เดจาวู ‘2 ธันวา’ ‘ประยุทธ์’ รอดหรือร่วง
2ธ.ค.ซึ่งถูกมองว่าเป็นวันอาถรรพ์ ของ"อดีตนายกสมชาย" จะกลายเป็นวันอาถรรพ์ของ "นายประยุทธ์" หรือไม่ต้องจับตา?
อีกไม่กี่อึดใจเราจะได้รู้กันว่า ที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคดีบ้านพักหลวงของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกมาในทิศทางใด
แนวโน้มคำวินิจฉัยวันนี้ออกได้2ทางคือ “วินิจฉัยยกคำร้อง” ของ56ส.ส.พรรคเพื่อไทย พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความผิด ตามเหตุผลที่ทางฝั่งกองทัพชี้แจงทั้งประเด็นพล.อ.ประยุทธ์พักอาศัยใน “บ้านพักรับรอง” ไม่ใช่ “บ้านพักสวัสดิการ”
ตาม“ระเบียบกองทัพ” เปิดช่องให้ “ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ” เช่น นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และองคมนตรี ยังสามารถอาศัยอยู่ได้
ส่วนประเด็นคาใจเรื่องค่าน้ำ-ค่าไฟ ซึ่งอาจถูกตีความว่า เป็นการรับเงินหรือประโยชน์อื่นใดจาก หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ ประเด็นนี้มีการอ้างระเบียบ ที่ให้กองทัพบกพิจารณาความเหมาะสมในการสนับสนุนงบประมาณในส่วนดังกล่าวได้ ยังไม่นับรวมเหตุผลในเรื่องในการรักษาความปลอดภัยให้กับ“ผู้นำประเทศ”
แต่หากศาลมี “คำวินิจฉัยเป็นลบ” คือ พล.อ.ประยุทธ์มีความผิดฐาน “รับเงิน”
หรือ “ประโยชน์ใดๆ” จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 184 และมาตรา 186 ของรัฐธรรมนูญ
ความผิดฐาน “รับทรัพย์สิน” หรือ “ประโยชน์อื่นใด” ที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 128 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมทั้ง
ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองปี 2561 นั่นหมายถึงทั้ง “พล.อ.ประยุทธ์” และคณะรัฐมนตรีจะต้องพ้นตำแหน่ง คงสถานะเพียงแค่ “รักษาการ” เท่านั้น
หากเปิดดูบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 จะพบว่า การเลือกนายกฯจะมาจาก 2 ส่วนคือ ในขั้นแรก คือการเสนอชื่อตามบัญชีของพรรคการเมือง ตามมาตรา 88 ซึ่งแต่ละพรรคที่ยื่นต่อกกต. ในวันสมัครรับเลือกตั้ง
โดยใช้เสียงจาก2สภาคือส.ส.และส.ว.รวมกันเกินกึ่งหนึ่งหรือตั้งแต่366เสียงจากสมาชิก ณ ปัจจุบัน 732 คน
แต่หากไม่อาจแต่งตั้งนายกฯจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองไม่ว่าด้วยเหตุใดยังมีขั้นที่2 คือ การเลือกนายกฯคนนอก ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 วรรคสอง ซึ่งไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ488 เสียง ในการยกเว้นการเสนอชื่อตามข้อแรกก่อน จึงเข้าสู่ขั้นตอนโหวตเลือกนายกฯ
ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะบรรดาพรรคการเมืองคงไม่ยอมปล่อยให้รายชื่อนายกฯพรรคตัวเอง ทั้ง อนุทิน ชาญวีรกูล,อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ,คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ หลุดลอยไป
ประเด็นนี้มีการเทียบเคียงกับกรณีของ “สมัคร สุนทรเวช” ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐธรรมนูญแต่ไม่ต้องเว้นวรรคทางการเมือง
ซึ่งหากเป็นไปในแนวทางนี้ นั่นหมายความว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ยังอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ และมีสิทธิในการถูกเสนอชื่อกลับมาอีกครั้ง
ทว่าประเด็นนี้ ยังมีข้อโต้แย้งจากอีกมุมหนึ่งที่มองว่า หากศาลวินิจฉัยเป็นลบจริงพล.อ.ประยุทธ์ จะถือว่า ขาดคุณสมบัติมาตรา160 ซึ่งระบุว่า ต้องไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุกระทําการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือ มาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึง 2 ปี นับถึงวันแต่งตั้ง
หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี
แต่ทั้งนี้คงต้องไปลุ้นคำวินิจฉัยศาลที่จะออกมาที่ถือว่า “เป็นที่สิ้นสุดมีผลผูกพันธ์ทุกองค์กร”
นอกจากนี้ มีการหยิบโยงว่า “2ธ.ค.” เป็นวันอาถรรพ์และเดจาวูของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะนอกเหนือจากเป็นวันชี้ชะตา “พล.อ.ประยุทธ์” แล้ว หลายคนคงจำได้ว่า วันนี้เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ยังเป็นวันศาลมีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน และเป็นวันชี้ชะตานายกฯที่ชื่อ “สมชาย วงสวัสดิ์” หลุดตำแหน่ง จนถูกเรียกว่าเป็นนายกฯนอกทำเนียบหลังรับตำแหน่งได้เพียง70กว่าวัน
นำมาสู่การยติชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯในขณะนั้น และถูกมองว่าเป็นจุดพลิกที่นำไปสู่การคลี่คลาย “วิกฤติการเมือง” ณ ขณะนั้น
12ปีผ่านไปบริบทการเมืองวันนั้นจนถึงวันนี้มีส่วนที่เหมือนกันอยู่ตรงที่ “การชุมนุมทางการเมือง” ดังนั้นไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาในทิศทางใด พล.อ.ประยุทธ์ “รอด” หรือ “ร่วง”? ย่อมส่งผลถึงการเมือง ณ ขณะนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!