เมื่อ 'ประเทศไทย' ต้องกู้เงินครั้งประวัติศาสตร์
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษวันนี้ (3 เม.ย.) ต้องจับตาข้อเสนอของกระทรวงการคลังที่จะขอให้ที่ประชุมอนุมัติพระราชกำหนดการเงิน
เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 โดยเบื้องต้นกำหนดกรอบวงเงินที่จะนำมาใช้ราว 8 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท
นับได้ว่าเป็นการกู้เงินครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์!
อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากการระบาดเจ้าไวรัสตัวจิ๋ว
“โควิด-19” จากการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะติดลบสูงถึง -5.3% จากเดิมที่คาดว่าขยายตัว 2.8%
นับเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบหนักสุดในรอบ 22 ปีนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง
หากดูจากมูลค่าจีดีพีของประเทศไทย ที่อยู่ประมาณ 17.5 ล้านล้านบาท การที่เศรษฐกิจเติบโตติดลบ 5.3% นั่นหมายความว่า จะทำให้มูลค่าจีดีพีลดลงราว 9.27 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขตรงนี้ จะใกล้เคียงกับกรอบวงเงินกู้ที่กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบ
แม้ว่าพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ตามมาตรา 53 จะบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังออก พ.ร.ก.กู้เงินได้ ในกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ
แต่กฎหมายฉบับนี้ก็มีข้อกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การกู้เงินดังกล่าวต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ ไว้อย่างชัดเจน
กฎหมายยังกำหนดเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินกู้ด้วยว่า ให้หน่วยงานต้องทำตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน และระเบียบการเบิกจ่ายเงินกู้อย่างเคร่งครัด และใช้จ่ายเงินกู้ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่า และประหยัด
ขณะที่มาตรา 57 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า การกู้เงินจะกระทําได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่ายตามแผนงาน หรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม และเมื่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าของแผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดําเนินการตามแผนงานหรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินกู้นั้นแล้ว
นอกจากนี้ ในมาตรา 58-60 ยังกำหนดให้มีการติดตามประเมินผล และการรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ และถ้ามีเงินเหลือ หรือไม่มีการดําเนินการ หรือไม่มีความจําเป็นที่จะต้องใช้เงิน ให้นําส่งคลัง
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้เบิกเงินกู้ไปใช้จ่าย เนื่องจากแผนงานหรือโครงการเสร็จสิ้น หรือไม่มีการดําเนินการ หรือไม่มีความจําเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินตามแผนงานหรือโครงการนั้นอีก ให้กระทรวงการคลังนําเงินกู้ที่เหลืออยู่ส่งคลัง
แต่ในกรณีที่กระทรวงการคลังยังไม่ได้เบิกเงินจากผู้ให้กู้ ให้ยกเลิกวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย