'ม็อบเด็ก' สะเทือนใจ 'ลุงตู่' ภาวะตกต่ำยิ่งกว่า 'ยิ่งลักษณ์'
การเกิดขึ้นของขบวนการนักศึกษา ในยุคดิจิทัลมีความน่าสนใจไม่น้อย ปฏิเสธไม่ได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมล็ดพันธุ์ที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อครั้ง รังสิมันต์ โรม ยังไม่ได้สวมสูทเข้าสภาได้หว่านเอาไว้
ในครั้งนั้น ‘โรม’ และเพื่อนได้ใช้จังหวะและกระแสของประชาชนที่เริ่มเบื่อหน่ายกับการทำงานของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ คสช. เร่งคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้ง แม้การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ‘โรม’ จะถูกมองว่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เพราะไม่สามารถพามวลชนไปถึงจุดหมายที่ตั้งใจไว้ได้ แต่ด้านหนึ่งได้สร้างแนวร่วมทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกออนไลน์ เพื่อต่อต้าน ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’
ไม่เพียงแต่ ‘โรม’ ที่จะเป็นผู้แผ้วถาง สร้างเส้นทางให้กับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเท่านั้น แต่การมาของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ และ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ หรือแม้แต่ดาวดวงใหม่อย่าง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ยิ่งทำให้มวลชนวัยใส มีจุดยึดเหนี่ยวในทางจิตวิญญาณด้วย แม้ทั้ง 3 คนจะปฏิเสธอย่างชัดเจนว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการนักศึกษาก็ตาม
หากมองย้อนกลับไปเมื่อครั้ง ‘พรรคอนาคตใหม่’ เกิดขึ้น จะพบว่าทั้งสามคนนี้ได้เน้นการทำกิจกรรมกับนักศึกษาเป็นหลัก มิเช่นนั้นคงไม่จัดประชุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เปี่ยมไปด้วยนัยทางการเมืองของขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หรือแม้แต่การสวมเสื้อเชียร์ฟุตบอลประเพณีไปเดินภายในงาน จนเกิดกระแส ‘ฟ้ารักพ่อ’ ที่แม้แต่ ‘ธนาธร’ ยังคาดไม่ถึงมาแล้ว
แต่จุดขายของทั้งสามคนที่ทำให้กลุ่มนักศึกษาจำนวนไม่น้อย ยอมพลีหัวใจเป็นแฟนคลับนั้นส่วนหนึ่งมาจากการ ‘ตั้งคำถาม’ ที่ไม่เคยมีใครตั้งก่อนมาก่อน หนำซ้ำยังเป็นคำถามที่ผู้มีอำนาจไม่สามารถให้คำตอบได้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรม การเลือกปฏิบัติจนกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการส่องไฟไปที่ ‘กองทัพ’ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของปัญหาที่ทำให้การเมืองเกิดความไม่สงบมาถึงทุกวันนี้
เมื่อคนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถาม แต่คนรุ่นเก่าไม่ยอมตอบแถมยังใช้กระบวนการบางประการที่สร้างความเคลือบแคลง จึงไม่แปลกที่ภายหลัง ‘พรรคอนาคตใหม่’ ถูกยุบจึงเกิดการรวมตัวชุมนุมของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง
การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในช่วงแรก หากไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด19ก่อน น่าคิดเหมือนกันว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน และวันนี้จะยังมีรัฐบาลที่มีนายกฯชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ แต่เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นใจเพราะเกิดการระบาดขึ้นมาเสียก่อน จึงกลายเป็นโชคดีของรัฐบาลที่ทำให้มีช่วงเวลาปลอดการเมืองพอสมควร
มาถึงจุดนี้ที่ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อ ทำให้ขบวนการนักศึกษาหรือกลุ่มขับไล่รัฐบาลที่เคยเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์จนเกิดแฮชแท็ก #MOBFROMHOME เริ่มมีจังหวะลงถนนมากขึ้น และแน่นอนว่า ‘ธนาธร’ กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาทันทีว่าเป็นท่อน้ำเลี่ยงให้ม็อบวัยใส ซึ่งธนาธรเองก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างสิ้นเชิง
ประเด็นสำคัญของม็อบนักศึกษาไม่ได้อยู่ที่จะมีธนาธรเป็นผู้สนับสนุนหรือไม่ แต่ความน่าสนใจอยู่ที่การตั้งการ์ดรับมือของฝ่ายรัฐบาลต่างหาก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามเลี่ยงจะไม่ตอบข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา ได้แต่โยนมาที่สภาฯว่ากำลังศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเลี่ยงไปเลี่ยงมาแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับสภาพที่ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เคยเผชิญหน้ากับ กปปส.ที่ตั้งข้อเรียกร้องว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง โดยยิ่งลักษณ์หลบฉากไปว่าการปฏิรูปต้องแก้กฎหมายและให้สภาเป็นฝ่ายดำเนินการก่อนที่ยิ่งลักษณ์จะทนกับแรงเสียดทานไม่ไหวจนต้องประกาศยุบสภา
ถ้าพินิจการเมืองในเวลานี้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ กลับเผชิญศึกหนักยิ่งกว่า ‘ยิ่งลักษณ์’ ด้วยซ้ำ ทั้งๆที่ม็อบนอกสภายังไม่ได้สร้างแรงกดดันแต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นเพราะความไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาลนั่นเอง
หลายต่อครั้งบรรดาส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา ซึ่งนั่นไม่ต่างอะไรกับการร่วมไล่พล.อ.ประยุทธ์ หรือแม้แต่การอภิปรายในสภาฯก็จะพบว่ามีหลายครั้งที่ส.ส.รัฐบาลอภิปรายโจมตีถึงความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา
โดยเฉพาะเมื่อม็อบมุ้งมิ้งเริ่มจุดพลุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บรรดาส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลก็เริ่มออกมากดดันให้พรรคพลังประชารัฐแสดงความจริงใจในเรื่องนี้เสียที ไม่ใช่แค่อาศัยกระบวนการของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญไปวันๆ
ดังนั้น เท่ากับว่าสนิมเนื้อในนั้นกัดกร่อนรัฐบาลยิ่งกว่ากระแสคลื่นลมข้างนอกเสียอีก ด้วยเหตุนี้เองม็อบนักศึกษาอาจบรรลุข้อเรียกร้องอย่างการยุบสภาฯได้สำเร็จโดยแทบไม่ต้องออกแรงเลยก็เป็นไปได้