วัดใจ 'ศบค.' เคาะวันหยุดชดเชยสงกรานต์
การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ (5 มิ.ย.) ต้องจับตาการพิจารณาวันหยุดชดเชยเทศกาลสงกรานต์
ซึ่งเดิมได้มีการหารือกันว่า อาจเป็นช่วงวันหยุดวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา คือระหว่างวันที่ 4-5 กรกฎาคมนี้ และมีชดเชยคือวันที่ 6 กรกฎาคม แล้วนำวันหยุดชดเชยช่วงสงกรานต์ ไปรวมอีก 3 วัน คือวันที่ 7-9 กรกฎาคม ซึ่งจะทำให้มีวันหยุดรวม 6 วัน คือวันที่ 4-9 กรกฎาคม
ประเด็นสำคัญในการพิจารณาวันหยุดชดเชยช่วงสงกรานต์ อยู่ที่เงื่อนไขความปลอดภัยด้านสาธารณสุขว่า สามารถควบคุมการแพร่ระบาด และจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มากน้อยเพียงใด
หากพิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับการพิจารณา วันหยุดชดเชยสงกรานต์
นายกฯ พูดชัดเจนว่า ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 ก่อนว่า ที่ผ่อนผันไปแล้ว มีความร่วมมือกัน แค่ไหน อย่างไร จึงจะมีแนวทางไปสู่ระยะที่ 4 ได้ในอนาคต
ต้องยอมรับว่า หนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะมีการเสนอให้นำวันหยุดชดเชย ช่วงเทศกาลสงกรานต์มารวมกับวันหยุดราชการอื่น เพราะต้องการให้มีวันหยุดยาว เพื่อให้ประชาชนได้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
แต่อีกมุมหนึ่ง การที่มีวันหยุดยาวหลายวัน ก็เปรียบเสมือน “ดาบ 2 คม” ที่อาจกลายเป็นชนวนเหตุให้การระบาดของไวรัสโควิด-19 กลับมาอีกรอบ เพราะต้องไม่ลืมว่า การที่มีคนจำนวนมากออกไปท่องเที่ยวพร้อมๆ กัน ย่อมมีความเสี่ยงสูง ต่อการติดเชื้อ หรือการแพร่ระบาดของไวรัสเพิ่มขึ้น
ขณะที่ผู้ประกอบการเอกชน แม้จะได้รับอานิสงส์จากวันหยุดยาว แต่ก็เป็นเพียงแค่การเยียวยาในระยะสั้น
จึงเริ่มมีแนวคิด เสนอให้รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายให้ข้าราชการ และลูกจ้างภาคเอกชน ใช้สิทธิ์หยุดชดเชยช่วงเทศกาลสงกรานต์วันไหนก็ได้ ภายในปีนี้ เพราะนอกจากจะเป็นการป้องกันความเสี่ยงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังช่วยกระจายเม็ดเงิน ด้านการท่องเที่ยวให้กระจายตัวไปในช่วงอื่นๆ มากขึ้น แต่แนวคิดนี้ ก็ยังมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
การประชุม ศบค.วันนี้ จึงต้องจับตาดูว่า จะพลิกล็อกหรือไม่