยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นอีกทั้งมีแนวคิดในการหาผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่ให้กับประชากรของตนเอง ตนเองในฐานะประชากรคนหนึ่งในประเทศไทยจึงอยากจะเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ที่กำลังตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาการยกเลิกแบนบุหรี่ไฟฟ้า ก็น่าจะเปิดให้มีการศึกษาข้อดีข้อเสียของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง และเปิดโอกาสให้หลายๆ ส่วนรวมทั้งภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยแล้วจะได้แผนที่สมบูรณ์และปฎิบัติได้จริง