เปิดคำพิพากษาฎีการอลงอาญา 2 ปี 'สารวัตรสมิง-ลูกน้อง' จับสาวใหญ่เซ็นเอกสารรับสารภาพคดียาบ้า
ศาลฎีกาพิพากษาแก้โทษ "สารวัตรสมิง-น้อง" 5 คน จำคุก 2-3 ปี จับสาวใหญ่จำยอมรับคดียา 100 เม็ด ส่วนโทษคุกให้รอลงอาญา 2 ปี
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.62 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งที่ 3 คดีหมายเลขดำ อ.830/2549 ที่นางกรองกาญจน์ อายุ 59 ปี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ต.สมิง อดีต สว.สส.สน.พญาไท (ปัจจุบันยศ พ.ต.อ.) , ร.ต.อ.พรรณศักดิ์ อดีต รอง สว.สส.สน.พญาไท (ปัจจุบันยศ พ.ต.ท.) , ร.ต.อ.กิตติพงษ์, ด.ต.ภิญโญ, ด.ต.อภิทักษ์, ด.ต.อวยชัย, จ.ส.ต.บุญเรือง, จ.ส.ต.รุ่งทิพย์ขำ , จ.ส.ต.(หญิง) ศศิธร , จ.ส.ต.วันเผด็จ และ ส.ต.ท.สุธรรม เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.พญาไท (ยศและตำแหน่งขณะเกิดฟ้องปี 2549) เป็นจำเลยที่ 1-11 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เพื่อให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่น , เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารรับรองหลักฐานฯ อันเป็นเท็จ , ผู้ใดแจ้งข้อความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่อัยการ ผู้ว่าคดีฯ , ผู้ใดขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต เสรีภาพ ทรัพย์สินฯ และผู้ใดหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นทำให้ปราศจากเสรีภาพฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162, 172, 309, 310 ทวิ
กรณีเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.48 จำเลยที่ 1-11 ร่วมกันแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม นางกรองกาญจน์ โจทก์โดยไม่มีหมายจับของศาล และใช้กำลังและอาวุธบังคับขืนใจโจทก์ให้ขึ้นรถยนต์ไปกับพวกจำเลย ซึ่งระหว่างนั้นใช้ถุงดำคลุมศีรษะและรัดคอโจทก์ไว้ เพื่อข่มขู่ให้โจทก์รับสารภาพคดีมียาบ้าจำนวน 100 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งโจทก์ได้ปฏิเสธ แต่จำเลยไม่ยอมปล่อยตัวและไม่นำส่งพนักงานสอบสวนหรือพาไปยังสถานีตำรวจ กลับให้โจทก์พาไปโกดังของโจทก์เพื่อตรวจค้น แต่ก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แล้วจำเลยกับพวก กลับร่วมกันทำเอกสารการจับกุมและเอกสารอื่นๆ อันเป็นเท็จ โดยบังคับให้โจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวได้จัดพิมพ์ไว้แล้ว ซึ่งมีข้อความว่ารับสารภาพ
คดีนี้จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.52 เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องเป็นลำดับขั้นตอน หากไม่เป็นความจริงก็ยากที่จะปั้นแต่งเรื่องขึ้นเอง และยังสอดคล้องกับหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ถึง ผบ.ตร. ลงฉบับวันที่ 22 ก.ย. 48 ด้วย จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1, 2, 7, 8, 10,11 ทำผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามมาตรา 157 ที่เป็นบทหนักสุด จำคุกคนละ 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 6, 9 จำคุกคนละ 4 ปีฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ซึ่งจัดทำเอกสารเท็จ โดยยกฟ้องจำเลยที่ 3, 4, 5
ต่อมาจำเลยที่ 1, 2, 6, 7, 8, 9, 10, 11 ยื่นอุทธรณ์ กระทั่งมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2556 พิพากษาแก้เป็นให้ลดโทษ จำเลยที่ 1, 2, 7, 10 เหลือจำคุกคนละ 4 ปี และจำคุก 3 ปี จำเลยที่ 8, 11 โดยพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6, 9 และพิพากษายืนยกฟ้องส่วนจำเลยที่ 3, 4, 5
จากนั้นจำเลยที่ 1, 2, 7, 8, 10, 11 ยื่นฎีกาสู้คดี ส่วนจำเลยที่ 3, 4, 5 โจทก์ไม่ได้ยื่นฎีกา หลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง คงฎีกาในส่วนจำเลยที่ 6, 9 ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง
คดีนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาครั้งแรกวันที่ 22 มี.ค.61 แต่เนื่องจากครั้งนั้น พ.ต.อ.สมิง จำเลยที่ 1 และ จ.ส.ต.(หญิง) ศศิธร จำเลยที่ 9 มีอาการป่วย โดยมีใบรับรองแพทย์มาแสดงศาลเชื่อว่าป่วยจริง จึงนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาครั้งที่ 2 ในวันที่ 11 พ.ค.61 แต่ปรากฏว่า เนื่องจาก ร.ต.อ.วันเผด็จ จำเลยที่ 10 ยื่นคำร้องขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ และขอให้ศาลลงโทษสถานเบา ซึ่งศาลสอบถามคู่ความแล้วไม่คัดค้าน ศาลจึงส่งสำนวนและคำร้องของจำเลยที่ 10 กลับให้ศาลฎีกาพิจารณาอีกครั้ง กระทั่งนัดฟังคำพิพากษาฎีกาครั้งที่ 3 ในวันนี้ (18 ธ.ค.62) ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.พรรณศักดิ์ จำเลยที่ 2 ก็ยื่นคำร้องขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพเช่นกัน
