'กมธ.สารพิษ' จ่อเสนอรายงาน ดันขึ้นทะเบียนเกษตรกร
“กมธ.สารพิษ” จ่อเสนอรายงาน ดันขึ้นทะเบียนเกษตรกร เอาผิดหากพบสารพิษปนเปื้อนเกินมาตรฐาน - ดันเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ ให้สภาฯ- กมธ. ดิจิทัล พิจารณารับงานต่อ “ชวลิต” ตกใจ พบผัก-ผลไม้นำเข้า 13 ชนิดพบสารพิษปนเปื้อนเกินมาตรฐาน
เมื่อวันที่ 12 พ.ย.62 นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการพิจารณาว่า กมธ.ฯ ได้เตรียมนำเสนอรายงานให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาหลังจากศึกษาและพิจารณารายละเอียดครบตามกำหนดเวลาที่สภาฯ ให้ทำงาน 60 วัน แล้ว โดยในสาระสำคัญของรายงานที่เตรียมเสนอต่อสภาฯ จะมีทั้งการผลักดันการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเตรียมเสนอให้ตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณาประเด็นเกษตรอินทรีย์ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีกฎหมายและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการเรียน การสอนต่อการทำเกษตรอินทรีย์ และการส่งต่อแนวคิดไปยังกมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ผลักดันการใช้บิ๊กดาต้าเพื่อขึ้นทะเบียนเกษตรกร เป็นต้น ส่วนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนสารเคมีเกินมาตรฐานและการเอาผิดนั้น กมธ.ฯ ระบุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรัดและเอาจริงด้านการตรวจสอบ
นายชวลิต กล่าวด้วยว่า หลังจากที่กมธ.ไปตรวจสอบผักผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และได้ส่งผักผลไม้ 30 ตัวอย่าง ไปยังห้องแลปต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือตรวจสอบหาสารเคมีอันตราย ล่าสุดกมธ.ได้รับผลตรวจสอบผัก ผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ จำนวน 15ตัวอย่าง พบว่า 13ตัวอย่างมีค่าสารเคมีปนเปื้อนเกินมาตรฐาน อาทิ องุ่น ลูกพลับ บล็อกเคอรี่
“สารพิษปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ถือเป็นภัยเงียบจ่อปะทุทุกครัวเรือน ดังนั้นกระทรวงที่เกี่ยวข้องควรมีห้องแลปตรวจสอบคอยสุ่มตรวจผักผลไม้จากต่างประเทศที่มารวมกันอยู่ที่ตลาดสี่มุมเมืองจะกระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆสุ่มเสี่ยงต่อการมีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งกมธ.พยายามผลักดันให้เกษตรกรเดินหน้าใช้เกษตรอินทรีย์แทนสารเคมี จะผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ”นายชวลิต กล่าว
ขณะที่นางพรรณี กุลนาถศิริ กล่าวถึงข้อเสนอของกมธ. ด้วยว่า การทำงานเพื่อขับเคลื่อนเกษตรปลอดภัยต้องเดินหน้าต่อ โดยเตรียมจะเสนอให้สภาฯ พิจารณาตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาเกษตรอินทรีย์เพื่อประโยชน์ประชาชนและเกษตรกร เพื่อผลักดันการเรียนรู้ของเยาวชน นักศึกษารวมถึงกระบวนการวิจัย นำองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านเผยแพร่เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์
ส่วนนายดำรง พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย กล่าวว่าข้อเสนอของกมธ.ฯ ส่วนหนึ่งกำหนดให้พิจารณาออกกฎหมายเพื่อขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อตรวจสอบในกรณีที่ตรวจพบการปนเปื้อนของสารเคมีที่เกินค่ามาตรฐาน และเอาผิดผู้ประกอบการ หรือเกษตรกรที่ทำผิดกฎหมาย รวมถึงต้องมีบทลงโทษ ที่รุนแรงถึงขั้นพยายามฆ่า เพราะสารเคมีมีอันตรายต่อชีวิตประชาชน ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงข้อเสนอที่ต้องพิจารณาในสภา.