เปรียบฟอร์ม 6 รัฐมนตรี เก่าไป-ใหม่มา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับปากว่า กลางเดือน ส.ค.63 จะได้ยลโฉม ครม.ชุดใหม่
ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชน ให้เร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และกู้วิกฤติโควิด-19 ถือเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ของนายกฯ ที่เลือกปรับ ครม.ด้วยตัวเอง
เมื่อการฟอร์มทีม ครม. “ประยุทธ์ 2/2” เริ่มลงตัว โผจากสื่อสำนักต่างๆ ได้คาดหมายหน้าตารัฐมนตรีไม่ต่างกันมาก “กรุงเทพธุรกิจ” จึงขอเปรียบฟอร์ม 6 รัฐมนตรี เก่าไป-ใหม่มา ว่าแต่ละคนมีกรีดี อย่างไรกันบ้าง
รองนายกรัฐมนตรี : สมคิด จาตุศรีพิทักษ์-ปรีดี ดาวฉาย
ประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจของ “สมคิด” ที่เจนจัดอยู่ในแวดวงการเมืองมานาน สร้างชื่อมาในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เคยนั่งรองนายกฯ รมว.คลัง รมว.พาณิชย์ ก่อนลาออกจากไทยรักไทยในปี 2549
ความสำเร็จของนโยบายประชานิยมในช่วงรัฐบาลทักษิณ ส่วนหนึ่งถูกมองว่ามาจากมันสมองของ “สมคิด” ผนวกกับซูเปอร์คอนเนคชั่น การดึงนักลงทุนเข้ามาประกอบธุรกิจภายในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจยุครัฐบาลทักษิณสุดเฟื่องฟู
ในปี 2558 “สมคิด” กลับมารับบทรองนายกฯ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หลังนั่งเก้าอี้ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ 1 ปี ได้ขบคิดนโยบายหลักของรัฐบาล ผลักดันบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผลักดันโครงการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น
ขณะที่ “ปรีดี” เริ่มต้นด้วยการเป็น “มือกฎหมาย” ของธนาคารกสิกรไทย จากนั้นขึ้นเป็น ผอ.ฝ่ายกิจการสาขาต่างประเทศ และวิเทศสัมพันธ์ ทำหน้าที่ Co-General Manager สาขาฮ่องกง ต่อมาได้เติบโตผ่านสายงานบริหารระดับสูง ปัจจุบันนั่งหัวโต๊ะ 6 ตำแหน่ง อาทิ ประธานกรรมการ บจ.ลีสซิ่ง กสิกรไทย ประธานกรรมการ บจ.แฟคเตอรี แอนด์ อีควิปเมนท์ กสิกรไทย ประธานกรรมการ บจ.เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ กรรมการ บจ. บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล กรรมการ บจ.เมืองไทย กรุ๊ป โฮลดิ้ง กรรมการ บจ.เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี
นอกจากนี้ “ปรีดี” เคยผ่านงานภาครัฐมาบ้าง ในฐานะที่ปรึกษาโครงการลงทุนของภาครัฐ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และร่วมเป็นคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ
รมว.คลัง : อุตตม สาวนายน-ปรีดี ดาวฉาย
อีกตำแหน่งคือ รมว.คลัง ที่คาดหมายกันว่า ปรีดี จะได้ควบ หลังจาก อุตตม สาวนายน ทิ้งเก้าอี้นี้
ย้อนไปดูประสบการณ์และฝีมือของ “อุตตม” ที่เคยเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินเอกชน ต่อมาทำงานเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กระทั่งเข้าสู่เส้นทางการเมือง จากการชักชวนของ “สมคิด” โดยเริ่มจากเป็นที่ปรึกษา รมว.คลัง และผู้ช่วย รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และขึ้นชั้น รมว.คลัง
รมว.พลังงาน : สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์-สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
ที่มาที่ไปของ “สุพัฒนพงษ์” เติบโตในสายพลังงานมาตั้งแต่เล่าเรียน โดยนั่งตำแหน่งกรรมการ/กรรมการกำกับดูแลกิจการ ใน บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) วันที่ดำรงตำแหน่งกรรมการ 25 ก.ย. 2557, 5 เม.ย. 2559 (ต่อวาระที่ 1), 5 เม.ย. 2562 (ต่อวาระที่ 2) จนลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2563 ที่ผ่านมา
ขณะที่ “สนธิรัตน์” คุมกระทรวงพลังงานครบ 1 ปี มีผลงาน ผลักดันการใช้น้ำมัน B10 จนสามารถทำให้ราคาปาล์มพุ่งสูงขึ้น รวมถึงการลดค่าครองชีพของประชาชนในช่วงโควิด-19 ทั้งการใช้ไฟฟรี คืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น
รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม : ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์-ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
