สัญญาณมือ ภาษาม็อบ รหัส(ไม่)ลับ แกงรัฐบาล
ปฏิบัติการ “แมวไล่จับหนู” ใน “พจนานุกรมม็อบ” ภารกิจเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กำลังพยายามแกะรอยตามให้ได้ ไล่ให้ทัน
กลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญ เมื่อเทเลแกรม “Telegram” โปรแกรมแชตใหม่ เป็นอีกช่องทางสื่อสารของกลุ่ม “ราษฎร 63” ในการนัดหมายเคลื่อนไหวชุมนุมในแต่ละวัน เมื่อเฟซบุ๊ค “เยาวชนปลดแอก” ตกเป็นเป้า ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และตำรวจยื่นฟ้องศาลเพื่อปิดเพจ
ทำให้เทเลแกรม กลายเป็น “ฐานใหม่” ของการนัดหมายชุมนุม ที่กลุ่มเยาวชนปลดแอก Free YOUTH ใช้เป็นหลัก เมื่อห้องสื่อสารของสมาชิกที่ถูกจำกัด 2 แสนคนเต็มอย่างรวดเร็วในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมงที่เปิดใช้ “เยาวชนปลดแอก” จึงต้องเปิดอีกห้องFreeYOUTH Channel เพื่อรองรับสมาชิกที่ล้นจากกลุ่มแรก จนล่าสุดห้องที่สอง มีสมาชิกมากกว่า 1.2 แสนคน
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องพยายามแฝงตัวเข้าไปสืบข่าวในพื้นที่นัดหมายของผู้ชุมนุม โดยแทรกซึมเข้าไปใน “ห้องแชท” เพื่อจับความเคลื่อนไหวของ “แอดมิน” เยาวชนปลดแอกตลอด 24 ชั่วโมง แต่ด้วยจำนวนสมาชิกที่มาจากหลากหลาย ทั้งผู้ชุมนุม แกนนำ เยาวชน สื่อมวลชน และคนทั่วไป ทำให้ไม่สามารถรู้ว่า “ใครเป็นใคร” ในห้องแชท
อีกทั้งการสื่อสารใน “กลุ่มแชท” ทั้ง 2 ห้อง ยังมี “คำศัพท์” ที่กลุ่มเยาวชนใช้สื่อสารกัน แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง จากการชุมนุมในอดีต เช่น คำเรียกตำรวจ ทหาร ที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เคยเรียกขานว่า “ตำรวจมะเขือเทศ” และ“ทหารแตงโม”
ม็อบยุค 2020 ท่ามกลางเทคโนโลยี ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทำให้เกิด “ภาษาม็อบ” ที่ตำรวจต้อง “แกะ” ความหมายจาก “คำศัพท์” และ “ศัพท์สแลง” มากมาย ที่ใช้สื่อสารกันในม็อบเยาวชนว่า รวมไปถึง “ภาษามือ” ที่ใช้สื่อสารกันระหว่างผู้ชุมนุม ในพื้นที่ที่เสียงแกนนำ และผู้ชุมนุมจำนวนมาก ไปไม่ถึงกัน
สำหรับคำศัพท์ที่ถูกใช้ใน “ดิกชันนารีม็อบ” ที่ใช้สื่อสารกันเฉพาะกลุ่มมีตั้งแต่ “แครอท” หมายถึงพระ “เบบี้แครอท” หมายถึง เณร “หัวไชเท้า” หมายถึง แม่ชี “เบบี้คริสตัล” หมายถึง กลุ่มผู้ชุมนุม
“บร็อคโคลี่” หมายถึง ทหาร “มอคค่า” หมายถึง ตำรวจชุดสีกากี “โอเลี้ยง”หมายถึง ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน “อโวคาโด” หมายถึงนักศึกษาวิชาทหาร (ร.ด.)