ขณะที่วันนี้ พ.ต.อ.สมิง จำเลยที่ 1 กับพวกจำเลยลูกน้องที่ได้ยื่นฎีกาและได้รับการประกันตัวเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา โดยเมื่อถึงเวลานัด ศาลได้อ่านคำสั่งศาลฎีกาในส่วนที่จำเลยที่ 2 , 10 ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมจากที่เคยให้การปฏิเสธ เป็นให้การรับสารภาพ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าการถอนคำให้การของจำเลยที่ 2 , 10 ต้องยื่นก่อนศาลมีคำพิพากษา พฤติการณ์เป็นลักษณะการประวิงเวลาอ่านคำพิพากษา จึงไม่อนุญาต โดยให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสอง
จากนั้นศาลได้อ่านผลคำพิพากษาศาลฎีกา โดย ศาลฎีกา ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1,2,7,8 ,10,11 ว่า จำเลยทั้งหก กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 309 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ศาลฎีกา เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้อย่างมั่นคงว่า จำเลยที่ 2,7 ,10 กับพวกร่วมกันจับกุมและควบคุมโจทก์จากบริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง แล้วพาไปยังที่ต่างๆ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1,2,7, 8 ,10,11 ที่นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ซึ่งการที่จำเลยที่ 2,7,10 กับพวกจับกุมตัวโจทก์ในวันที่ 16 มิ.ย.48 เวลาประมาณ 14.00 น. จากบริเวณท่าอากาศยานดอนเมืองโดยไม่มีหมายจับ และไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะจับกุมโจทก์ได้โดยไม่มีหมายจับ แล้วพาไปยังสถานที่ต่างๆ และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยอื่นนั้นมาพบพูดคุยกับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 8 ,10,11 นอนเฝ้าโจทก์ไว้ กับทำบันทึกการจับกุมว่าได้มีการจับกุมโจทก์ในวันที่ 17 มิ.ย.48 เวลาประมาณ 17.00 น. พร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีน 100 เม็ดอันเป็นความเท็จนั้น ย่อมแสดงว่าจำเลยดังกล่าวมีเจตนาร่วมกันกระทำการดังกล่าวต่อโจทก์ ซึ่งการกระทำเช่นนั้นของจำเลยที่ 1,2,7,8,10,11 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 309 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ดังนั้นฎีกาของจำเลยที่ 1,2,7,8,10,11 จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1,2,7,8,10,11 ประการสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษหรือไม่ ศาลฎีกา เห็นว่า เหตุคดีนี้สืบเนื่องจากจากการปฏิบัติหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด และต้องการขยายผลไปถึงผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งโดยสภาพเป็นการยากต่อการปฏิบัติการสืบสวน แม้การกระทำของจำเลยที่ 1,2,7,8,10,11 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและข่มขืนใจโจทก์โดยมีอาวุธ แต่ปรากฏว่าภายหลังเกิดเหตุดังกล่าวก็ปรากฏว่าโจทก์ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2910/2555 เกี่ยวกับกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจริง
อีกทั้งต่อมาโจทก์ก็ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและถอนฎีกาคดีนี้ และปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 30 ต.ค.61 ว่าเหตุที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เพราะประสงค์ใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้คดีที่โจทก์ถูกฟ้องว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และเกิดความเข้าใจผิดของโจทก์ที่มีการจับกุมตัวโจทก์โดยไม่มีหมายจับของศาล โจทก์จึงไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1,2,7,8,10,11 อีกต่อไป โดยจำเลย 6 คนดังกล่าวได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จนเป็นที่พอใจแล้วก็ไม่ติดใจเอาความทั้งคดีแพ่งและคดีอาญากับฝ่ายจำเลยอีก ก็ถือเป็นการบรรเทาผลร้ายแก่โจทก์แล้ว ขณะที่จำเลยที่ 1,2,7,8,10,11 เป็นข้าราชการตำรวจ ไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์ในการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบมาก่อน ดังนั้นการให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1,2,7,8,10,11 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จะเป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมมากกว่าการลงโทษจำคุกไปเลย แต่เพื่อให้หลาบจำและใช้อำนาจภายในขอบเขตการปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1,2,7,8,10,11 ด้วย
จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1,2,7,8,10,11 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เดิม , 309 วรรคสองเดิม ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด
จากเดิมจำคุกจำเลยที่ 1, 2, 7, 10 คนละ 4 ปี เป็นจำคุกคนละ 3 ปี เพิ่มโทษปรับคนละ 20,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 8, 11 จากเดิมจำคุกคนละ 3 ปี เป็นจำคุกคนละ 2 ปี เพิ่มโทษปรับคนละ 20,000 บาท โดยโทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 1,2,7,8,10,11 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6,9 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์