"ศึกวัคซีนการเมือง" วัดบารมีแย่งโควตา
เมื่อ “วัคซีนโควิด-19” ถูกนำมาเป็นประเด็น “วัคซีนการเมือง” โดยนักเลือกตั้งได้คะแนนเสียงในพื้นที่ แต่คนไทยทั้งประเทศต้องอยู่กับความเสี่ยง และกลายเป็นตัวประกันทางการเมือง
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังลุกลามบานปลาย ยอดตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่พุ่งหลักพันทุกวัน และมีคลัสเตอร์การแพร่ระบาดรวดเร็วกระจายเป็นวงกว้าง จึงมีเพียงแค่ “วัคซีน” ที่พอจะเป็นความหวังในการหยุดยั้งการแพร่ระบาด
โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลนำเข้าวัคซีนมาแล้วกว่า 6 ล้านโดส แบ่งเป็น วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 โคโรนาแวค 2 แสนโดส แอสตราเซเนกา 1.17 แสนโดส วันที่ 20 มีนาคม ซิโนแวค 8 แสนโดส วันที่ 10 เมษายน ซิโนแวค 1 ล้านโดส วันที่ 24 เมษายน ซิโนแวค 5 แสนโดส วันที่ 6 พฤษภาคม ซิโนแวค 1 ล้านโดส วันที่ 14 พฤษภาคม ซิโนแวค 5 แสนโดส วันที่ 15 พฤษภาคม ซิโนแวค 5 แสนโดส และปลายพฤษภาคม ซิโนแวค 1.5 ล้านโดส
ขณะที่แผนส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส จะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 10 ล้านโดส เดือนกรกฎาคม 6 ล้านโดส เดือนสิงหาคม 10 ล้านโดส เดือนกันยายน10 ล้านโดส เดือนตุลาคม 10 ล้านโดส เดือนพฤศจิกายน 10 ล้านโดส และเดือนธันวาคม 5 ล้านโดส
สำหรับวัคซีนทางเลือกที่กระทรวงสาธารณสุขสามารถเจรจาจัดซื้อเพิ่ม อาทิ วัคซีนไฟเซอร์ 10-20 ล้านโดส สามารถจัดส่งได้ในช่วงไตรมาส 3-4 ส่วนวัคซีนโมเดอร์นา คาดว่าจะมีการจัดซื้อ 5 ล้านโดส
แม้ยอดสั่งซื้อวัคซีนของรัฐบาลจะมีมากพอ แต่ปัญหาใหญ่คือวัคซีนยี่ห้อหลักอย่าง “แอสตราเซเนกา” ยังไม่ได้จัดส่งเข้ามา ซึ่งจะมีการจัดส่งล็อตใหญ่จะเริ่มเข้ามายังประเทศไทยในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป
ดังนั้นศึกแย่ง “วัคซีน” จึงเกิดขึ้นเมื่อ “นักการเมือง” ต่างใช้กำลังภายในแย่งวัคซีนไปฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ฐานเสียงของตัวเอง แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะหัวโต๊ะ ศบค. จะให้นโยบายการกระจายวัคซีนแบ่งโซนฉีดดังนี้
เดือนมิถุนายนจะฉีดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม กับจังหวัดที่มีแผนเปิดการท่องเที่ยวก่อน ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี และภูเก็ต ซึ่งมีเปิดการท่องเที่ยว 1 กรกฎาคม 2564 นี้
เดือนกรกฎาคมจะฉีดในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดง 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย สงขลา สระแก้ว ตาก มุกดาหาร นราธิวาส ระนอง หนองคาย สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ จันทบุรี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และสมุทรสาคร
หลังจากนั้น จะฉีดใน 55 จังหวัดพื้นที่ควบคุม หรือพื้นที่สีส้ม โดยรัฐบาลเน้นย้ำจะต้องฉีดวัคซีนให้กับคนไทยทุกคน
ทว่าเมื่อมาดูการกระจายวัคซีนในเวลานี้ กลับถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เพราะบางจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดน้อยมาก กลับได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวนมาก ขณะที่บางจังหวัดมีการแพร่ระบาดจำนวนมาก กลับได้รับการจัดสรรวัคซีนน้อยกว่าจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดน้อย
โดยข้อมูลการจัดสรรวัคซีนระหว่าง มีนาคม-พฤษภาคม แบ่งเป็น 1.กรุงเทพฯ 369,361 โดส 2.ภูเก็ต 301,740 โดส 3.สมุทรสาคร 107,920 โดส 4.เชียงใหม่ 77,670 โดส 5.ชลบุรี 76,550 โดส 6.สุราษฎร์ธานี 65,260 โดส 7.นนทบุรี 52,205 โดส 8.ตาก 48,066 โดส 9.บุรีรัมย์ 45,700 โดส 10.นครราชสีมา 42,010 โดส
ส่วนแผนเดือนมิถุนายน-กันยายน แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 5,020,000 โดส ภูเก็ต 82,000 โดส สมุทรสาคร 560,000 โดส เชียงใหม่ 1,133,000 โดส ชลบุรี 1,356,000 โดส สุราษฎร์ธานี 736,000 โดส นนทบุรี 1,074,000 โดส ตาก 364,000 โดส บุรีรัมย์ 1,065,000 โดส นครราชสีมา 1,842,000 โดส
เมื่อดูจากตัวเลขการจัดสรรวัคซีนจะพบข้อมูลว่า มีบางจังหวัดที่มียอดผู้ป่วยรายใหม่น้อยมาก แต่กลับได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวนมาก จึงมี ส.ส. ออกมาแสดงความไม่พอใจที่การกระจายวัคซีนถูกถ่ายเทไปให้แค่บางจังหวัด
มีการเปรียบเทียบสถานการณ์ในพื้นที่สีแดงเข้ม กับพื้นที่สีส้ม จากข้อมูลวันที่ 17 พฤษภาคม อาทิ พื้นที่สีแดงเข้ม จ.สมุทรปราการ มีผู้ติดเชื้อ 3,700 คน ต้องฉีดวัคซีน 1.3 ล้านคน แต่ขณะนี้ได้รับวัคซีนเพียง 2.3 แสนโดส ปทุมธานี มีผู้ติดเชื้อ 2,200 คน ต้องฉีดวัคซีน 1 ล้านคน แต่ขณะนี้ได้รับวัคซีนเพียง 6.2 หมื่นโดส
ขณะที่พื้นที่สีส้ม จ.ลำปาง ต้องฉีดวัคซีน 5.1 แสนคน ปรากฎว่าได้รับวัคซีน 1.2 แสนโดส สระบุรี ต้องฉีดวัคซีน 5 แสนคน ได้รับวัคซีน 1.18 แสนโดส มหาสารคาม มีผู้ติดเชื้อ 3,700 คน ต้องฉีดวัคซีน 6.7 แสนคน ได้รับวัคซีน 1.3 แสนโดส อุดรธานี ต้องฉีดวัคซีน 1 ล้านคน ได้รับวัคซีน 2.4 แสนโดส
“สรวุฒิ เนื่องจำนงค์” ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ออกมาระบุว่า จังหวัดชลบุรีได้รับการจัดสรรโควิด-19 ในเดือนมิถุนายน จำนวน 54,000 โดสเท่านั้น ทั้งที่ประชากรที่ถูกต้องตามทะเบียนราษฎร์ และประชากรแฝง รวมแล้วประมาณ 3 ล้านคนเศษ จะเกิดผลกระทบอย่างหนัก ทั้งความมั่นใจของนักลงทุน นักท่องเที่ยว
แน่นอนว่าเป้าหมายหลักที่ถูกโจมตีคือ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับการจัดสรรวัคซีนระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 45,700 โดส และจะได้รับการจัดสรรวัคซีนระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายนอีก 1,065,000 โดส
ที่สำคัญจังหวัดบุรีรัมย์ คือบ้านเกิดและฐานการเมืองสำคัญของ “เนวิน ชิดชอบ” พี่ใหญ่พรรคภูมิใจไทย แถมยังเป็นที่อยู่ตามสำมะโนครัวของ อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เมื่อจังหวัดบุรีรัมย์ได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวนมาก จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นจังหวัด “มีเส้น”
หลังจากนี้ ให้จับตาดูว่าจะมี “นักการเมือง-ส.ส.” ออกมาเปิดศึกแย่งวัคซีนกันอีกกี่พื้นที่ เพราะต่างคน ต่างพรรค ต่างสังกัด รอจังหวะโจมตีคู่แข่ง-คู่แค้นอยู่ตลอดเวลา
เมื่อ “วัคซีนโควิด-19” ถูกนำมาเป็นประเด็น “วัคซีนการเมือง” โดยนักเลือกตั้งได้คะแนนเสียงในพื้นที่ แต่คนไทยทั้งประเทศต้องอยู่กับความเสี่ยง และกลายเป็นตัวประกันทางการเมือง