“โอยัวะ” หมายถึงรถควบคุมฝูงชน หรือฉีดน้ำผสมสีฟ้า ขณะที่ “Smurf” ตัวการ์ตูนชื่อดัง ถูกนำมาเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกรถน้ำสีฟ้า ฉีดเข้าใส่ในช่วงการสลายชุมนุม 16 ตุลาคม 2563
นอกจากนี้ ยังกำหนดคำว่า “รถเข็นขายลูกชิ้น” หรือ CIA หมายถึงหน่วยข่าวเคลื่อนที่เร็ว ส่วน “นาตาชา-โรมานอฟ” หมายถึงสายลับ
“แกง”หมายถึง การแกล้ง การหลอก โดยเฉพาะคำพิเศษ “แกงเทโพ” คือ แกงหมายถึงแกล้ง “เท” หมายถึงทิ้ง และ “โพ” หมายถึงPolice เพื่อหลอกตำรวจว่า จะไปสถานที่หนึ่ง แต่นัดไปอีกสถานที่หนึ่ง
“มะเขือเทศ” หมายถึงยมบาล “ข้าวโพดดิบ” หมายถึงเสื้อเหลือง “เกียม” หมายถึงเตรียมความพร้อม
นอกจากนี้ กันยังมีคำว่า “มินเนียน” อีกหนึ่งตัวการ์ตูนชื่อดังสีเหลือง ถูกนำไปเปรียบเทียบกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ที่ตัดผมเกรียน แต่ใส่เสื้อสีเหลือง
“ลูกชุบ” หมายถึงดารานักแสดงโหนกระแสอยากชุบตัว หลังจากเคยร่วมชุมนุมกับ กปปส.เมื่อปี 2556
“โดเรมอน” หมายถึง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” แกนนำคณะก้าวหน้า ซึ่งเคยใส่เสื้อคลุมสีน้ำเงินไปร่วมชุมนุมมาแล้ว “โดนัล Dumb” หมายถึงชายสูงอายุที่มีนิสัยก้าวร้าว
ขณะที่ “ภาษามือ” ซึ่งเป็นอวัจนภาษา ที่เรียนรู้เพื่อใช้สื่อสารกันระหว่างมวลชน ที่มาชุมนุมจำนวนมาก โดยไม่มีแกนนำควบคุมการชุมนุม และสื่อสารด้วยเสียงได้ยากลำบาก จึงมีตั้งแต่ การชูมือเหนือศรีษะ แล้วใช้ปลายนิ้วทั้งสองด้านมาประกบชิดกัน หมายถึงต้องการ “ร่ม” หรือการใช้มือทั้งสองข้างจิ้มลงไปที่ศรีษะ หมายถึงต้องการ “หมวก”
ส่วนสัญลักษณ์ การยกแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศรีษะ แล้วไขว้กัน หมายถึง “อันตราย” การยกมือสองข้างขึ้นเหนือศรีษะ แล้วใช้นิ้วชี้ไขว้กัน หมายถึง “ไม่ได้ยิน” การชี้นิ้วเหนือศรีษะ แล้วหมุนวน หมายถึง “ให้วิ่งหนี” อาจมีการสลายชุมนุม
การยกมือข้างใด ข้างหนึ่งขึ้นเหนือศรีษะ แล้วใช้นิ้วกลางไขว้ทับบนนิ้วชี้ หมายถึง “มีคนถูกทำร้าย บาดเจ็บ” การมือมือเป็นสัญลักษณ์OK แปลว่า “ปลอดภัย”
การทำนิ้วมือเป็นวงกลมหมายถึง “แว่น” หรือการชูนิ้วก้อยขึ้นหนึ่งนิ้ว หมายถึง “น้ำ” และการชูนิ้วชี้และนิ้วก้อยหมายถึง “อาหาร”
ไม่ใช่แค่นั้น รอบพื้นที่การชุมนุม จะมี “วินมอเตอร์ไซค์” คอยบริการรับส่งกลุ่มมวลชนที่จะเดินทางมาชมนุมหรือเดินทางกลับบ้าน ซึ่งจะเป็น “หน่วยข่าวกรองแรก” คอยอัพเดทข่าวสารความเคลื่อนไหวของตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยควบคุมฝูงชน ว่าเคลื่อนขบวนมาใกล้พื้นที่ชุมนุมแล้วหรือไม่
ที่รวบรวมมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งปฏิบัติการ “แมวไล่จับหนู” ใน “พจนานุกรมม็อบ” ที่มาจาก “ราษฏร 63” อีกหนึ่งที่ภารกิจเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กำลังพยายามแกะรอย ตามให้ได้ ไล่ให้ทัน