พบเข้าข่ายผิด 16 คน ชุมนุมสนามหลวง สั่งชุดสืบสวนตรวจกล้องวงจรปิด
นครบาล พบผู้เข้าข่ายความผิด 16 คนแบ่ง 3 กลุ่ม กลุ่มผู้จัดชุมนุม-กลุ่มเชิญชวนชุมนุมและ กลุ่มคนขึ้นร่วมปราศรัยบนเวที สั่งชุดสืบสวนไล่ตรวจกล้องวงจรปิด
เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล เดินหน้าเอาผิดกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน ที่ผ่านมา ล่าสุด วันที่ 22 กันยายน พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) เปิดผยว่า การกระทำความผิดในการชุมนุมนั้นเบื้องต้นพบผู้เข้าข่ายกระทำความผิดทั้งหมด 16 คน โดยเเบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
1.กลุ่มผู้จัดการชุมนุมดังกล่าวขึ้นมาโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตตามพ.ร.บ.การชุมนุม 2.กลุ่มเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม โดยการเชิญชวนมี ทั้งที่เป็นการประกาศปราศรัยบนเวที ก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมจริงของวันที่ 19 และ 20 กันยายน รวมไปถึงการโพสต์ข้อความเชิญชวนทั้งทางตรงและทางอ้อมหรือเชิงสัญลักษณ์ใน Social Media ทุกช่องทาง
และ 3.เป็นกลุ่มคนที่ขึ้นร่วมปราศรัยบนเวที โดยในส่วนนี้อยู่ระหว่างการแกะคำพูดปราศรัย บางช่วงบางตอนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย
ขณะเดียวกัน ให้ชุดสืบสวนไล่ตรวจกล้องวงจรปิดเพื่อนำมาประกอบกับนำหลักฐานจากสื่อมวลชนที่เป็นภาพการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของกลุ่มชุมนุมควบคู่ก่อนจะรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดนำเข้าที่ประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
“ยืนยันต้องทำคดีให้ครอบคลุม ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีข้อครหาว่ากลั่นเเกล้ง โดยการทำคดีนี้ยืนยันว่าไม่ถูกกดดันจากฝ่ายใด เพียงเเต่ทำไปตามกรอบกฎหมายเท่านั้น” พล.ต.ต.สุคุณ ระบุ
ส่วนคดีความที่ทางกรมศิลปากร และสำนักงานเขตพระนครกรุงเทพมหานคร เข้าแจ้งความกับตำรวจ สน.ชนะสงคราม ตามความผิด พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 10 ห้ามไม่ให้ผู้ใดซ่อมแซมแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือถอนต่อเติมทำลายหรือเคลื่อนย้ายสิ่งใดๆภายในพื้นที่โบราณสถาน และข้อหาทำลายทรัพย์สินของราชการ นั้น พล.ต.ต.สุคุณ บอกว่า ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลจะนำรวมเป็นสำนวนคดีเดียวกัน เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ชุมนุมเดียวกัน เเละเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน ส่วนเรื่องการที่มีการนำหมุดพลาสติกมาวางแทนที่เดิมไว้นั้น ถือว่ายังไม่เข้าข่ายความผิดที่จะต้องแจ้งกับทางตำรวจ แต่อาจจะผิดในความผิด พ.ร.บ.ความสะอาด ซึ่งทางกทม.สามารถจัดการได้เอง