เปิดเส้นทางดีล ATK 8.5 ล้านชุด เคลียร์ปมร้อนคอนเนคชั่นรมต.
"บ.ณุศาศิริ" ตัวละครสำคัญในการจัดซื้อชุดตรวจATK กลับสายสัมพันธ์รัฐมนตรีในฐานะเพื่อร่วมรุ่นวปอ.61?
ยังไม่จบประเด็นร้อน โครงการจัดซื้อชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน หรือ ATK (Antigen Test Kit) 8.5 ล้านชุด มูลค่าเกือบ 600 ล้านบาท ที่จะนำมาแจกจ่ายผ่านระบบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้จัดประมูลโดยมีเงื่อนไขว่าชุดตรวจ ATK ต้องผ่านการทดสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
หลังจากชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบในการยืนยันจัดซื้อ ATK ตามผลการประมูลที่ได้บริษัทออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ยี่ห้อ Lepu (เลอปู) ที่มาตรฐานเป็นที่กังขาถึงคุณภาพ และความแม่นยำ โดยเชื่อว่าการประมูลครั้งนี้ไม่ธรรมดา แต่โครงการนี้ ยังเดินหน้าต่อ เมื่อ อภ.ยืนยันว่า กระบวนการทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ อย.ยืนยันว่าชุดตรวจจากจีน ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนและทดสอบคุณภาพจากสถาบันการแพทย์ในไทยแล้ว
ทว่า เส้นทางการดีลชุดตรวจ ATK กำลังถูกหลายฝ่ายตรวจสอบอย่างต่อเนื่องทั้งลับลมคมใน และคุณภาพที่ถูกนำมาใช้ ซึ่งแถลงการณ์ล่าสุด ฉบับที่ 3 ของชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่าได้ระดมทีมปฏิบัติการ-ภาคประชาชน พร้อมตรวจสอบคุณภาพชุดตรวจโควิด ATK ว่ามีคุณภาพดังที่กล่าวอ้างหรือไม่ หากพบชุดตรวจมีคุณภาพต่ำต้องมีผู้รับผิดชอบ
ล่าสุด สภาองค์กรของผู้บริโภค ส่งข้อเสนอเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) ให้ใช้ภาวะผู้นำในวิกฤติโควิดทบทวนการจัดซื้อ ATK 8.5 ชุดครั้งนี้
ชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ใช้ภาวะผู้นำในวิกฤติโควิดทบทวนการจัดซื้อ ATK 8.5 ชุดครั้งนี้
ประเด็นร้อนเหล่านี้ “ศิริญา เทพเจริญ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนจำหน่าย ATK ของบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด และเป็นผู้ชนะประมูลในโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. ชี้แจงกับเนชั่นทีวี ไล่เรียงทุกประเด็นที่สังคมยังกังขาถึงคุณภาพ ชุดตรวจ ATK ที่ผลิตโดย บริษัท เลอปู เมดิคอล เทคโนโลยี (Lepu Medical Technology) จากประเทศจีน ที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(US-FDA) และความโปร่งใสในการจัดซื้อชุดตรวจจากบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน)ที่ชนะการประมูล
ประเด็นแรก ความคืบหน้าในการจัดซื้อ “ศิริญา” อธิบายว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาขององค์การเภสัชกรรม หลังจากมีการขอเอกสารเพิ่มเติมกรณีประเทศปากีสถานโจมตีการเรียกคืนชุดตรวจของเลอปู พร้อมทั้งเอกสารการตรวจสอบคุณภาพใหม่ที่ระบุประสิทธิผลตรงตามที่คณะกรรมการอาหารและยากำหนด
ประเด็นต่อมา กรณีสหรัฐอเมริกาปฏิเสธการนำเข้าชุดตรวจยี่ห้อนี้ จำนวน 8.4 ล้านชุด ซึ่งใกล้เคียงกันกับจำนวนที่จะนำเข้าไทย หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าล็อตที่จะนำเข้าสหรัฐฯ จะถูกส่งเข้ามาไทยหรือไม่ “ศิริญา” ชี้แจงว่า แม้จะเป็นยี่ห้อเดียวกัน แต่เป็นคนละชนิดกัน แบบที่จะนำเข้าสหรัฐคือแบบตรวจด้วยการใช้น้ำลาย 2 แสนชุด ส่วนอีก 8 ล้าน 2 แสนชุดเป็นการตรวจโดยใช้เลือด แล้วชุดตรวจที่จะนำเข้าไทยมีการระบุวันผลิต และวันหมดอายุชัดเจน
“…บังเอิญมันตรงกันกับ 8.4 ล้านชุด แต่ที่อเมริการีคอลมันเป็นแบบตรวจเลือดปลายนิ้ว แล้วก็มี 2 แสนชุดเป็นแอนติเจนเทส ส่วน 8.2 ล้าน เป็นแบบตรวจเลือดจากปลายนิ้ว ซึ่งไม่ได้ตรงกันกับสิ่งที่เราจะเอานำเข้าประเทศไทย และขอยืนยันว่าเรามีการผลิตใหม่ ตามวันหมดอายุ ส่งถึงทาง อย. เพราะเราต้องพิมพ์เอกสารเป็นภาษาไทยด้วย แล้วในกล่อง องค์การเภสัชก็สั่งให้ต้องติดสติกเกอร์ห้ามขาย…”