ผ่างบประมาณปี 64 เพิ่มงบกลาง 4 หมื่นล้านสู้โควิด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะนำเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร และจะเปิดให้สมาชิกสภาฯ อภิปรายระหว่างวันที่ 1-3 ก.ค.2563
โดยข้อตกลงร่วมระหว่างวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน จะจัดสรรเวลาให้ฝ่ายค้านอภิปราย 22.30 ชั่วโมง ส่วนฝ่ายรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี ได้เวลา 22 ชั่วโมง
กรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ตั้งไว้ 3,300,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือ 3.1% ประมาณการรายได้สุทธิ 2,677,000 ล้านบาท โดยเป็นการตั้งงบขาดดุล 623,000 ล้านบาท มากกว่าปีก่อน ที่ตั้งไว้ 469,000 ล้านบาท ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19
กรอบการตั้งงบประมาณปี 2564 ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ที่มีผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง จะส่งผลต่ออุปสงค์ภาคต่างประเทศตามแนวโน้มการชะลอของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก
ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศ ต้องมีการส่งเสริมโดยการสร้างรายได้ให้กับภาคประชาชน ทั้งในเมืองและในชุมชน เพื่อให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีแนวโน้มที่จะทรงตัว
อีกทั้งการลงทุนภาครัฐยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัว ตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ที่จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม นโยบายและแนวทางการจัดหางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลได้คำนึงถึงการดำเนินภารกิจ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายสำคัญของรัฐบาล ให้สำเร็จและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการบรรเทาหรือแก้ไขผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิตของประชาชน รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
สำหรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2564 แบ่งเป็น
1. รายจ่ายประจำ 2,526,131.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 122,437.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.1% คิดเป็นสัดส่วน 76.5% ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 75.1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
2. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง สำหรับปีงบประมาณ 2564 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ ซึ่งปีงบประมาณ 2563 ตั้งไว้ 62,709.5 ล้านบาท
3. รายจ่ายลงทุน กำหนดไว้ 674,868.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2563 จำนวน 30,442.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.7% โดยรายจ่ายลงทุนดังกล่าวคิดเป็น สัดส่วน 20.5% ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วน 20.1% ของปีงบประมาณ2563
4.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 99,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2563 จำนวน 9,829.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11% หรือคิดเป็นสัดส่วน 3% ของวงเงินงบประมาณเทียบกับ 2.8% ของปีงบประมาณ 2563
เมื่อจำแนกรายจ่ายประจำแยกตาม 6 กลุ่มงบประมาณ
1. งบกลาง 614,616.2 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18.6% ของวงเงินงบประมาณ โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ตั้งไว้ 518,770.9 ล้านบาท
2.งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,135,182 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34.4% ของวงเงินงบประมาณ
3.งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ กำหนดไว้ 257,877.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.8% ของวงเงินงบประมาณ
4.งบประมาณรายจ่ายบุคลากร กำหนดไว้ 776,887.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23.6% ของวงเงินงบประมาณ
5.งบประมาณรายจ่ายสาหรับทุนหมุนเวียน กำหนดไว้ 221,981.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.7% ของวงเงินงบประมาณ
และ 6.งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 293,454.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.9% ของวงเงินงบประมาณ
งบกลางรับมือโควิด 4 หมื่นล้าน
สำหรับรายการในงบกลาง 12 รายการ เมื่อเทียบกับปี 2563 มีรายการใหม่เพิ่มมา 1 รายการ คือ ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 40,325.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงบประมาณสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ขณะที่อีก 4 รายการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงบประมาณ วงเงินรวม 103,000 ล้านบาท เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนิน และต้อนรับประมุขต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง ยกเว้นรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน ที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเดิม 3,000 ล้านบาท มาที่ 99,000 ล้านบาท ส่วนงบกลางที่อยู่ในความดูแลของกรมบัญชีกลาง 7 รายการ วงเงินรวม 471,286.6 ล้านบาท
การตั้งบกลางเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2564 แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ แม้ว่ารัฐสภา เพิ่งอนุมัติพระราชกำหนด 4 ฉบับ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท และมี พ.ร.บ.โอนงบประมาณงบประมาณ 2563 ของหน่วยรับงบประมาณเป็นบางรายการไปตั้งไว้เป็นงบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 88,452.5 ล้านบาทแล้วก็ตาม
ผ่างบกระทรวง หั่นกลาโหม 8 พันล้าน
สำหรับการจัดสรรงบของหน่วยขอรับงบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการขอตั้งงบประมาณสูงสุดที่ 358,361 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.9% ของงบรวม ลดลงจากปีก่อน 9,383.7 ล้านบาท หรือ ลดลง 2.55% อันดับ 2 กระทรวงมหาดไทย 328,013 ล้านบาท คิดเป็น 9.9% ของงบรวม ลดลงจากเดิม 24,109.6 ล้านบาท หรือ ลดลง 3.57%
อันดับ 3 กระทรวงการคลัง 268,718.6 ล้านบาท คิดเป็น 8.1% ของงบรวม เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.83% อันดับ 4 กระทรวงกลาโหม 223,463.7 ล้านบาท คิดเป็น 6.8% ของงบทั้งหมด ลดลงจากปีก่อน 8,281.5 ล้านบาท ลดลง 3.71%
อันดับ 5 กระทรวงคมนาคม 198,554.3 ล้านบาท คิดเป็น 5.9% ของงบรวม เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.75% อันดับ 6 กระทรวงสาธารณสุข 140,974.7 ล้านบาท คิดเป็น 4.3% ของงบรวม เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.61%
อันดับ 7 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 129,415 ล้านบาท คิดเป็น 3.9% ของงบรวม เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.39% อันดับ 8 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 112,879 ล้านบาท คิดเป็น 3.4% ของงบรวม เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.45%
อันดับ 9 กระทรวงแรงงาน 69,838.2 ล้านบาท คิดเป็น 2.1% ของงบรวม และอันดับ 10 สำนักนายกรัฐมนตรี 40,510.6 ล้านบาท คิดเป็น 1.2% ของงบประมาณรวม
ขณะที่งบประมาณที่น่าสนใจ คืองบประมาณหลักที่จะใช้ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ก่อนหน้านี้ได้ถูกโยกจากงบปี 2563 มารับมือโควิด-19 นั้น สำหรับงบปี 2564 จึงตั้งไว้ที่ 3 หน่วยงาน ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นสังกัดกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
โดยในส่วนของ อปท. เสนอของบ 93,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36,625.5 ล้านบาท หรือเพิ่มถึง 71.47% จากเคยได้รับการจัดสรรเมื่อปีก่อน 54,327.5 ล้านบาท ส่วนกกต.ขอตั้งงบรอบใหม่ที่ 1,770.7 ล้านบาท และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขอตั้งงบ 227,785 ล้านบาท