'เหลียวหลัง-แลหน้า' การเมือง จับตาม็อบ 'ทางตรง-ทางอ้อม'
"เหลียวหลัง-แลหน้า" นักวิชาการมอง 7 ปีแผนปฏิรูปการเมือง จับตาม็อบ "ทางตรง-ทางอ้อม"
ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ตลอด 7 ปีที่ คสช.เคยวางการปฏิรูปการเมืองไว้นั้น ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จเลย เป็นเพียงการอยู่ในอำนาจของ คสช.ต่อยอดไปถึงรัฐธรรมนูญที่ได้ออกแบบขึ้นมา เป็นการส่งไม้ผัดไปถึงฐานกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้อยู่ในอำนาจต่อไป ด้วยระบบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กติกาที่ถูกออกแบบไว้กลับถูกตั้งคำถามมากมายถึงความเป็นธรรมหรือการต่อสู้อย่างเท่าเทียม
นอกจากนี้ ในเรื่องการปรองดองยังมีความล้มเหลวอย่างชัดเจน กับคนในชาติไม่สามารถสร้างแนวร่วมทางการเมืองขึ้นมาได้ และนับวันจะยิ่งความแตกแยก และถอยห่างจากผู้ที่เคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มาตลอด 7 ปี
ขณะที่นิยามคำว่า “ปฏิรูปการเมือง” ที่แท้จริงนั้น อาจารย์วันวิชิต ชี้ให้เห็นว่า ต้องมาจากการมีกติกาสากลที่คนทั่วไปยอมรับได้หมายความว่าตลอด 5 ปีของรัฐบาล คสช.ต้องถ่ายโอนอำนาจอย่างราบรื่น โดยไม่เข้ามาข้องเกี่ยวอีกต่อไป โดยเฉพาะภารกิจของพล.อ.ประยุทธ์ ควรจบไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยไม่เข้ามาสู่เวทีการเลือกตั้งแบบนี้ แต่เมื่อออกแบบกติกาให้ตัวเองได้เปรียบเพื่อให้ได้เข้ามาในกลไกทางการเมืองแบบเดิม ทำให้ถูกมองได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการอยู่ในการเมืองยาวๆ ไม่ปรารถนาจะปฏิรูปทางการเมืองอย่างจริงจัง
ตั้งต้นด้วยแก้ รธน.-ปชช.มีส่วนร่วม
ส่วนผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ อาจารย์วันวิชิตมองว่า ความเข้มแข็งในระบบกลไกรัฐ หรือข้าราชการพลเรือน หรือกองทัพยังสนับสนุนการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป ขณะที่การปฏิรูปการเมืองที่เป็นกลไกสำคัญได้นั้น สามารถตั้งต้นมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องมาจากประชาชนมีส่วนร่วม ด้วยฉันทามติจากประชาชนเพื่อมาปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง โดยที่นักการเมืองไม่นำประชาชนมาเป็นเครื่องมือ หรือข้ออ้าง เพราะทุกวันนี้ทุกคนยังเรียกร้องถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ดีที่สุด เพราะหากการเมืองได้รับการปฏิรูปจริง รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จะไม่ถูกเรียกร้องอีกเช่นกัน
"เป็นไปได้ว่าทางการเมืองไม่สามารถสร้างความหลากหลายหรือสร้างทางเลือกให้ประชาชนขึ้นมา การอยู่ในอำนาจยาวนานถึงแม้จะมีข้อดีในเรื่องความต่อเนื่องทางนโยบาย แต่ขณะเดียวกันจะให้ผู้คนยอมรับความชอบธรรมในอำนาจของรัฐบาลที่ปกครองอยู่คงไม่เกิดขึ้น เพราะจะมีการออกมาประท้วงเรียกร้องให้ลงจากอำนาจทั้งทางตรงหรือทางอ้อมมากขึ้นเรื่อยๆ” อาจารย์วันวิชิต ระบุ
หนุนเปิดเวที-ดึง ปชช.มีส่วนร่วม
ด้าน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า ที่ผ่านมามีการชุมนุมทางการเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นผลจากปัญหาของการเมือง เมื่อมีการรัฐประหาร ถึงแม้จะกำหนดการร่างรัฐธรรมนูญไว้ในกรอบรัฐธรรมนูญชั่วคราวในปี 2557 ซึ่งกำหนดถึงการปฏิรูปไว้ด้วย หรือในรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ระบุถึงการปฏิรูปเป็นการเฉพาะไว้ รวมถึงมีกฎหมายปฏิรูป มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปต่างๆ แต่สุดท้ายเรายังไม่เห็นผลจากการปฏิรูปดังกล่าว เพราะการปฏิรูปไม่ได้เกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน และเมื่อการปฏิรูปไม่เกิดขึ้นทำให้การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมการเมือง ไม่สามารถจะแก้ได้จนปัญหาวนอยู่กับเรื่องเดิม ยังมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาระบบราชการ ปัญหาโควตารัฐมนตรี หรือปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ตามสิ่งที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์มากมายก็สะท้อนให้เห็นว่าการปฏิรูปที่เกิดขึ้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
“ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมยังคงอยู่ในทางการเมือง และเป็นปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการออกมาชุมนุมจากกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งคำว่าปฏิรูปหมายถึง ต้องถอดรื้อ ปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ก็ต้องเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปในทางที่ดีขึ้น แต่ต้องเปลี่ยนแปลงตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยไม่ใช้ความรุนแรง หรือการรัฐประหาร” อาจารย์ยุทธพร ระบุ
เสนอพัฒนาการเมืองสู่ 5 เป้าหมาย
“ผศ.ดร.ยุทธพร” มองว่า สำหรับการเปลี่ยนแปลงต้องมาจากการใช้สันติวิธี หลักนิติธรรม การพูดคุย การมีธรรมาภิบาลทางการเมืองเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาการเมืองไปสู่เป้าหมาย 5 ประการ ได้แก่ 1.การสร้างเสถียรภาพทางการเมือง 2.ความชอบธรรมทางการเมือง3.ประสิทธิภาพและประสิทธิผลทางการเมือง 4.ความทันสมัยทางการเมือง และ 5.ความเป็นสถาบันทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทั้งหมดเป็นเป้าหมายการปฏิรูปทางการเมืองที่ควรเกิดขึ้น ถึงแม้เรามีแผนปฏิรูปก็จริง แต่เป็นการปฏิรูปที่ถูกควบคุมกำกับจากคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งขึ้นจากสมัย คสช.
“กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเกิดในสมัย คสช. จึงกลายเป็นการปฏิรูปที่ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วม ทำให้ในมุมของประชาชนในการเป็นเจ้าของร่วมเกี่ยวกับการปฏิรูปไม่เกิดขึ้นไปด้วย” อาจารย์ยุทธพร กล่าว
อาจารย์ยุทธพร ยังชี้ให้เห็นว่าสำหรับกลไกการปฏิรูปควรต้องมีเวทีพูดคุย เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงเวทีที่กำหนดโดยคนกลุ่มหนึ่งอาทิ นักวิชาการ กลุ่มข้าราชการสายวิชาการ หรือข้าราชการประจำ ทำให้การเปิดพื้นที่ตรงนี้มีอยู่น้อย จึงต้องเปิดพื้นที่ให้แต่ละภาคส่วนของประชาชนได้สะท้อนความต้องการผ่านการเลือก หรือการสรรหา เพื่อให้เป็นโจทย์ในการเดินหน้าต่อไปในกระบวนการได้มาของคณะกรรมการปฏิรูป หรือสภาปฏิรูป
สำหรับอนาคตทางการเมืองนั้น "อาจารย์ยุทธพร" มองว่า การเมืองไทยยังวนเวียนอยู่ที่เดิม ยังไม่พัฒนา ยิ่งในระบอบประชาธิปไตยของเรายังถูกกำกับ ดังนั้นการขยายตัวของประชาธิปไตยเช่นเดียวกับปี 2540 คงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ และเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า หากขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนจะเป็นอุปสรรคขนาดใหญ่ หากมีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในสิทธิเสรีภาพต่างๆจะเป็นหัวใจสำคัญทำให้การปฏิรูปการเมืองประสบความสำเร็จ แต่ถือว่าวันนี้ยังเป็นเส้นทางอีกยาวไกลกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้.