ฝูงบินF18 - เรือดำน้ำ อภิมหาโปรเจค 2 ยุค
รัฐบาลทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ “เรือดำน้ำ” โผล่ครบ 3 ลำ ก่อนพ้นยุค พล.อ.ประยุทธ์
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.กลาโหม ไม่สั่งถอย
“กองทัพเรือ” ต้องเดินหน้าต่อ สำหรับ โครงการต่อเนื่องการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ลำที่ 2 และ ลำที่ 3 วงเงิน ราคา 22,500 ล้านบาท ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากสังคม และพรรคฝ่ายค้าน หรือแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาล “ปชป.”ก็ไม่ยอมตกขบวน
แม้จะมีการยกวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 สมัยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นนายกรัฐมนตรี ควบรมว.กลาโหม ตัดสินใจพับ "โครงการเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์ F18 ของกองทัพอากาศ มาเทียบเคียงกับ “เรือดำน้ำ” กองทัพเรือ ที่อยู่ในช่วงประสบปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด -19 เช่นกัน... แต่ก็ไม่เป็นผล
โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ จำนวน 3 ลำ วงเงิน 36,000 ล้านบาท ที่ผ่านการอนุมัติไปแล้ว และดำเนินการจัดซื้อลำแรก งบประมาณ 13,500 ล้านบาท เมื่อปี 2560 เป็นไปตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการปกป้องอธิปไตย และผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้ง “ผิวน้ำ -ใต้น้ำ -ในอากาศ”
เช่นเดียวกับ ยุทธศาสตร์ “กองทัพอากาศ” เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในเรื่องการจัดกำลังรบทางอากาศ ที่กำหนดให้ ต้องมีเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์ขั้นต่ำ จำนวน 5 ฝูงบิน โดยในขณะนั้นมีประจำการอยู่แล้ว คือ “F16 A/B ” จำนวน 2 ฝูง และ “ F5 ” อีก 2 ฝูง ขาดเพียงฝูงเดียวเท่านั้น จึงเล็งไปที่ “F18”
จากนั้น กองทัพอากาศได้ทำโครงการจัดซื้อ “F18” จำนวน 12 ลำ วงเงิน 36,000 ล้านบาทจากสหรัฐอเมริกา พร้อมวางเงินมัดจำไปกว่า 3,400 ล้านบาท โดยผ่านการอนุมัติจากรัฐบาล “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
โครงการ F18 ของกองทัพอากาศ จัดซื้อในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือ “จีทูจี” เช่นเดียวกับ “กองทัพเรือ” แตกต่างตรงที่ F18 เป็นการลงนามแบบ “เอ็มโอยู” ในขณะที่เรือดำน้ำเป็นการลงนามแบบ “ข้อตกลง” เปรียบเหมือน “สัญญา” ที่กองทัพเรือได้แถลงไปก่อนหน้านี้
เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 รัฐบาล “บิ๊กจิ๋ว” ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้เงินบาทในขณะนั้นจากเดิมราคา 1 ดอลลาร์เท่ากับ 25 บาท กระโดดไปที่ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 48-50 บาท นั่นหมายความว่า หากยังยืนยันจัดซื้อ F18 ต้องจ่ายเงินเพิ่มเป็นสองเท่าของราคาเดิม
จึงทำให้รัฐบาล “ชวน” ที่เข้ามารับช่วงต่อในการบริหารประเทศ มีนโยบายรัดเข็มขัด และให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ปรับลดงบประมาณ จึงส่งผลให้โครงการ F18 ถูกพับเก็บ พร้อมทั้งส่งผู้แทนไปเจรจากับ “บิล คลินตัน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
จึงกลายเป็นที่มาคำพูดที่ว่า “ธรรมดา เราไม่เคยทำเคสอย่างนี้กับประเทศไหนในโลก ซื้อแล้ว วางมัดจำแล้ว แล้วมาขอยกเลิก ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์มายาวนาน จะยอมยกให้ และนี่จะเป็นครั้งแรก ครั้งเดียวที่เขาจะทำ ส่วนเงินมัดจำกว่า 3,400 ล้านบาท ความจริงแล้วต้องจ่ายค่าปรับ เพราะทางสหรัฐฯ ไม่ยอมคืนให้ แต่จากการเจรจาต่อรอง ขอใช้เงินจำนวนดังกล่าวแลกกับ เครื่องบิน F16 ADF มือสอง 1 ฝูง ที่ยังมีประสิทธิภาพในการใช้งานแทน"
การผิดสัญญา โครงการจัดซื้อฝูงบิน F18 ในครั้งนั้น ทำให้ไทย ไม่ได้รับความเสียหายมากนัก อีกทั้ง กองทัพอากาศยังสามารถเดินตามยุทธศาสตร์ เรื่องการจัดกำลังรบทางอากาศ ที่กำหนดให้ต้องมีเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์ขั้นต่ำ จำนวน 5 ฝูงบินสำเร็จ
ปัจจุบัน เครื่องบิน F16 ADF มือสอง ประจำการที่กองบิน 1 จ.นครราชสีมา และยังใช้งานได้ตามปกติ
ในขณะที่เรือดำน้ำของกองทัพเรือ แม้ประเทศจะอยู่ระหว่างประสบปัญหาเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 แต่ไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท ทุกอย่างคงอยู่ในกรอบวงเงินเดิม อีกทั้งยังเป็นโครงการต่อเนื่อง โดยลำแรกคืบหน้าไปแล้วเกือบ 50% ส่วนโรงจอดเรือดำน้ำ และอู่ซ่อมบำรุง อยู่ระหว่างก่อสร้าง ในพื้นที่กว่า 40 ไร่ ของอู่ราชนาวีมหิดล อดุลยเดช อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
หากคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณวิสามัญรายจ่ายประจำปี 2564 สภาผู้แทนราษฎร โหวตไม่ผ่านโครงการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ลำที่ 2 และ ลำที่ 3 ของกองทัพเรือ การเซ็นสัญญากับประเทศจีนในเดือนกันยายน 2563 นี้ ก็จะไม่เกิดขึ้น
และสิ่งจะเกิดขึ้นทันที เพราะ “ข้อตกลง”ต่าง ๆ ระหว่าง “กองทัพเรือ” กับทางการ “จีน” ที่มีมาก่อนหน้านี้ เช่น ราคาโปรโมชั่น ที่เปรียบเหมือน “ซื้อ 2 แถม 1 ลำ” รวมถึงสิทธิอื่น ๆ จะถูกยกเลิก และปีหน้า กองทัพเรือ ต้องตั้งโครงการ งบประมาณใหม่ และเริ่มต้นการเจรจาอีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้เสียงบประมาณมากกว่าเดิม
ดังนั้นผู้มีอำนาจในรัฐบาล จึงต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ โครงการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ลำที่ 2 และลำที่ 3 สำเร็จให้ได้ เพราะหากพลาดโอกาสนี้ “เรือดำน้ำ” อาจโผล่ไม่ครบทั้ง 3 ลำ เมื่อหมดยุค “พล.อ.ประยุทธ์”