ไพ่ตาย "ประชาธิปัตย์" ปลดแอก "แก้รัฐธรรมนูญ"
ถึงแม้ชื่อ “สุชาติ ตันเจริญ” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 จากพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) จะยอมถอยออกไปจากการถูกเสนอเข้าชิงตำแหน่งประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากที่พรรคประชาธิปัตย์
มีมติให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กำลังถูกผลักดันให้เป็นประธาน กมธ.วิสามัญชุดนี้เช่นกัน แต่ไม่ทำให้แรงต้านจากแกนนำพรรคพลังประชารัฐน้อยลง
จากเหตุผลที่ส่งสัญญาณไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลว่า ตำแหน่งนี้ต้องมาจากแกนนำรัฐบาลเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ “สุชาติ” เคยเสียท่า ต้องยอมถอยให้กับเกมต่อรองของประชาธิปัตย์ ในช่วงการเลือกประธานรัฐสภา จนต้องเสียเก้าอี้ให้ “ชวน หลีกภัย” ขึ้นมานั่งตำแหน่งนี้ แต่เมื่อมาถึงวาระการเสนอตำแหน่งประธาน กมธ. ทำให้พลังประชารัฐต้องการคุมเกมบนหัวโต๊ะ ประธาน กมธ.ชุดนี้ทั้งหมด
เป็นสถานการณ์ที่พลังประชารัฐตกอยู่ในสถานะแพ้ไม่ได้ ถึงแม้ตัวเลขเก้าอี้ ส.ส.จะมีมากกว่าฝั่งประชาธิปัตย์เกือบเท่าตัว แต่กลับไม่มีอะไรการันตีได้ว่า ตำแหน่งประธาน กมธ.จะอยู่ในโควตาของพลังประชารัฐ
ยิ่งนาทีนี้ ได้เห็นการเดินเกมกดดัน จาก “เทพไทรายวัน” จากเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ออกมาเปิดประเด็นผลักดันนายอภิสิทธิ์สู่เก้าอี้ประธาน กมธ. โดยเฉพาะการไปจับจังหวะกดดันไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อส่งสัญญาณไปให้พรรคพลังประชารัฐ “เสียสละ” ไม่สนับสนุนคนในพรรคมาแข่งขันกับอภิสิทธิ์
ยิ่งวรรคสำคัญที่ “เทพไท” ส่งแรงบีบไปถึง “พลังประชารัฐ” ว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ อยากเห็นความปรองดองให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง ให้มีความเป็นเอกภาพในพรรคร่วมรัฐบาล ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้พรรคพลังประชารัฐสนับสนุนนายอภิสิทธิ์มาเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญในครั้งนี้ให้สำเร็จ
นอกจากนี้ หากนับสัดส่วน กมธ.ชุดนี้ทั้งหมด 49 คน ได้ถูกแบ่งเป็น คณะรัฐมนตรี(ครม.)12 คน ฝ่ายรัฐบาล 18 คน และฝ่ายค้าน 19 คน ทำให้การเคลื่อนขบวนในเกมของประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาเจรจาไปถึงพลังประชารัฐ ว่าตำแหน่งประธาน กมธ.ไม่จำเป็นต้องเป็นของพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก เพราะเป็นการทำงานของสภาฯ เหมือนกรณีเลือกประธานสภาฯ ที่ได้ชื่อนายชวน หลีกภัย
ระหว่างนั้น จึงเห็นภาพความขัดแย้งระหว่าง “เทพไท” กับ “สิระ เจนจาคะ” ส.ส.กทม. พลังประชารัฐ ออกมาวิวาทะอย่างดุเดือด จนล่าสุด “สิระ” เตรียมออกมาฟ้องร้องหมิ่นประมาทกับ “เทพไท”แล้ว
นาทีนี้ พลังประชารัฐรู้ดีว่าการที่ประชาธิปัตย์มี ส.ส.น้อยกว่า แต่กลับเป็นสถานการณ์ “ถือไพ่เหนือกว่า” จากเงื่อนไขแลก 52 เสียงตั้งรัฐบาล เพื่อดัน พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้ง ขีดเส้นใต้ 3 เส้นที่ประชาธิปัตย์ประกาศ “เตือนความจำ” พลังประชารัฐถึงหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาฯ ได้บรรจุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญลงไปด้วย
เกมนี้จึงเห็นประชาธิปัตย์ออกมาข่มพลังประชารัฐรายวัน แต่เป็นช่วงเดียวกับที่พลังประชารัฐ จากวิปรัฐบาลเล่นเกม “ซื้อเวลา” พิจารณาวาระในญัตติศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรู้ดีว่า หากปล่อยให้“อภิสิทธิ์”หลุดมาเป็นประธาน กมธ.ได้สำเร็จ เท่ากับว่า อดีตหัวหน้าประชาธิปัตย์ จะถือความได้เปรียบต่อการคุม “ทิศทาง” ในบันไดขั้นแรกต่อการแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมด
จุดยืนเส้นขนานของประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ ในการแก้รัฐธรรมนูญ ยังเป็นจุด “หักเห” พรรคร่วมรัฐบาล เมื่อกลไกในรัฐธรรมนูญที่สร้างความได้เปรียบให้พลังประชารัฐ ในบทเฉพาะกาลเปิดทาง 250 ส.ว.มาร่วมโหวตนายกฯ ได้ ยังเป็นประเด็นที่ประชาธิปัตย์อยากเข้าไปปลดล็อกในเวที กมธ.ชุดนี้ เป็นวาระแรกๆ
ทำให้การต่อสายของประชาธิปัตย์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาไปยังระดับคีย์แมนของรัฐบาล อย่างน้อยเพื่อเจรจาลดความระแวง ที่พลังประชารัฐกำลัง “ไม่ไว้ใจ” ประชาธิปัตย์ เพื่อแสวงจุดร่วมไปศึกษาในประเด็นของรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาจริงๆ
จนถึงนาทีนี้ ยังไม่มีสัญญาณจากวิปรัฐบาลว่า การประชุมสภาฯ วันที่ 13-14 พ.ย.62 สุดท้ายแล้วจะดันญัตติเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาหรือไม่
กลายเป็นสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของพรรคร่วมรัฐบาลที่มี “สัญญา” ต่อรอง ที่เคยให้ไว้เป็นเดิมพัน