กมธ.ปลดล็อก“รัฐธรรมนูญใหม่” เปิดฉบับปรับแก้ฝ่ายการเมือง
ถนน แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกขนานามว่า แก้ยากมาก เดินมาสู่จุดที่เรียกว่า ใกล้สำเร็จ หลัง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ที่มีทั้ง ฝ่ายค้าน และ ฝ่ายรัฐบาล เห็นพ้องในสาระและเตรียมส่งให้รัฐสภา พิจารณาปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้
“รัฐธรรมนูญ” กฎหมายสูงสุดที่กำหนดกติกาการอยู่ร่วมกัน ได้กลายเป็นชนวนความขัดแย้งในสังคม ไม่เฉพาะฝ่ายการเมืองแต่ยังลามไปถึงประชาชน โดยเฉพาะทีมผู้นำรัฐบาลจากคณะรัฐประหาร ถูกกล่าวหาว่าเปลี่ยนกติกาใหม่เพื่อสืบทอดอำนาจ จนหลักการประชาธิปไตยถูกตั้งคำถามอย่างหนัก นำไปสู่การชุมนุมที่ตั้งเงื่อนไขต้องแก้รัฐธรรมนูญ
ปัญหานี้จึงไม่สามารถซุกไว้ใต้อำนาจรัฐบาลได้อีกต่อไป กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญจึงเริ่มต้นขึ้น และมาถึงจุดนี้
คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) รัฐสภา ที่มี วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกรรมาธิการทำงานใกล้เสร็จสิ้น โดยเหลือการประชุมของกรรมาธิการอีก 1 ครั้งในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ก่อนเชิญสมาชิกรัฐสภาที่เสนอคำแปรญัตติทั้ง 109 คนมาชี้แจงรายละเอียด จากนั้นจึงสรุปเนื้อหาทำเป็นรายงานเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุระเบียบวาระวันที่ 24 - 25 กุมภาพันธ์ เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาในวาระสอง
สำหรับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข มีข้อปรับปรุงซึ่งใช้การลงคะแนนตัดสิน สำหรับสาระสำคัญที่ปรับปรุงจากเนื้อหาหลัก ตามฉบับแก้ไขของกลุ่ม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล มีดังนี้
หมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าด้วยการให้มี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้ง บทสรุปให้มี ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยประเด็นนี้ กมธ.ฯ ได้พิจารณาถกเถียงกันอย่างยาวนาน กว่า 3 ชั่วโมง ก่อนจะสรุปเป็นความเห็นพ้อง
สาระที่ถกเถียงคือการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ว่าจะใช้เขตจังหวัดตามความเห็นของ ส.ส.ฝ่ายค้าน เขตประเทศตาม กมธ.ซีกของพรรคก้าวไกลเสนอ หรือแบบแบ่งเขตตามที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐเสนอ
เสียงส่วนใหญ่ เห็นพ้องว่าการใช้เขตจังหวัดจะสกัดการซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้ รวมถึงขจัดอิทธิพล-มาเฟียได้
ส่วนคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ร.ยืนตามเนื้อหา ให้สิทธิ์บุคคลอายุ 18 ปีลงเลือกตั้งได้ ส่วนลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะลงสมัครเป็นส.ส.ร. ยกรัฐธรรมนูญมาตรา 98 มาบังคับใช้ พร้อมทั้งห้ามเป็นข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรี
หลักเกณฑ์ของการกำหนดจำนวนของ ส.ส.ร.ในแต่ละจังหวัดพึงมี ยึดเกณฑ์จำนวนประชากรปีที่เลือกตั้งส.ส.ร. หารด้วยจำนวน ส.ส.ร. กรณีจังหวัดใดมีประชากรน้อยกว่าสัดส่วนที่หารแล้ว จะให้ถือว่ามี ส.ส.ร. ได้หนึ่งคน ส่วนจังหวัดใดที่มีประชากรมาก และมีส.ส.ร.ได้เกิน 1 คน จะใช้หลักไล่คะแนนสูงสุด ไปจนถึงลำดับที่มีส.ส.ร.ในจังหวัดนั้น
กรอบเวลาการเลือกตั้ง ส.ส.ร.กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องดำเนินการเลือกตั้งภายใน 90 วัน ขณะที่รายละเอียดอื่นๆ สำคัญ เช่น การเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร กกต.ต้องจัดให้ผู้สมัคร ส.ส.ร. ได้แนะนำตัวอย่างเท่าเทียม ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้ใช้มาตรา 95 และมาตรา 96 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
การออกเสียงเลือกตั้งต้องโดยตรงและลับ เลือกได้เพียง 1 คน ทั้งนี้จะลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้ใดก็ได้
กำหนดอำนาจ กกต. ออกหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งส.ส.ร. ได้ เมื่อเลือกตั้งเสร็จ กกต.ต้องประกาศผลภายใน 15 วัน
