เมษาโหด 'จตุพร' ปลุกฝันร้าย 'ประยุทธ์'
การกลับมาของ 'จตุพร' ในรูปแบบใหม่ แต่ยังคงสถานะประธาน นปช. จะทำให้การต่อสู้ครั้งนี้ได้รับชัยชนะเช่นเดียว'พฤษภาคม 2535' หรือ พ่ายแพ้ไม่ต่างกับ นปช. ปี 2553 ที่สุดท้ายต้องประกาศยุติชุมนุมและแกนนำทั้งหมดยอมมอบตัว
แม้จะไม่เป็นไปตามแผนเดิมที่ 'จตุพร พรหมพันธุ์' ประธานแนวร่วม นปช.วางไว้ สำหรับการชุมนุมของกลุ่ม "ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย" หวังจะลากยาวไปถึง 10 เม.ย.ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 11 ปี เหตุการณ์สลายชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 แต่จำต้องยุติชั่วคราว หลังเกิดแพร่ระบาด 'โควิด-19'รอบสาม
การถือฤกษ์เดือน 'เมษายน' ปลุกม็อบนับเป็นความตั้งใจของ 'จตุพร' เพราะนอกจากเป็นการระลึกถึงการต่อสู้และความสูญเสียของคนเสื้อแดงแล้ว ยังเปรียบเสมือนการย้ำเตือนถึงความทรงจำอันเลวร้าย 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรี
“ สนับสนุนเขาหรือไม่ อยากให้บ้านเมืองเป็นแบบเดิมอีกหรือไม่ ถ้าอยากให้บ้านเมืองเกิดอะไรขึ้นแบบเดิม ก็ช่วยขยายไปให้เขาก็แล้วกัน” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ หลังถูกถามถึงการนัดชุมนุมของนายจตุพร
หากย้อนไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว พบว่า 'พล.อ.ประยุทธ์' คือ 'ตัวเต็ง' ที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง 'ผบ.ทบ.'ต่อจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จึงได้รับบทบาทสำคัญดูแลการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง หรือ นปช. ซึ่งมี 'จตุพร' เป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญ เพื่อขับไล่รัฐบาล นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
การชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง ยืดเยื้อมาหลายวันก่อนจะมาตึงเครียดเมื่อเข้าสู่เดือนเมษายนหลังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่าห้าคนขึ้นไป จึงมีคำสั่งให้ทหารสลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หรือ เรียกว่า กระชับพื้นที่ และต้องเคลียร์ทุกอย่างให้แล้วเสร็จก่อนสงกรานต์จะมาถึง
ปฏิบัติการดังกล่าว เริ่มในช่วงบ่ายของวันที่ 10 เม.ย.53 เกิดการผลักดันระหว่าง ทหารกับประชาชนคนเสื้อแดง เป็นระยะ จวบจนพลบค่ำ ก็ยังปิดจ็อบไม่สำเร็จ เหตุการณ์จึงบานปลายไปสู่ความรุนแรงบริเวณแยกคอกวัว หลังมีการใช้อาวุธเข้าห่ำหั่นกัน ระหว่างกองกำลังไม่ทราบฝ่าย เรียกว่า 'ชายชุดดำ' กับทหาร จนก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาล หลังมีผู้เสียชีวิต 24 คน บาดเจ็บ กว่า 800 คน จนได้รับการเรียกขานจากสื่อว่า 'เมษาโหด'
และในจำนวนนี้เป็นทหารเสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บ 230 นาย และสาหัสกว่า 90 คน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมาจาก 'ทหารเสือราชินี' หน่วยเดียวกับ 'พล.อ.ประยุทธ์' โดยเฉพาะการสูญเสีย 'น้องรัก' พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสธ. พล.ร.2 รอ. (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น)จนถึงปัจจุบันก็ยังหาตัวผู้ก่อเหตุไม่ได้ หลังศาลยกฟ้อง 3 แนวร่วม นปช. ที่ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อ 1 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา
"ดูสิ่งที่เขาทำกับลูกน้องผม" น้ำเสียงสั่นเครือและดวงตาแดงกล่ำ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในคืนวันที่ 10 เม.ย.53 ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.)
จากวันนั้นถึงวันนี้ 'จตุพร' กลับมาอีกครั้ง ร่วมกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่มที่ 'สลายขั้ว-เลิกข้าง-ไม่แบ่งสีเสื้อ' ในนามกลุ่ม 'สามัคคีประชาชน'ประกาศขับไล่ 'พล.อ. ประยุทธ์' พร้อมยึด 'โมเดล'พฤษภาคม 2535 การต่อสู้ระหว่างประชาชนกับเผด็จการ
“หลังสงกรานต์หากทุกคนเห็นพ้อง ต้องมาจัดการกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เหมือนกับยุคการขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร แล้วได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งผมขอให้พวกเราระดมความคิดเห็นด้วย” นายจตุพร กล่าว
ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามว่าการกลับมาของ 'จตุพร' ในรูปแบบใหม่ แต่ยังคงสถานะประธาน นปช. จะทำให้การต่อสู้ครั้งนี้ได้รับชัยชนะเช่นเดียว'พฤษภาคม 2535' หรือ พ่ายแพ้ไม่ต่างกับ นปช. ปี 2553 ที่สุดท้ายต้องประกาศยุติชุมนุมและแกนนำทั้งหมดยอมมอบตัว