ทร. ผุด โครงการ 'เรือรบปลอดเชื้อ' โควิด ดำรงภารกิจทางทะเล
'กองทัพเรือ' ดำรงความพร้อมภารกิจทางทะเล ผุด โครงการ 'เรือรบปลอดเชื้อ' ทำระบบปรับอากาศรวมของเรือรบให้ปลอดภัยไร้โควิด ใช้ 'เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช' เป็น ต้นแบบ ดำเนินการติดตั้งแล้วในเรือรบอีก 7ลำ อยู่ระหว่างติดตั้งเพิ่มอีก2 ลำ
8 พ.ค.2564 พลเรือเอก เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด - 19 ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว แพร่กระจายไปยังทุกหน่วยงานของกองทัพเรือ รวมทั้งในเรือรบ ซึ่งมีภารกิจสำคัญในทะเล กองทัพเรือ โดย คณะกรรมการพลังงานทดแทนฯ จึงได้จัดโครงการ “ เรือรบปลอดเชื้อ” โดยทำระบบปรับอากาศรวมของเรือรบให้ปลอดภัย จากเชื้อ โควิด - 19 โดยใช้ “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” เป็น ต้นแบบ
และได้ดำเนินการติดตั้งแล้วในเรือรบอีก 7ลำ และขณะนี้อยู่ระหว่างติดตั้งเพิ่มอีก 2 ลำ หลังพบว่า เมื่อติดตั้งระบบแล้ว ออกทะเลไปภารกิจ ไม่มีใครป่วย-ติดเชื้อโรคในทางเดินอากาศ และ ลดปริมาณสารเคมี ไอเสียจากเครื่องยนต์ และสารระเหยอื่นๆ ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในเรือ รวมทั่งกลิ่นอาหาร และกลิ่นอับจากความชื้นที่เกาะอยู่ตามผนังและแผงความเย็นในระบบปรับอากาศ
สำหรับความเป็นมาของโครงการเกิดจาก ในช่วงแรกของการแพร่ระบาด ไวรัส โควิด 19 นั้นพบว่า เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯและของฝรั่งเศส ตลอดจนเรือรบอื่นๆ รวมถึงเรือท่องเที่ยวในต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดก็ใช้ต่างใช้ระบบปรับอากาศรวม เหมือนกับในเรือรบ มีการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสภายในเรือ ทำความคิดที่จะป้องกันไม่ให้เรือรบของกองทัพเรือไทยต้องประสบปัญหา ต่อกำลังพลประจำเรือ และครอบครัว ตลอดจนความพร้อมรบ หรือพร้อมปฏิบัติภารกิจ ต้องได้รับผลกระทบ.
พลเรือโท ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกิจการพลเรือน จึงได้หารือกับ พลเรือโท สมัย ใจอินทร์ รอง ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และ นายสมโภชน์ อาหุนัย จาก บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยนำอุปกรณ์เครื่องฆ่าเชื้อในอากาศ ไปบริจาคพร้อมติดตั้งให้โรงพยาบาลต่างๆ ใน กทม.แล้ว หลายโรงพยาบาลแล้ว รวมถึง โรงพยาบาล สมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ทีมงานจึงได้นำอุปกรณ์ไปศึกษาเพื่อติดตั้งในเรือ ซึ่งใช้ระบบปรับอากาศรวมเช่นเดียวกับโรงพยาบาล
โดยอุปกรณ์ดังกล่าว เป็นหลอด UVC ที่นำมาประยุกต์ใช้กับเรือรบ และ เป็นเครื่องฟอกอากาศด้วยแสง UV (UV GERMICIDAL AIR PURIFIER) ในการนี้ กองทัพเรือ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาฯ เป็นคณะทำงานป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรคทางระบบปรับอากาศ โดยมี พลเรือโท สมัย ใจอินทร์ พลเรือตรี สราวุธ ใจชื้น พลเรือตรี ไพศาล เฮงจิตตระกูล พลเรือตรี สาธิต นาคสังข์ นาวาเอก สมศักดิ์ คงพยัคฆ์ นาวาเอก พิสุทธิ์ แดงเผือก นาวาเอก ธีรสาร คงมั่น นาวาโท เอกราษฎ์ นาคมี และ นาวาโท ประพนธ์ น้อยมณี ร่วมเป็นคณะทำงานโดยได้ทำการทดสอบ ทดลองติดตั้งบนเรือรบ และได้นำไปตรวจสอบ ทดสอบ และวัดผล ซึ่งได้รับการรับรองจาก กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ และกรมแพทย์ทหารเรือ และพบว่าสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีและไม่รบกวนกับระบบต่างๆ ของเรือ
