"กมธ." ยกบทเรียน รัฐธรรมนูญปี 2540 เทียบ ทำใหม่ทั้งฉบับ โดย "รัฐสภา" เห็นชอบ

"กมธ." ยกบทเรียน รัฐธรรมนูญปี 2540 เทียบ ทำใหม่ทั้งฉบับ  โดย "รัฐสภา" เห็นชอบ

กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ ยกความเห็นวิชาการ ชี้แก้ทั้งฉบับทำได้ แต่รัฐสภาต้องเห็นชอบ "เสรี" ชี้ปัญหารัฐธรรมนูญสร้างแตกแยก แนะทางแก้ ไม่ก้าวล่วง-ล้อเลียน สถาบัน

      เมื่อเวลา 12.22 น. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะกมธ. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 6 ฉบับก่อนรับหลักการ รัฐสภา ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภา ว่า การแก้ไขรัฐธรรรมนูญ ทั้งฉบับโดย ส.ส.ร. นั้น ตามความเห็นทางวิชาการ ของนายสมคิด เลิศไพทูรย์ อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่าสามารถทำได้ แต่ต้องอาศัยความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาก่อน เหมือนกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่มีข้อเสนอต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะที่การออกเสียงประชามตินั้น ทางกมธ.เห็นว่าตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ นั้นกำหนดไว้ชัดเจนว่าให้ทำหลังจากรัฐสภาลงมติผ่านวาระสามแล้ว

      ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ฐานะ กมธ. อภิปรายชี้แจงว่า เหตุผลที่กมธ.ฯ ไม่สรุปความเห็นเป็นทิศทางเดียวกัน เพราะเป็นการทำงานที่ลำบาก เนื่องจากมีบางฝ่ายไม่เข้าร่วม ขณะที่มีความเห็นที่แตกต่างกันของ ส.ว. ดังนั้นการทำงานต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนไทยและประเทศ ทั้งนี้การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบัน พบว่าสร้างความแตกแยก แบ่งฝ่ายและต่อสู้กันของคนในสังคมไทย ซึ่งเชื่อว่าบรรยากาศดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นการแก้ปัญหาให้สงบเรียบร้อย เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา ส่วนกรณีที่มีสมาชิกรัฐสภา เข้าชื่อ70คนเพื่อยื่นญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเบื้องต้นต่อต่ออำนาจของสาชิกรัฐสภา ต่อการทำรัฐธรรมนูญใหม่ นั้นถือเป็นความหวังดี

      “หากมีรัฐธรรมูญฉบับใหม่ไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม ไม่ควรก้าวล่วงสถาบัน ควรเคารพเทิดทูน และทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งประเทศว่า อย่าสร้างปัญหาความแตกแยก ต้องให้สถาบันอยู่นอกการเมือง ไม่ล้อเลียน เพราะจะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ” นายเสรี กล่าว

160559585115

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ยังมีเนื้อหาที่ซักถามต่อประเด็นที่เป็นเหตุผลอ้างอิงต่อการนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับว่ามีความต้องการอย่างไร โดยเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา

      ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แจ้งกับที่ประชุมว่า วาระพิจารณารายงานของกมธ.ฯ ไม่มีการลงมติ เพราะเป็นเพียงการรับทราบรายงานเท่านั้นและเมื่อหมดผู้อภิปรายจะเข้าสู่วาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับของประชาชน.