'ในหลวง' รับ คนเจ็บเหตุชุมนุม ' ม็อบรีเด็ม' เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์

'ในหลวง' รับ คนเจ็บเหตุชุมนุม ' ม็อบรีเด็ม' เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์

'ตำรวจ' ย้ำ สลาย 'ม็อบรีเด็ม' ยึดตามหลักสากล เผย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับคนเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ผู้สื่อข่าว และประชาชนที่โดนลูกหลง เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์

 22 มี.ค. 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. แถลงสรุปภาพรวมถึงเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า วันดังกล่าว ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันเคลื่อนขบวนไปยังท้องสนามหลวง ในขณะนั้น พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ผกก.สน.ชนะสงคราม ได้ประกาศเตือนว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และให้ยุติการชุมนุม แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมไม่เชื่อฟัง ได้ผลักดันเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเคลื่อนเข้าไปยังท้องสนามหลวง จากนั้นผู้ชุมนุมได้รื้อถอนแนวรั้วลวดหนามที่จัดทำไว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นบริเวณพื้นที่ต้องห้าม เมื่อรื้อถอนรั้วลวดหนามแล้ว ได้พยายามทำร้ายตำรวจที่รักษาการณ์อยู่บริเวณดังกล่าว พร้อมทั้งทุบทำลายสิ่งของทรัพย์สินของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิด ขว้างปาสิ่งของ ใช้ไม้และเหล็กทำร้ายตำรวจ นอกจากนี้กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้รื้อถอนตู้คอนเนอร์ออกจากแนวเขตหวงห้ามที่ตำรวจตั้งไว้

 ตำรวจจึงได้ประกาศเตือนให้หยุดการกระทำเป็นระยะๆ แต่ผู้ชุมนุมไม่ได้สนใจ กลับขว้างก้อนหิน ขว้างระเบิดเพลิง โยนไปป์บอมบ์ เข้าใส่ตำรวจที่รักษาการอยู่บริเวณดังกล่าว กระทั่งเวลา 19.00 น. ผู้ชุมนุมได้รื้อตู้คอนเทนเนอร์อีก 1 ตู้ และระดมปาวัตถุระเบิดเพลิง ไปป์บอมบ์ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพยายามฝ่าฝืนเข้าไปในพื้นที่สำคัญ และเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว กระทรวงกลาโหม และสถานที่อื่นๆ ในบริเวณดังกล่าว ทำให้ตำรวจฉีดน้ำเตือน แต่ผู้ชุมนุมยังไม่หยุดการกระทำ กลับละเมิดกฎหมายหลายมาตรา ตำรวจจึงมีความจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์ จากการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ ทำให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 50 นาย ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่ รพ. 11 ราย มีรายที่เจ็บหนักสุด คือกระโหลกแตก

 

 

 ผลของการเข้าบังคับใช้กฎหมาย สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 20 ราย ล่าสุดเช้าวันนี้ ได้แยกผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ ส่งฝากขังศาลอาญา รัชดา ส่วนผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชน ได้ทำตามสนธิสัญญาเจนีวา ว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ได้ใช้สหวิชาชีพทำการสอบสวน ภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง หรือคนที่เด็กไว้วางใจ และนำตัวส่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และทางศาลได้ให้ประกันตัวเรียบร้อยแล้ว

 สำหรับกรณีที่มีการบังคับใช้กฎหมายจับกุมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ บริเวณสะพานวันชาติ และแยกคอกวัว ตำรวจได้ติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุเข้าไปในซอยหนึ่ง ใกล้กับสะพานวันชาติ ทำให้ผู้สื่อข่าวได้วิ่งเข้าไปทำข่าวในซอยดังกล่าว ขณะที่ตำรวจกำลังวิ่งติดตามไป ได้ส่งสัญญาณว่าจะใช้กระสุนยาง ผู้สื่อข่าวได้ก้มลงหลบกระสุนยาง เป็นเหตุให้กระสุนพลาดไปถูกบริเวณศีรษะ ขณะนี้ได้พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น กรณีดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแสดงความเสียใจกับผู้สื่อข่าวด้วย ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการมายัง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้ดูแลคนเจ็บทุกราย พร้อมกำชับการปฏิบัติของตำรวจ ให้เป็นไปตามยุทธวิธีสากล

 นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าปลาบปลื้มใจอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับคนเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ผู้สื่อข่าว และประชาชนที่โดนลูกหลง จากการเข้าจับกุมผู้ก่อเหตุวุ่นวาย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปิติอย่างหาที่สุดมิได้

 

เมื่อถามว่า ตำรวจได้มีการแจ้งเตือนผู้สื่อข่าวที่ได้รับลูกหลงจากกระสุนยางหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ทางยุทธวิธีแจ้งให้เตรียม ผู้สื่อข่าวคงจะทราบและก้มลง ซึ่งตามหลักสากล กระสุนยางเราจะยิงในพื้นที่ส่วนหนาของร่างกาย ระดับอกลงมาถึงบริเวณส่วนล่างของร่างกาย ซึ่งกรณีนี้นักข่าวคงได้ยินคำว่าเตรียม เลยก้มลงหลบ เป็นเหตุให้ศีรษะต่ำลงมา กระสุนยางจึงพลาดไปโดนศีรษะ

 

ถามต่อว่า เวลานั้นเหตุใดตำรวจไม่สามารถแยะแยะได้ว่าใครเป็นผู้สื่อข่าว พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า เนื่องจากตั้งแต่แยกคอกวัว จนถึงสะพานวันชาติชุนมุลมาก และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก็ยังใช้รถ จยย. และเดินเท้าด้วย

 

ทางด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. กล่าวเสริมประเด็นดังกล่าวว่า นับตั้งแต่ ผกก.สน.ชนะสงคราม ประกาศแจ้งเตือนหลายครั้งให้ผู้ชุมนุม และผู้สื่อข่าวออกจากพื้นที่ จากนั้นจึงได้เริ่มปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายตามขั้นตอน เป็นมาตรฐานสากล เริ่มตั้งแต่ฉีดน้ำ เข้าจับกุมตามหลักยุทธวิธี ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าวนั้น ได้มีการประกาศแจ้งเตือนเป็นระยะๆ ให้ออกจากพื้นที่ปฏิบัติการ ตนอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ซึ่งสื่อไทย สื่อต่างประเทศ ที่อยู่ในพื้นที่ ได้รับทราบแนวปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ยืนยันว่าทำหน้าที่ตามกรอบกฎหมาย ตามกฎการใช้กำลังจากเบาไปหาหนัก เป็นมาตรการที่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต จึงอยากฝากสื่อมวลชนที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยว่า ท่านต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงต้องหาเครื่องไม้เครื่องมือไว้ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

 

ถามว่า สาเหตุที่ตำรวจใช้กระสุนยาง เกิดจากกลุ่มผู้ชุมนุมก่อความรุนแรงหรือไม่ พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า บริเวณแยกคอกวัวมีการใช้ จยย. พร้อมอาวุธต่างๆ จุดระเบิดเพลิง เผาทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งเป็นอันตราย หากตำรวจไม่ใช้การปฏิบัติแบบฉับพลัน อาจเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ กรณีที่ไปโดนนักข่าว โอกาสพลาดอาจจะเกิดขึ้นได้ พอเราสั่งเตรียมน้องคงก้มลง อย่างไรก็ตาม ในอนาคตทาง บช.น. อาจจะมีการพิจารณาจัดฝึกอบรมให้ความรู้กับผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับการใช้สัญลักษณ์ของตำรวจ ระหว่างการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ในการชุมนุมด้วย