แคนดิเดทกระทรวงนี้ ถูกมองว่าถูกฝาถูกฝั่ง “เอนก” คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการศึกษา เป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและคณบดี คณะรัฐศาสตร์ ในทางการเมือง “ดร.เอนก” วนเวียนอยู่หลายพรรค จนตกผลึกทฤษฎีการเมือง “สองนคราประชาธิปไตย” ที่สรุปว่า “คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯล้มรัฐบาล” มุมมองการเมือง การศึกษาของ ดร.เอนก จัดอยู่ในกลุ่มหัวก้าวหน้า
ขณะที่ “ดร.สุวิทย์” อยู่ในแวดวงการศึกษามายาวนานเช่นกัน เป็นคนริเริ่มตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ดีกรีปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐ และดร.สุวิทย์ เป็นคนจัดโครงสร้างการปรองดองในยุครัฐบาล คสช. แต่สุดท้ายแผนนี้ก็ถูกพับไว้
รมว.แรงงาน : ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล-สุชาติ ชมกลิ่น
เส้นทาง “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล เริ่มต้นจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เคยเป็น อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมสรรพากร และปลัดกระทรวงการคลัง เป็น ส.ว.ในปี 2539 เมื่อครั้งนั่งปลัดคลัง ขัดแย้งด้านนโยบายการคลังกับรัฐบาล“บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จนถูกเด้ง และตัดสินใจลาออกจากราชการ กระทั่งต่อมาได้นั่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2541 ในรัฐบาลชวน หลีกภัย และต่อมาถูกปลดกลางปี 2544 เพราะคัดค้านนโยบายด้านดอกเบี้ยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กระทั่งถูก สุเทพ เทือกสุบรรณ ดึงมานั่งหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทยและรมว.แรงงาน จนในที่สุดก็ไปกันไม่ได้
ขณะที่ “สุชาติ ชมกลิ่น” ส.ส.ชลบุรี ที่เพิ่งพ้นจากเก้าอี้ประธานส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เป็นนักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ ในนาม บมจ.อรินสิริ แลนด์ มีมากถึง 20 โครงการ และฐานสำคัญในการก้าวเข้าสู่แวดวงการเมือง มาจากความแนบแน่นกับ “บ้านใหญ่ชลบุรี”
รมช.แรงงาน : นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
เส้นทาง ศ.ดร.นฤมล จากสายการศึกษา เป็นอาจารย์สอนที่นิด้า และเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน เคยเป็นผู้ช่วย รมว.คลัง สมัย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็น รมว.คลัง กระทั่่งต่อมาถูกชักชวนร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ จนได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และลาออกมานั่งโฆษกรัฐบาล
ในช่วงการตั้งพรรค นฤมล มีบทบาทสำคัญในการช่วยเสนอแนะ และร่างนโยบายของพรรค สำหรับหาเสียง โดยเฉพาะนโยบายด้านการเกษตร มารดาประชารัฐ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี : เทวัญ ลิปตพัลลภ-อนุชา นาคาศัย
“อนุชา” เป็น ส.ส.ชัยนาท มาอย่างยาวนาน อยู่ร่วมกลุ่มสามมิตร เคยเป็น กก.บห.พรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิ 5 ปีหลังถูกยุบพรรค โดยในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ผลักดันให้ “พรทิวา” ภรรยานั่งรมว.พาณิชย์ โควตาตัวเอง
ที่น่าสนใจธุรกิจ ตระกูลนาคาศัย คือทุนใหญ่ในการขับเคลื่อนวงการกีฬา จ.ชัยนาท โดยเฉพาะสโมสรชัยนาท ฮอร์นบิล ที่โลดแล่นอยู่ในไทยพรีเมียร์ลีก
ในทางการเมือง เทวัญ ลิปตพัลลภ เป็นหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา แต่ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพี่ชายอย่าง สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ผู้มากคอนเนคชั่น “เทวัญ” เคยเป็นกก.บห.พรรคไทยรักไทย ในช่วงที่พรรคชาติพัฒนาไปควบรวม กระทั่งถูกตัดสิทธิ 5 ปีกรณียุบ พรรค “เทวัญ” ถือเป็นตัวแทนพี่ชาย แต่ก็อยู่ในสายธุรกิจครอบครัวมากมาย ตัวเลขในบัญชีที่แจ้งต่อ ป.ป.ช.เมื่อ 22 พ.ค.2562 มีทรัพย์สิน 1,190 ล้านบาท
6 ตำแหน่งรัฐมนตรีเก่าไป คงต้องรอพิสูจน์ฝีมือคนใหม่ที่จะมา ซึ่งหมายถึงการเลือกคนของ นายกฯประยุทธ์ ว่า เลือกทีมได้ถูกกับสถานการณ์หรือไม่