'ปลัด ทส.' เสียดาย 'ชัยวัฒน์' แม้ปลดจากราชการ แต่ยังได้ 'บำเหน็จ-บำนาญ'
'ปลัด ทส.' ชี้ช่อง 'ชัยวัฒน์' อุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. และ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ หากไม่ได้รับความเป็นธรรม กรณีปลดออกจากราชการ
27 มี.ค.2564 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ชี้แจงถึงมติ คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 64 ที่ได้มีมติให้ปลด นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (จังหวัดอุบลราชธานี) ออกจากราชการ ว่า มติ อ.ก.พ. กระทรวงฯ ดังกล่าว ซึ่งมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมเป็นอนุกรรมการอยู่ด้วยนั้น เป็นการพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีมติชี้มูลความผิด นายชัยวัฒน์ ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา ในขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในข้อกล่าวหา เผาบ้านของนายคออี้ มีมิ หรือ ปู่คออี้ ผู้นำจิตวิญญาณของชาวบ้านบางกลอย และบ้านของชาวบ้านอีก 98 หลังในพื้นที่บ้านบางกลอยบน เมื่อปี พ.ศ. 2554
ทั้งนี้ นายคออี้ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีนายชัยวัฒน์และพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต่อพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน และต่อมานายคออี้ ได้ฟ้องเป็นคดีขึ้นสู่ศาลปกครอง โดยคดีได้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่ อส.77/2559 และคดีหมายเลขแดงที่ อส.4/2561 ซึ่งศาลวินิจฉัยแล้วว่า นายชัยวัฒน์ กับพวก ใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่กระทำความผิด ในการรื้อถอนเผาทำลายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างของนายคออี้ และพวก และสำนวนได้ถูกส่งต่อไปยัง คณะกรรมการ ป.ป.ท. นั้น
และเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิดและได้ส่งรายงานพร้อมความเห็นให้กับหน่วยงานต้นสังกัดซึ่งก็คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว หน่วยงานต้นสังกัดต้องดำเนินการพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้มีมติชี้มูลภายใน 30 วัน หลังจากที่ได้มีการส่งเรื่องมา ซึ่งหากกระทรวงฯ ละเลยไม่ดำเนินการ จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดทางวินัยด้วยเช่นกัน
สำหรับในกรณีนี้ ทางคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ซึ่งมีโทษให้ไล่ออก หรือให้ปลดออก เมื่อ อ.ก.พ. กระทรวงฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า นายชัยวัฒน์ เป็นบุคลากรที่มีความตั้งใจในการทำงาน มีผลงานโด่นเด่นเป็นที่ประจักษ์ และมีความดีความชอบในการปฏิบัตงานด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่องเสมอมา จึงมีมติให้ปลดออกจากราชการ โดยยังมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญเสมือนว่าผู้นั้นลาออกจากราชการ
อย่างไรก็ตาม การปลดนายชัยวัฒน์ออกจากราชการ นับเป็นความสูญเสียบุคลากรที่มีศักยภาพ มีความมุ่งมั่น ทุ่มเทในการทำงาน ทั้งของกระทรวงฯ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงขอฝากไปถึงพี่น้องข้าราชการทุกคน ทั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนกลางและปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ ขอให้มีความอดทนอดกลั้น ทำงานโดยนึกถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ศึกษาระเบียบปฏิบัติ ข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานให้ชัดเจน และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างจริงใจ เพื่อป้องกันไม่ให้กระทรวงฯ ต้องสูญเสียบุคคลากรที่มีคุณภาพอย่างเช่นในกรณีนี้อีก
ทั้งนี้ หากนายชัยวัฒน์ เห็นว่า มติดังกล่าวไม่เป็นธรรม ในระบบราชการพลเรือนสามัญมีการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในราชการ โดยสามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค. ได้ หรือสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ด้วยเช่นกัน