‘เยาวชนปลดแอก’ แตกแถว คว้าค้อนเคียว มุ่งเลี้ยวซ้าย
"กลุ่มราษฎร" ที่ประกอบขึ้นด้วยแกนนำกลุ่มต่างๆ กำลังเผชิญสถานการณ์ที่อาจกระทบต่อขบวนการเคลื่อนไหวต่อไป เมื่อมุมมองความคิดเห็น แตกกันไปกันคนละทิศละทาง
นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มราษฎร” ที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ให้ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และเท่าเทียม ด้วยการชูธง 3 ข้อคือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี 2.ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ2560 ให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3.ปฏิรูปสถาบัน
การออกมาชุมนุมเรียกร้องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ถือว่าเข้มข้นในเชิงเนื้อหา และมุมมองการแสดงออกที่เรียกว่า “ทะลุเพดาน” แต่แล้วเมื่อมาถึงจุดหนึ่ง ทางกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” หรือ “Free Youth” กลับจุดพลุเรื่อง “สาธารณรัฐ” หรือ “คอมมิวนิสต์” ขึ้นมา พร้อมกับใช้สัญลักษณ์ค้อนเคียว กระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของชนชั้นแรงงาน
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อเสนอดังกล่าวของ “เยาวชนปลดแอก” สร้างความสับสนในจุดยืนต่อแนวร่วมเป็นอย่างมาก เนื่องจากย้อนแย้งกับแนวทาง “กลุ่มราษฎร” อย่างชัดเจนที่ตั้งเป้าเรื่อง“ประชาธิปไตย”
ส่งผลให้ “พริษฐ์ ชิวารักษ์” หรือ “เพนกวิน” และ “ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” หรือ “รุ้ง” ออกมาประกาศชี้แจงทำความเข้าใจกับแนวร่วมว่า ตัวเองไม่ได้อยู่กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” แต่อยู่กลุ่ม“แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ที่แรกเริ่มเดิมทีเป็นหน่วยกล้าตาย ลุกขึ้นประกาศ 10 ข้อเสนออันสะเทือนเลือนลั่น
โดย “เพนกวิน” ได้ย้ำว่า ข้อเสนอของ “เยาวชนปลดแอก” ไม่ใช่มติของ “กลุ่มราษฎร” และยังยึดมั่นการต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตย”
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนที่จะมีการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ เป็น “คณะราษฎร” ทาง “เยาวชนปลดแอก” และ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ต่างมีแนวทางการขับเคลื่อนเป็นของตัวเอง มีช่องทางการสื่อสารอันทรงพลังผ่านโซเชียลมีเดีย เคลื่อนไหวเรียกร้องจน “รัฐบาล” ตอบสนองในเรื่องการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ”
ในช่วงนั้นเอง ก็มีเสียงซุบซิบมาตลอดว่า แกนนำของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ” และ “เยาวชนปลดแอก” มีความเห็นในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว ไม่ค่อยลงรอยกัน มาอย่างต่อเนื่อง มีการพูดกันถึงขั้นว่า บางคนพยายามบล็อกอีกคนไม่ให้มีบทบาท
ทว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อภาพใหญ่ในการเคลื่อนไหว เมื่อสถานการณ์ถึงจุดที่ต้องจับมือร่วมกันสู้ พวกเขาก็สามารถจูนกันได้สำเร็จ เห็นได้จากการมี “กลุ่มราษฎร” การแจ้งกำหนดนัดหมายชุมนุมแต่ละครั้ง ผ่านช่องทางการสื่อสารในโลกออนไลน์ของทั้ง “เยาวชนปลดแอก” และ“แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ” มีทิศทางสอดคล้องต้องกัน
จนเมื่อการชุมนุมผ่านมาระยะหนึ่ง ภาพที่ปรากฎ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยต่างจับสังเกตและลงความเห็นว่า “ม็อบ” กำลังแผ่วบ้าง กำลังฝ่อบ้าง หรือพยายามขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องเพราะหาทางลงไม่ได้บ้าง แต่ทางแกนนำและผู้ชุมนุมก็ยืนกรานว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น
“กลุ่มราษฎร” พยายามหาแนวทางการเคลื่อนไหวใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อดึงแนวร่วมให้ออกมาบนท้องถนนเท่าที่จะมากได้เหมือนในตอนชุมนุมแรกๆ
กระทั่งถึงจุดหนึ่ง “เยาวชนปลดแอก” เลือกคว้าค้อนเคียว เปิดตำราฝ่ายซ้ายขึ้นต่อสู้ พร้อมกับค่อยๆ เบนเข็มออกห่างจากการต่อสู้เรียกร้อง “ประชาธิปไตย”
หรือนี่จะเป็นกลยุทธ์ที่ไร้กลยุทธ์ของ “กลุ่มราษฎร” ที่เริ่มเจอข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว จนต้องหาประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อจะได้มีหนทางไปต่อ
หรือ “เยาวชนปลดแอก” อาจกำลังแตกแถวจาก “กลุ่มราษฎร” มุ่งไปในแนวทางของตัวเอง
ท่ามกลางความสงสัยว่า “ม็อบ” จะเอาอะไรกันแน่ ระหว่าง “ประชาธิปไตย” หรือ “คอมมิวนิสต์” และสถานการณ์เช่นนี้ อาจจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวในจังหวะถัดไปไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอารมณ์ร่วมของมวลชน