การเมือง
ส่องภารกิจ “ชวน” ที่มากกว่า “ประธานรัฐสภา”
กระแสเรียกร้องให้ "บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์" ออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ที่ถูกจับตาหนักๆ ในวันยิ่งใกล้ตัดสิน คดีพักบ้านหลวง คนที่ถูกมองถึงการรับช่วง "นายกฯ" ต่อไป คือ คนที่มากบารมีและสังคมยอมรับ เพื่อพาประเทศออกจากวิกฤตขัดแย้ง
ชั่วโมงนี้ คอการเมืองต้องไม่พลาดการตัดสินคดีสำคัญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมออกบัลลังก์ พิพากษา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีฝ่าฝืนข้อห้ามของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
มาตรา 184(3) ที่ห้ามให้รัฐมนตรีรับเงินหรือประโยชน์อื่นใดจากหน่วยราชการ เป็นพิเศษ นอกเหนือจากที่หน่วยงานปฏิบัติต่อบุคคลอื่นในธุรกิจการงานปกติ และโยงเข้าากับมาตรา 160 (5) ที่ว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรีที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
มูลเหตุนั้น คือ การเข้าพักทหาร ในบ้านพักกรมทหารราบที่1 รักษาพระองค์ ตั้งอยู่ ถ.วิภาวดีรังสิต ทั้งที่เกษียรอายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ตั้งแต่ วันที่ 30 กันยายน 2557 โดยไม่เสียค่าเช่าใดๆ
ไม่ว่าคำตัดสินของคดี “บิ๊กตู่” จะออกมาเป็นอย่างไรกระแสทางการเมืองอีกด้าน กำลังจับตา “บุคคคล” ที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
เพราะไม่เพียงปัจจัยทางกฎหมาย - รัฐธรรมนูญ ที่เป็นจุดให้คิดเท่านั้น
ยังมีปัจจัยของสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง ที่มี “ม็อบคณะราษฎร พร้อมแนวร่วมกลุ่มเยาวชน” และตอนนี้มี “ม็อบคนเสื้อแดง” ร่วมเป็นพลังขับไล่ “พล.อ.ประยุทธ์” พ้นจากอำนาจ ที่นับวันจะยกระดับ ที่อาจนำไปสู่ความจราจลในบ้านเมือง
หลายฝ่ายจึงมองว่า นี่คือ ปัจจัยที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ควรลงจากบัลลังก์อำนาจ
สำหรับบุคคลที่อาจจะเข้ามาเป็นนายกฯ คนต่อไป หากดูตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ คือ คนที่อยู่ในบัญชีที่พรรคการเมือง สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคนั้นต้องมี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 คน
ตอนนี้มีอยู่ 5 คน จาก 3 พรรคการเมือง คือ พรรคภูมิใจไทย คือ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค
พรรคประชาธิปัตย์ คือ “อภิสิทธิ เวชชาชีวะ” สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
พรรคเพื่อไทย คือ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์, ชัยเกษม นิติศิริ, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”
แต่หากพิจารณาเงื่อนไขประกอบที่ “ม็อบคณะราษฎร” เรียกร้อง คือ นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.
ดังนั้นสิทธิที่มี คงหนีไม่พ้น “อนุทิน” เพียงหนึ่งเดียว
แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมือง ที่ ส.ว.ร่วมลงมติเลือกด้วย ทำให้ผู้ที่จะได้รับตำแหน่งนายกฯ ต้องได้เสียงเกิน 366 เสียง คือ เกินกึ่งหนึ่งจากสมาชิกทั้งหมดของรัฐสภา ที่ปัจจุบันมี 732 คน
หากนับเฉพาะ ส.ส.ร่วมรัฐบาล ตอนนี้ที่มี 275 คน ขณะที่ส.ส.ร่วมฝ่ายค้าน 211 คน และ ฝ่ายค้านอิสระอีก 1 คน
เสียงที่ต้องหาให้ได้จากฝั่งส.ว. ต้องมีเกิน 90 คะแนนขึ้นไป!!
แต่เงื่อนไขของ คนรับตำแหน่งต่อ ไม่ได้อยู่ที่เสียง เพราะมีเงื่อนไขที่ ทำยังไงเรื่องวุ่นก็ไม่จบ
ดังนั้นอีกทางที่ถูกพูดถึงคือ “นายกฯ คนนอก...บัญชีรายชื่อพรรคการเมือง”
และเป็นผู้ที่สังคมยอมรับ และ มากบารมีทางการเมือง
ชื่อหนึ่งที่ถูกพูดถึงคือ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน
ด้วยบทบาททางการเมืองที่ผ่านมา และประสบการณ์ทางการเมือง ทำให้ชื่อชั้น เป็นที่ยอมรับจากสังคมวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ “ชวน หลีกภัย” ยังไม่มีท่าทีใดชัดเจนมากนัก
แต่ยังพอจะมีให้เห็น ผ่านคำตอบ เมื่อถูกถามถึง การรับตำแหน่ง ประธานกรรมการสมานฉันท์ เพื่อหาทางออกจากวิกฤตขัดแย้ง และคนที่จะรับบทนำ ควรเป็นผู้มากบารมี ที่ว่า "สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ จึงอาสาเข้ามาทำ แต่ยังไม่ใช่ตำแหน่งประธานกรรมการ”
แต่จากการปฏิบัติหน้าที่ของ ประธานรัฐสภา ซึ่งควบกับ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
คือ ปฏิบัติการ ล่องใต้ โดยรถยนต์ประจำกาย ปฏิบัติภารกิจ และแวะเยี่ยมประชาชนในหลายพื้นที่
เร่ิมตั้งต่ วันที่ 19 พฤศจิกายน เช้า แวะ รพ.ผู้สูงอายุวัดตาลเจ็ดยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคิรีขันธ์, บ่าย แวะ จ.ชุมพร และเย็น แวะตลาด จ.ระนอง, วันที่ 20 พฤศจิกายน เช้า แวะ จ.พังงา บ่าย แวะ จ.กระบี่, วันที่ 21 พฤศจิกายน เปิดบ้านพักที่ จ.ตรัง ให้ประชาชนเข้าเยี่ยมและฟังความเดือดร้อนประชาชน บ่าย เยี่ยมศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง
และ วันที่ 23 พฤศจิกายน แวะเยี่ยมผู้ค้าตลาดโต้รุ่ง จ.นครปฐม ระหว่างปฏิบัติภารกิจในจ.นครปฐม
ทำให้นึกถึงภาพ สมัยที่ “นายหัวชวน” มีหัวโขนเป็น “นายกรัฐมนตรี” เมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ยังเช็คกระแสตัวเองและกระแสพรรค อยู่เป็นระยะ
หาสถานการณ์การเมือง ดันข้อเรียกร้องให้ เปลี่ยนตัว นายกฯ ปัจจุบันเกิดขึ้น
การตอบรับ “นายกฯคนนอกบัญชี” และ มากบารมี อย่าง “ชวน” คงยากที่ฝ่ายใดจะปฏิเสธ.