จับตา! สภาฯ ถกงบฯ 63 รอบ 2
สภาฯ ถกงบประมาณ 2563 รอบ 2 "ชวน" ป้อง ศาล รธน. ไม่ได้ล้วงสภา แต่สภาไปขอศาลให้ชี้ขาดเอง
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 63 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นรายมาตราในวาระที่ 2 และให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 ทั้งนี้ ก่อนเปิดการประชุมสภาฯ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีการประชุมร่วมกันและมีมติออกมา 3 ข้อ ได้แก่ 1.ลงชื่อเข้าร่วมประชุม 2.ระหว่างประชุมสภาฯ ฝ่ายค้านจะไม่อยู่ร่วมในห้องประชุม ยกเว้น ส.ส.ที่ได้รับมอบกหมายให้อภิปรายก่อนเข้าวาระ และ 3.ให้ ส.ส.เก็บบัตรลงคะแนน ห้ามทิ้งไว้ที่เครื่องลงคะแนน 4.การลงมติเป็นรายมาตรา ส.ส.ฝ่ายค้านจะไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมและไม่ลงมติ
ต่อมาเมื่อมีการเปิดประชุมสภาฯ อย่างเป็นทางการ นายชวน ได้เปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้อภิปรายหารือกับประธานสภาฯ ก่อนเข้าสู่การพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายค้านได้ลงชื่อมาประชุมเพื่อร่วมเป็นองค์ประชุมสภาฯ เพื่อให้สามารถเปิดประชุมสภาฯ ได้แล้ว และเพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลได้พิจารณาอย่างเต็มที่ ทางฝ่ายค้านจะไม่ขอเข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังมีความสงสัยว่าทำไมน ายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ถึงยังเข้ามาร่วมประชุมสภาฯ
ด้าน นายเรืองไกร กล่าวว่า สาเหตุที่เข้ามาประชุมสภาฯ ด้วย เนื่องจากได้รับจดหมายจากทางสภาฯ เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ให้เข้ามาร่วมประชุม เพื่อชี้แจงในนามคณะกรรมาธิการวิสามัญ
ขณะที่ นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้สอบถาม นายชวน ว่าหากโซนที่นั่งของ ส.ส.รัฐบาลไม่เพียงพอ ส.ส.รัฐบาลจะสามารถไปนั่งในโซนของฝ่ายค้านเพื่อใช้เครื่องลงคะแนนได้หรือไม่ ทั้งนี้ นายชวน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะทำแบบนั้น เพราะอาจถูกกล่าวหาได้ว่ามีการเสียบบัตรแทนกัน อย่างไรก็ตาม จะเผื่อเวลาให้กับส.ส.ในการใช้เครื่องลงคะแนนในการพิจารณาแต่ละมาตราต่อไป
จากนั้น นายชวน ได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระในการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณเป็นรายมาตรา โดย นายชวน กล่าวถึงที่มาของการประชุมวันนี้ว่าเป็นผลมาจากการที่มีข่าวออกมาว่ามีการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. จนทำให้ ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านเข้าชื่อเพื่อส่งให้ประธานสภาฯ ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ตามมาตรา 148(1) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่ากระบวนการพิจารณาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเฉพาะการลงมติในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่กำหนดคำบังคับให้สภาฯ ดำเนินการใหม่ในวาระที่ 2 และ 3 ใหม่
"เป็นเรื่องที่เราใช้สิทธิ์ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สิ่งเราต้องทำ คือ คำวินิจฉัยมีผลผูกรัฐสภา เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ส่วนเรื่องความชอบหรือไม่ชอบก็ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของแต่ละคน และกรณีไม่ได้เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะมาจากการที่ประธานสภาฯส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมต้องร่วมรับผิดชอบ ถ้าการทำงานผิดพลาดก็ร้องเรียนมากันมาได้ครับ แต่ยืนยันการดำเนินการประชุมวันนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องกรอบเวลา 105 วันที่สภาฯต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จแล้วและสิ้นสุดไปตั้งแต่เดือนม.ค.แล้วนั้น ขอชี้แจงว่าประเด็น 105 วัน สภาฯได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วตั้งแต่ 11 ม.ค.2563 แต่การประชุมวันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่อง105 วัน เพราะเป็นกระบวนการใหม่ที่เกิดมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขออย่าไปกังวลว่าเราเสียเกียรติหรือไม่เพราะการเคารพกฎหมายบ้านเมืองเป็นการกระทำที่มีเกียรติอยู่แล้ว" นายชวน กล่าว
ต่อมา นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ กล่าวนำเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯจึงขอนำเสนอรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯให้ที่ประชุมสภาฯได้พิจารณา