ส่วนการจัดทำรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. มีสาระสำคัญคือทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 240 วัน
สำหรับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดให้มีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตามที่ฝ่ายค้านเสนอ แต่เห็นพ้องกันว่า เป็นอำนาจของ ส.ส.ร. ที่จะกำหนดและพิจารณาตั้งกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ ทำหน้าที่ จึงกำหนดให้นำรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ว่าด้วยการตั้งกรรมาธิการ และระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการประชุมรัฐสภามาบังคับใช้โดยอนุโลม
กำหนดให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ต้องรับฟังความเห็นของประชาชน คณะรัฐมนตรี ส.ส. วุฒิสภา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีข้อกำหนดที่เป็นบทบังคับ คือ ต้องฟังความคิดเห็นประชาชนในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง
หลังการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ กำหนดให้ส.ส.ร.นำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อให้อภิปรายแสดงความคิดเห็น โดยไม่มีการแก้ไข หรือลงมติชี้ขาด จากนั้นให้ส่งให้กกต.ดำเนินการออกเสียงประชามติ ภายใน 90 วัน
สำหรับผลการประชามติ หากเห็นด้วยให้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่หากผลประชามติตรงกันข้าม จนเป็นผลให้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ส.ส.ร.ยกร่างนั้นตกไป กำหนดมีกระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยสมาชิกรัฐสภายืนยันเสนอ แต่คนที่เคยทำหน้าที่ “เขียนรัฐธรรมนูญ” รอบก่อน ห้ามกลับมาทำหน้าที่ซ้ำอีก
อย่างไรก็ดี ในมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น โดยปลดล็อคเสียงของ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เห็นชอบด้วยวาระแรก และปลดล็อคเสียงเห็นชอบในวาระสาม ที่กำหนดให้มี เสียงของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ร้อยละ 20 รวมถึงเสียง ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 นั้น ล่าสุดยังต้องลงมติในหลักเกณฑ์นั้น โดยมีตัวเลือกระหว่าง คะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 หรือเสียง 2 ใน 3 หรือ เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง
ซึ่งประเด็นนั้นจะโยงถึงกรณีจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ กรณีร่างของ ส.ส.ร.ตกไปที่กำหนดให้อำนาจรัฐสภาดำเนินการ ซึ่งตามร่างของส.ส.รัฐบาล ต้องใช้เกณฑ์ออกเสียง 2 ใน 3 แต่กรรมาธิการมองว่าเป็นเกณฑ์คะแนนที่สูงและยากเกินไป จึงเสนอให้ใช้เกณฑ์คะแนนเสียงที่สอดคล้องกับการเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยวันที่ 4 กุมภาพันธ์จะได้ข้อยุติอย่างชัดเจน
โดยในสาระที่ปรับปรุงนั้น “สมคิด เชื้อคง" ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ฐานะกรรมาธิการฯ บอกว่าพอใจในเนื้อหา เพราะหัวใจที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านต้องการคือ “ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 100%” ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยไม่ถือเป็นสาระสำคัญ
ส่วนกรณีที่ระยะเวลาทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ใช้เวลา เกือบ 1 ปี ครึ่ง แบ่งเป็นเลือกตั้ง ส.ส.ร.90 วัน ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.ร.15 วัน ทำรัฐธรรมนูญใหม่ 240 วัน ทำประชามติ 90 วัน ประกาศผลประชามติ บวกวันทูลเกล้าฯ ถวาย และประกาศใช้นั้น “สมคิด” บอกว่า ไม่ติดใจ แม้จะเกินเวลาที่ฝ่ายค้านตั้งใจให้เป็น
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ส.ร.มาจากเลือกตั้ง ถือเป็นผลงานจากการผลักดันของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และการสร้างกระแสของประชาชน ผมเชื่อว่าในวาระ 2 และวาระ 3 จะได้รับการตอบรับจากทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนมีตัวแทนร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไม่มีสะดุด” สมคิดทิ้งท้าย.