"รัฐสภา347เสียง" เห็นชอบ ใช้เกณฑ์5หมื่นชื่อ เสนอเรื่องทำประชามติ อ้างเหมาะกับการเมืองไทย

"รัฐสภา347เสียง" เห็นชอบ ใช้เกณฑ์5หมื่นชื่อ เสนอเรื่องทำประชามติ อ้างเหมาะกับการเมืองไทย

ที่ประชุมรัฐสภา ได้ถกเถียงจำนวน ประชาชน ที่ได้สิทธิเข้าชื่อเสนอเรื่องทำประชามติ ก่อนลงมติ ยึดเกณฑ์5หมื่นคน "ส.ว.เฉลิมชัย" อ้างหลักประนีประนอม-เหมาะสมกับการเมืองไทย

      เมื่อเวลา 10.20 น. การประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ... ต่อเนื่องในมาตรา 10 และได้พิจารณาเนื้อหาที่กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. เป็นประธานกมธ. แก้ไข ให้สอดคล้องกับมาตรา 9 ซึ่งสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยให้เพิ่มเติมเนื้อหา ให้สิทธิ ประชาชน และ รัฐสภา สามารถเสนอเรื่องให้ออกเสียงทำประชามติได้

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับมาตราที่ปรับแก้ ส่วนของ มาตรา 11 มีสาระสำคัญ คือ การกำหนดจำนวนประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่จะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกเสียงประชามติ

      ทั้งนี้ มีกรรมาธิการเสียงข้างน้อย และสมาชิกรัฐสภาฝั่งฝ่ายค้าน อภิปรายขอให้แก้ไขจำนวนประชาชน จาก 50,000 รายชื่อ เหลือเพียง 10,000 ชื่อ เพื่อให้สิทธิของประชาชนต่อการเสนอเรื่องทำประชามติทำได้จริง 

      โดย นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอให้ปรับเป็น ใช้จำนวนประชาชน ไม่น้อยกว่า 10,000 คน คนแทน โดยอ้างอิงว่าเป็นนไปตามกฎหมายเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยนายณัฐวุฒิ อภิปรายว่า ควรเปิดช่องให้ประชานได้ใช้สิทธิ ฐานะเข้าของอำนาจอธิปไตยเพื่อให้สิทธิประชาธิปไตยทางตรงและเกิดการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย

          ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ. ให้ความเห็นว่าการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อเสนอทำประชามติ ไม่ถูกจำกัดเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่มีประเด็นเรื่องในพื้นที่ และที่สำคัญการเข้าชื่อดังกล่าว ยังต้องผ่านการอนุมัติจากครม. ไม่ใช่ทำโดยทันที ดังนั้นการปรับจำนวนประชาชนให้เหลือ 10,000 คน จึงถือว่าเหมาะสมตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

161777231113

      ทั้งนี้ นพ.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายชี้แจง ฐานะผู้เสนอเกณฑ์ใช้เสียง 50,000 คน ว่า ได้ยึดหลักการประนีประนอม และไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง รวมถึงสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ที่ไม่จำกัดกรอบการเสนอเรื่องทำประชามติ ดังนั้นหากใช้จำนวนที่เสนอคือ 10,000 คน อาจเกิดกรณีที่คนในหมู่บ้านเสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร, ไม่ขึ้นภาษี, ไม่สร้างสนามบิน และเมื่อเรื่องถูกเสนอให้ครม. พิจารณาอาจทำให้เกิดการรวมตัวชุมนุมเพื่อติดตามผลของครม. ได้ ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้จำกัดกรอบการเสนอเรื่องทำประชามติ จำนวน50,000 ชื่อ จึงเหมาะสมกับสถานการณ์การเมืองไทย

      ผู้สื่อข่าวรายงานหลังจากที่ที่ประชุมได้อภิปรายแสดงความเห็นครบถ้วน จึงลงมติ ผลปรากฎว่าเสียงข้างมา 347 เสียงเห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมากให้ใช้จำนวน ประชาชน 50,000 คนเสนอเรื่องทำประชามติ ต่อ 157 เสียง

      จากนั้นได้เข้าสู่การพิจารณามาตรา 12 ว่าด้วยการกำหนดลักษณะการออกเสียงประชามติ ที่มีผู้เสนอคำแปรญัตติให้ กำหนดหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติได้ด้วยวิธีอิเล็คทรอนิกส์หรือทางไปรษณีย์ได้.