จากนั้นคณะทำงานจึงได้รายงานผลการทดสอบนี้ให้ ผู้บัญชาการทหารเรือ รับทราบ และขออนุญาตทดลองติดตั้งใช้งาน โดยได้ติดตั้งใน“เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” เป็นลำแรก ก่อนที่จะเดินทางไปเข้ารับการปรับปรุงเรือที่เกาหลีใต้ เนื่องจากในขณะนั้นเป็นในห้วงเกิดการระบาดสูงสุด ในเกาหลีใต้ ซึ่งผลการปฏิบัติ หลังติดตั้งระบบ แล้ว ระยะเวลา 2 เดือน พบว่าไม่มีกำลังพลนายใดติดเชื้อ
ต่อมาในการแพร่ระบาดของ โควิด - 19 ในระลอกที่2 ทำให้เรือรบสมรรถนะสูง และเรือรบขนาดใหญ่ ที่มีกำลังพลปฏิบัติงานเรือเป็นจำนวนมาก ขอรับการสนับสนุนการติดตั้ง มากขึ้น จึงได้ดำเนินการติดตั้งจนแล้วเสร็จจำนวน 7 ลำประกอบด้วย เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงนเรศวรเรือหลวงตากสิน เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงบางปะกง และอยู่ระหว่างการติดตั้งอีก 2 ลำ คือ ที่ เรือหลวงอ่างทอง และ เรือหลวงสิมิลัน
ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ กองทัพเรือ ได้จัดให้มีการไปฝึกภาคทะเลของนักเรียนนายเรือ โดยหมู่เรือฝึก คือ เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงบางปะกง และ เรือหลวงมกุฎราชกุมาร ที่ได้ทำการติดตั้งเครื่องฆ่าเชื้อดังกล่าวแล้ว พบว่า ไม่มีกำลังพล ประจำเรือรวมถึงนักเรียนนายเรือที่เข้าร่วมฝึกป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจแต่อย่างใดนอกจากนั้นยังสามารถขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์อาทิ ควัน /น้ำมัน ให้ลดลงได้อีกด้วย
โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า ปัจจุบันหลอด UVC ที่ติดตั้งภายในเรือเพื่อฆ่าเชื้อ แม้ว่าจะมีจำหน่ายโดยทั่วไป แต่ไม่ใช่ว่าจะติดตั้งได้โดยทั่วไป ซึ่งแม้ว่าจะมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อโรคต่างๆ รวมถึง รา เส้นใย ยีสต์ ได้ในระดับพื้นผิว ซึ่งในวงการวิทยาศาสตร์จะนิยมเรียกกันว่า Ultraviolet Germicidal Irradiation โดยแสงจากหลอด UV ฆ่าเชื้อ นี้จะทำให้เชื้อโรคและแบคทีเรียโดยรอบ หยุดทำงาน
ดังนั้นหลอดไฟฆ่าเชื้อนี้ จึงช่วยกำจัดหรือช่วยทำลายไวรัส และแบคทีเรียบนพื้นผิวที่เป็นอันตรายต่อร่างกายผู้ป่วยให้มีจำนวนลดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามผล ยังมีข้อควรระวังในการใช้งาน เนื่องจาก หลอด UVC มีความยาวคลื่นอยู่ที่ประมาณ 200-280 นาโนเมตร ซึ่งเป็นรังสีที่ค่อนข้างเป็นอันตรายต่อร่างกายถ้าหากกระทบผิวหนังตรงๆ เป็นระยะเวลานาน เพราะอาจจะเป็นสาเหตุทำให้ผิวหนังไหม้ หรือสามารถทำให้เยื่อบุตาอักเสบได้ ซึ่งถ้าได้รับแสงรังสี UVC มากเกินไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจจะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ โดยโดยในส่วนของการติดตั้งบนเรือนั้นใช้หลอด UVC ทำการติดตั้งกับระบบปรับอากาศรวมของเรือซึ่งติดตั้งอยู่ภายในเครื่องปรับอากาศ ภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ดังนั้นหากประชาชนทั่วไปจะนำไปประยุกต์ใช้ ควรระมัดระวังและศึกษาข้อมูลก่อนการใช้งานให้ถี่ถ้วน