รัฐบาลแพ้โหวต โละคำสั่งคสช. '6 ส.ส.ปชป.' หนุนฝ่ายค้าน
รัฐบาลแพ้โหวตตั้งกมธ.ศึกษาผลกระทบคำสั่งคสช. “6ส.ส.ปชป.” โหวตสวน หนุนฝ่ายค้านโละทิ้งคำสั่งคสช. 2 ฝั่งประท้วงวุ่นรัฐบาลขอนับคะแนนใหม่-ฝ่ายค้านวอล์กเอ้าท์ จับตาพปชร.แก้เกมเสียงปริ่มน้ำ-รอยร้าวพรรคร่วม เปิดดีล "ทักษิณ" ฝากเลี้ยง 20 ส.ส.เพื่อไทย
จากกระแสความไม่ลงรอยกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งล่าสุดมีกระแสข่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัมนตรีและรมว.กลาโหมเตรียมปรับคณะรัฐมนตรีในเร็วๆนี้ โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงเศรษฐกิจที่อาจนำกลับมาอยู่ในโควตาของพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)เพื่อความเป็นเอกภาพ
ขณะที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธาน วานนี้(27 พ.ย.)ที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระญัตติด่วน เรื่อง ให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44
โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายปิดญัตติว่า คำสั่งของคสช. มีหลายเรื่องที่ดีและเป็นประโยชน์ ดังนั้นฉบับใดที่ดีควรใช้ต่อ แต่ต้องศึกษาว่าจะเปลี่ยนเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ต้องดำเนินการอย่างไร ส่วนฉบับใดที่ขัดต่อความยุติธรรม หากไม่ยกเลิก ขอให้ทำความเห็นเพื่อให้ยกเลิก และเมื่อยกเลิกแล้วมีบุคคลได้รับผลกระทบควรให้สิทธิเยียวยา ทั้งนี้เท่าที่ดูการยกเลิกโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ มีทั้งสิ้น 61 ฉบับ ส่วนอีก 16 ฉบับเป็นคำสั่งที่ยกเลิกแต่มีเงื่อนไข
“ขอให้ใช้โอกาสพิจารณาเพราะไม่ใช่เรื่องของฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นการทำหน้าที่ของตัวแทนราษฎร” นายปิยบุตรกล่าว
จากนั้นที่ประชุมได้เข้าสู่การลงมติญัตติตั้งกมธ.ผลการลงมติปรากฏว่า เสียงจากฝ่ายค้านชนะโหวตไปด้วยคะแนน234 เสียง ต่อ 230 เสียง งดออกเสียง 2 และไม่ลงคะแนน 1 คน จากผู้เข้าร่วมประชุม 267 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 234 เสียงที่ลงมติสนับสนุนให้มีการตั้งกมธ.เพื่อศึกษาในเรื่องดังกล่าวนอกจากจะเป็นเสียงจากส.ส.ฝ่ายค้านแล้วยังมีในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ซึ่งมี ส.ส. 6 คน อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ,นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี , นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช , นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก, นายพนิช วิกิตเศษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.พังงา ที่ลงมติสนับสนุนเนื่องจากได้แจ้งเหตุผลกับทางประธานวิปรัฐบาลแล้ว
ขณะที่เสียงรัฐบาลอีกส่วนที่หายไปนั้นเป็นในส่วนของ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่เข้ามาภายในห้องประชุมเพื่อลงคะแนนไม่ทัน
โดยที่อีก 2 เสียงที่งดออกเสียง คือ นายชวน และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง
ประท้วงวุ่นรบ.ขอนับคะแนนใหม่
จากนั้นบรรยากาศในห้องประชุมได้มีการสลับกันประท้วงกันไปมา เมื่อฃนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้ลุกเสนอให้ที่ประชุมนับคะแนนใหม่ เนื่องจากสับสนและแพ้กันอย่างเฉียดฉิว
ทำให้ส.ส.พรรคฝ่ายค้านแสดงความไม่พอใจและลุกขึ้นทักท้วงว่าไม่สามารถขอนับใหม่ได้ และขอให้ยอมรับในผลความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น
แต่นายชวน ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานได้กล่าวกับที่ประชุมว่า ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อที่ 85 กรณีที่ส.ส.ขอให้นับคะแนนใหม่ และมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ให้นับคะแนนเสียงใหม่ และใช้การลงคะแนนด้วยการขานชื่อ
ทำให้นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ทักท้วงว่าการนับคะแนนใหม่ คือการนำการลงคะแนนครั้งที่ผ่านมานับทวนคะแนนอีกครั้ง ไม่ใช่การออกเสียงลงคะแนนใหม่
หลังจากเกิดความวุ่นวายขึ้นนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ลุกเสนอให้พักการประชุมก่อนที่นายชวนจะอนุญาตให้พักประชุมเป็นเวลา 15 นาที
สภาฯล่ม! ส.ส.ฝ่ายค้านวอร์คเอ้าท์
หลังพักการประชุมไปกว่า 1 ชั่วโมง นายชวน ยัง ยืนยันว่า จำเป็นต้องทำตามระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาฯคือให้นับคะแนนใหม่ จทำให้สมาชิกหลายคนไม่พอใจ
โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นกล่าวว่า การลงมติดังกล่าว ล้วนเป็นประโยชน์กับรัฐบาล แต่หลังจากสภามีคะแนนห่างกัน 4 คะแนน ก็ตอบคำถามไม่ได้ว่า การนับคะแนนใหม่นั้นจำเป็นหรือไม่ จึงขอความกรุณาจากส.ส.ฝั่งเสียงข้างมาก ไม่เช่นนั้นจะขอไม่อยู่ร่วมองค์ประชุมด้วย เพราะเท่ากับเสียงของตนเองไม่มีค่า
ด้านนายวิรัช กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ต้องการใช้ระเบียบข้อบังคับข้อ 85 ในการขอนับคะแนนใหม่ ยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการชนะคะคาน แต่หากการทำงานเป็นมติวิปรัฐบาล ก็จะดำเนินตามมติวิปรัฐบาล และมีความจำเป็นที่จะเสนอนับคะแนนใหม่ และยืนยันว่าจะเสนอขอนับคะแนนใหม่
หลังจากที่นายชวน วินิจฉัยให้ที่ประชุมมีการนับคะแนนใหม่ทำให้ส.ส.ฝ่ายค้านทยอยเดินออกจากห้องประชุมสภาฯ ก่อนที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้ยกมือขอให้ประธานสภาฯ สั่งนับองค์ประชุม ปรากฏว่า มีองค์ประชุมเพียง 92 คน ถือว่าองค์ประชุมไม่ครบองค์ประชุมคือ 250 คนจากสมาชิก499คน ประธานสภาฯจึงสั่งปิดการประชุมแล้วนัดประชุมสภาฯต่อในวันนี้(28 พ.ย.)ช่วงเช้า
พปชร.-ทักษิณเปิดดีลส.ส.ฝากเลี้ยง
ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากปัญหาความไม่ลงตัวภายในรัฐบาล ระหว่าง3 พรรคหลัก คือพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ที่มีความขัดแย้งขึ้นหลายครั้งทั้งยังมีการข่มขู่จะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลด้วย
ทำให้พปชร.จำเป็นต้องหาหลักประกันในการขับเคลื่อนงานในสภาฯ ด้วยการติดต่อส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยมาสนับสนุนการทำงานในสภาฯ หากพรรคร่วมรัฐบาลเล่นเกมการเมืองโดยใช้เสียงส.ส.มาเป็นเครื่องต่อรอง โดยขณะนี้แกนนำพปชร.ได้ติดต่อส.ส.พรรคเพื่อไทยให้ยกมือสนับสนุนรัฐบาลในบางเรื่อง ได้แล้วประมาณ 20 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นส.ส.ภาคอีสาน ซึ่งการประสานครั้งนี้จะเป็นในลักษณะการฝากเลี้ยง คือให้พปชร.ดูแลส.ส.คนที่ติดต่อไว้เพียงแค่ช่วยขับเคลื่อนงานในสภาฯโดยไม่จำเป็นต้องย้ายพรรค เรื่องนี้ทางแกนนำพปชร.ได้ประสานไปยังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เป็นบุคคลที่พรรคเพื่อไทยให้ความเคารพเชื่อฟังรับทราบแล้ว ซึ่งนายทักษิณไม่ได้ขัดข้องอะไร
สอดคล้องกับการวางตัวของนายทักษิณในช่วงหลังที่โลว์โพรไฟล์ ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง โดยนายทักษิณถึงกับบอกผู้ที่ไปประสานว่า “ฝากเลี้ยงไปแล้ว ก็ขอให้เลี้ยงให้ดีด้วยนะ”
“วรงค์” ปลุกต้านลัทธิชังชาติ
ด้านนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า “พวกชังชาติจะลงถนน พวกชังชาติเริ่มสร้างกระแสการเดินลงถนน อ้างเพื่อปฏิรูปอำนาจ และวิจารณ์อำนาจรัฐบาลหลังปฏิวัติ สิ่งที่น่าสังเกต คนพวกนี้ไม่ยอมพูดถึงเหตุการณ์ก่อนปฏิวัติที่คนนับล้าน ออกมาขับไล่รัฐบาล ถ้าใจเป็นธรรม ศึกษาอดีต และนำมาปรับปรุง ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น
เราเห็นเป้าหมายชัดเจนที่ เขาอ้างปฏิรูปอำนาจ เท่ากับว่าเขาจะทำทุกอย่างให้ตนเองมีอำนาจ แม้จะหลอกประชาชนมาลงถนนถ้าจริงใจที่จะปฏิรูปอำนาจจริงๆ คนของฝ่ายตนเองครองอำนาจมานับสิบปี ไม่เห็นมีความคิดเรื่องปฏิรูปอำนาจ มีแต่ใช้อำนาจไม่ชอบ และใช้อำนาจเพื่อโกง
นี่คือความจริงที่ต้องรู้เท่าทันพวกลัทธิชังชาติ
“ประวิตร”แย้ม“ไพบูลย์”คุมแก้รธน.
ส่วนความเคลื่อนไหวการตั้งกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกมธ.ว่า เป็นเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ส่วนที่มีการมองว่าการถอนชื่อนายอภิสิทธิ์ สะท้อนว่าพรรคพปชร.ไม่ยอมเรื่องตำแหน่งประธานนั้น ไม่เกี่ยว พปชร.ก็ส่งชื่อไปแล้ว ส่วนจะเป็นนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพปชร.หรือไม่แล้วแต่พรรคพิจารณา
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สำหรับรายชื่อกมธ.ศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของพรรคได้รายชื่อครบแล้ว 5 คน ส่วนกรณีที่ไม่เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เป็นประธานกมธ.ทั้งที่ก่อนหน้านี้พรรคมีมติไปแล้ว อันนั้นเป็นมติพรรคเบื้องต้น ที่มอบหมายให้ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปในส่วนของพรรค ไปหารือร่วมกับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แต่เมื่อได้นำรายชื่อไปหารือแล้ว ก็ยังไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อยังไม่มีความชัดเจน การที่จะส่งนายอภิสิทธิ์ ไปเป็นประธานกมธ. ก็อาจจะเกิดความผิดพลาด มีปัญหาขึ้นมา ก็จะไม่คุ้มที่สูญไป