ส่องมาตรการฝ่า 'โควิด' กฎเหล็กเปิดเรียน 1 ก.ค.
"การเปิดภาคเรียน" หลายประเทศรู้ว่ายังเสี่ยง แต่ประเทศเหล่านั้นประเมินว่า ในระยะยาวการห่างจากการเรียนจะมีผลเสียมากกว่า..
..จึงเลือกที่จะเสี่ยงเปิดการเรียนการสอน แล้ววัดกันที่ใครจะมีมาตรการป้องกันที่เฉียบกว่า และหากเกิดการติดเชื้อขึ้น ฝ่ายบริหารของประเทศใดจะตัดสินใจได้รวดเร็วกว่า จากนั้นค่อยมาประเมินกันใหม่”
ถ้อยคำจาก ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในสถานการณ์เฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส “โควิด-19” ในช่วงเปิดเทอมของหลายโรงเรียน(รร.)ตั้งแต่ 1 ก.ค.63 นี้
แน่นอนว่า Social Distancing เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาด นอกจากการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ แต่ในสิ่งแวดล้อมกิจกรรมการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะ รร.ที่มีเด็กต่างวัย จะเป็น “ตัวแปร” ของการกลับมาระบาดหรือไม่
ขณะนี้สถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชนได้กำหนดมาตรการ ตั้งแต่หน้า รร. ระดับชั้นเรียน ไปจนถึงการใช้ชีวิตของบุคลากรภายใน รร.ทั้งหมดให้ปฏิบัติตาม “กฎเหล็ก” ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กำหนดแนวปฏิบัติไว้
มาตรการสำคัญ กทม.ได้กำหนดขนาด รร.สังกัด จัดแบ่งตามจำนวนนักเรียน(นร.)ได้ 3 ขนาด 1. รร.ขนาดเล็ก มี นร.ไม่เกิน 400 คน 2. รร.ขนาดกลาง มี นร. 401-800 คน 3. รร.ขนาดใหญ่ มีนร. 801-1500 คน โดยสำนักการศึกษา จัดเตรียมแนวทางจัดการเรียนการสอน 2 รูปแบบ
- รร.ขนาดเล็ก204 โรงเรียน จัดการเรียนการสอนตามปกติ แต่จำกัด นร.20 คนต่อ 1 ห้องเรียนพร้อมกำหนดระยะห่างทางสังคม ทั้งเวลาเรียน เวลาพัก เวลารับประทานอาหาร
- รร.ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวม 233 โรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน 2 รูปแบบ“สลับวันเรียนทั้งหมด” โดยกำหนดใช้กับ รร.ขนาดกลาง เช่น อนุบาล ประถมต้น มัธยมต้น เรียนวันอังคาร พฤหัส ส่วนประถมปลาย และมัธยมปลาย เรียนวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ช่วงที่ไม่ได้มาเรียนปกติ จะใช้วิธีเรียนรู้ทาง Online และ On Air ทดแทน
“แบบมาเรียนปกติ” จะร่วมกับสลับวันเรียนทั้งหมด โดยกำหนดสำหรับ รร.ขนาดใหญ่ และรร.ขนาดใหญ่มาก ที่มี นร.มากกว่า 1,500 คน ตั้งแต่อนุบาล ประถมต้น ให้จัดการเรียนตามปกติ แต่ในระดับประถมปลาย และมัธยมให้สลับวันมาเรียน
ส่วนมาตรการทาง “กายภาพ” รอบ รร.จะยึดแนวปฏิบัติที่ สธ.กำหนด ตั้งแต่ระหว่างเดินทางมา รร. คัดกรองอุณหภูมิทางเข้า-ออก เว้นระยะห่างในจุดสำคัญ จัดโต๊ะเรียนไม่เกิน 20 ตัว เว้นระยะห่าง 1.5 เมตร ทำความสะอาดห้องเรียน ก่อนเรียน พักกลางวัน หลังเลิกเรียน ปรับเปลี่ยนการเข้าแถวกลางสนาม มาเป็นหน้าชั้นเรียน เพื่อลดความแออัดของ นร.
การรับประทานอาหาร ให้ รร.จัดสถานที่ทั้งในห้องเรียนและโรงอาหาร “เหลื่อมเวลา” กัน และต้องมีฉากพลาสติกใสกั้น เว้นระยะ นร. ส่วนแม่ครัว พนักงาน ต้องใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือทุกครั้ง ที่สำคัญ รร.แต่ละแห่งต้องติดตั้ง “คิวอาร์โค้ด” แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เพื่อบันทึกการเข้า-ออก ของแต่ละบุคคลที่เข้า-ออกพื้นที่ รร.
แต่หากพบการ “แพร่ระบาด” ไม่ว่าจะเป็น รร.ใด กทม.ได้เตรียมรับ “เหตุฉุกเฉิน” 4 ระดับ 1.ถ้าห้องเรียนใดพบการระบาด ปิดทั้งห้องเรียนทันที 2.หากพบ นร.ป่วยติดเชื้อมากกว่า 1 ห้องในชั้นเรียนใด สั่งปิดทั้งชั้นเรียนทันที 3.หากพบว่ามีเด็กใน รร.ใดติดเชื้อมากกว่า 1 ชั้นเรียน ปิดรร.ทันที และ 4.ถ้า รร.ในบริเวณนั้นติดมากกว่า 1 โรง สั่งปิด รร.ทุกแห่งในบริเวณนั้นทันที
โดย รร.ในสังกัดได้ “จับคู่” โรงพยาบาล เพื่อพร้อมส่งต่อ “ผู้มีอาการเสี่ยง” ไปตรวจหรือรักษาทันที
ทั้งหมดเป็นมาตรการเข้ม รับเปิดเทอม 1 ก.ค. เพื่อป้องกันโควิด-19 ตามวิถี New normal