'วิษณุ'ยันกระบวนการ'แก้รธน.'ในสภาไม่สะดุดแม้ศาลรับตีความปม'ส.ส.ร.'
"วิษณุ" เผย "ส.ส.-ส.ว." ยื่นตีความ "ร่างรธน." ปม ตั้ง "ส.ส.ร." ไม่ทำกระบวนการแก้สะดุด แม้ศาลรับเรื่อง ชี้ ทำตอนนี้ประหยัดเวลา 1 เดือน แย้ม มีโอกาสที่ "ศาล" จะไม่รับ เพราะเรื่องยังไม่เกิด
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ ส.ว. จำนวนหนึ่งเข้าชื่อเสนอสภาเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างรัฐธรรมนูญกรณีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า เรื่องนี้พูดยาก เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของส.ส. ไม่ใช่ของรัฐบาล หากส.ส.และ ส.ว.สงสัย จะยื่นตีความ พูดในหลักการแล้วอย่าทำให้กระบวนการสะดุด และเท่าที่ดูก็ไม่สะดุดก็ทำไป เพราะเขาถือว่าไม่ทำตอนนี้ก็ทำในอนาคตต่อไปแล้วอาจจะสายเกินแก้ หรือจะมีความเสียหายเช่นทำประชามติแล้วจะยิ่งแย่กว่านี้
นายวิษณุ กล่าวว่า ตนเดาว่าเขาอาจมีเจตนาดี ไม่วันใดวันหนึ่งมันก็ต้องส่งอยู่แล้ว การส่งตอนนี้อาจจะประหยัดเวลามากกว่า เพราะมันเป็นภาคบังคับถ้าออกเสียงประชามติเสร็จแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ระบุว่าหากมีสมาชิกรัฐสภา สงสัยมีสิทธิ์เข้าชื่อให้ศาลวินิจฉัยภายใน30 วัน หากส่งตอนนี้อาจจะประหยัดเวลา1 เดือนนั้นไป ถึงตอนนั้นอาจจะไม่ต้องส่งก็ได้ ดังนั้นหากมีอะไรตอนนี้ยังแก้ไขได้ทัน เป็นการกันไว้ดีกว่าแก้ ภายใต้ข้อแม้ ไม่ให้สะดุด เพราะวันที่17-18 พ.ย. มีการโหวต วาระ1 หากผ่านก็ตั้งกรรมาธิการใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และ หากในเวลาดังกล่าวเขาส่งศาลรัฐธรรมนูญสำเร็จเรื่องก็ไปอยู่ในศาล หากศาลบอกไม่ขัดก็หมดเรื่องกระบวนการก็เดินหน้า โดยไปรอกระบวนการทำประชามติ แต่ต้องรอ พ.ร.บ.ประชามติ ใช้บังคับ คาดว่าเป็นเดือนก.พ. ปีหน้า และยืนยันหากศาลรับเรื่องไว้กระบวนการในรัฐสภาก็ไม่หยุด
นายวิษณุ กล่าวว่า ยืนยันรัฐบาลผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยก็ฉบับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่กล้าพูดถึงร่างฉบับอื่น
เมื่อถามว่า มีโอกาสหรือไม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับพิจารณา เพราะเรื่องยังไม่เกิดขึ้น นายวิษณุ กล่าวว่า ก็มีโอกาส เพราะเขายื่นตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 31 ไม่จำเป็นต้องเป็นความขัดแย้ง เป็นเรื่องสงสัยในอำนาจหน้าที่ของสภาฯ มีเยอะแยะไปที่ศาลไม่รับ ที่ผ่านมารัฐบาลเคยส่งไปหารือก็ไม่รับ ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ ศาลบอกว่าเรื่องยังไม่เกิดศาลไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมาย ถ้าอยากทราบก็ต้องไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกา
เมื่อถามว่า คาดการณ์ไว้หรือไม่ว่านอกจากประเด็นเรื่องตีความประเด็น ส.ส.ร.แล้ว จะมีการยื่นตีความว่าการทำประชามติ ควรจะมีก่อนหรือหลังรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ร่างที่เขายื่นตอนนี้มีประเด็นดังกล่าวด้วย เพราะหากถามแค่ตั้งส.ส.ร.หรือไม่ ศาลคงไม่รับ