โหมโรง 7 ก.ย.คาร์ม็อบ จยย.! ‘ณัฐวุฒิ’ขอดูเชิงก่อนนัดชุมนุมใหญ่ไล่‘บิ๊กตู่’
“ณัฐวุฒิ” โหมโรงนัด 7 ก.ย. “คาร์ม็อบ จยย.” เคลื่อนขบวน ยันไม่ปิดล้อมสถานที่-ไม่ปะทะ ดูเชิงก่อนนัดชุมนุมใหญ่ ภารกิจหลักไล่ “บิ๊กตู่” บช.น.เผย “ทะลุแก๊ส” แฝงตัวเป็นชาวแฟลตดินแดง ทำร้าย จนท. “กทม.” แพร่ภาพม็อบทำลายตู้ควบคุมอุโมงค์ใต้ดินแยกดินแดง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 บริเวณแยกอโศก มีการจัดกิจกรรม ‘คาร์ม็อบ’ นำโดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) และนายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย (ลูกนัท) โดยให้ผู้ชุมนุม และรถยนต์เริ่มรวมตัวกันบริเวณแยกราชประสงค์ในเวลา 16.00 น. ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปปักหลักที่แยกอโศก โดยจะยุติประมาณ 20.00 น.
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า หลังจากนี้จะนัดมวลชนเวลา 16.00 น. ทุกวัน เป็นที่รู้กัน มาเจอกันเห็นหน้ากัน แล้วจะมีการนัดชุมนุมใหญ่ต่อไป โดยในวันที่ 7 ก.ย. 2564 เวลา 16.00 น. ขอดูพลัง 2 ล้อมอเตอร์ไซค์ เจอกันที่นี่ แยกอโศก แล้วจะเคลื่อนขบวนมอเตอร์ไซค์ พร้อมมีภารกิจประกาศขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยกัน ส่วนรถยนต์มาร่วมได้ ให้จักรยานยนต์นำหน้า รถยนต์ตามหลัง ไม่มีไปปิดล้อมสถานที่ไหน หรือไป ไม่มีบวก ไม่ลุย ไม่ปะทะ พร้อมจะให้จัดร้านอาหารมาให้บริการฟรี ในพื้นที่ชุมนุมอีกด้วย
“ขอดูอีกวันหรือ 2 วัน ก่อนจะนัดชุมนุมใหญ่ ผมขอนัดเลย พี่น้องมอเตอร์ไซค์ ตั้งแต่พรุ่งนี้ให้มาเจอกัน และในวันถัด ๆ ไป ก่อนกลับบ้าน มอเตอร์ไซค์มาเจอกันที่นี่” นายณัฐวุฒิ กล่าว
เลขาธิการ นปช. กล่าวด้วยว่า ภารกิจคือการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ได้ ยืนยันเผด็จการต้องไสหัวไป การสืบทอดอำนาจต้องหมดไป หากคนพวกนี้ทำได้ดีจริง เกือบ 8 ปีเราคงไม่ต้องมายืนตรงนี้ รวมถึงมีการปราศรัยกรณีอ้างว่า รัฐบาลแจกเงิน ส.ส. คนละ 5 ล้านบาทเพื่อแลกเสียงโหวตอภิปรายไว้วางใจด้วย
@บช.น.เผย‘ทะลุแก๊ส’แฝงตัวเป็นชาวแฟลตดินแดง ทำร้าย จนท.
วันเดียวกัน บริเวณแยกดินแดง มีการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ส โดย พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) และโฆษก บช.น. กล่าวว่า ในช่วงเย็นวันนี้มีการนัดชุมนุมของกลุ่ม นายณัฐวุฒิ ประกาศนัดชุมนุมคาร์ม็อบ ที่บริเวณแยกราชประสงค์ และจะเคลื่อนขบวนไปยังแยกอโศก ขณะที่บริเวณแยกดินแดง ยังมีการรวมตัวของกลุ่มทะลุแก๊ส ซึ่งการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้ที่ก่อความวุ่นวาย บริเวณแยกดินแดง ทราบข้อจำกัดของตำรวจ ที่จะไม่เข้าไปติดตามจับกุมบริเวณที่พักอาศัย ชุมชนแฟลตดินแดง จึงมีการใช้ชุมชนเป็นเกราะกำบัง หรือแฝงตัวเป็นคนในแฟลตดินแดง เพื่อทำร้ายเจ้าหน้าที่ และสร้างความเข้าใจผิดระหว่างผู้อาศัยในชุมชนและตำรวจ
โฆษก บช.น. กล่าวอีกว่า ตำรวจ สน.ดินแดง ได้เข้าร่วมหารือกับผู้นำชุมนุมแฟลตดินแดงแล้ว เพื่อป้องกันและหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว พบว่ากลุ่มผู้ที่ก่อความวุ่นวายบางส่วน มีการแต่งกายคล้ายบุคลากรทางการแพทย์ หรือสื่อมวลชน แฝงตัวเข้าร่วมชุมนุมด้วย ดังนั้นจึงขอให้อาสาสมัครทางการแพทย์ และสื่อมวลชนที่ แยกบุคคลเหล่านี้ออกจากกลุ่ม เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มนายณัฐวุฒิ บริเวณแยกอโศก เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา ไม่มีเหตุรุนแรง ส่วนการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง มีการขว้างปาสิ่งของ พลุ ประทัด ระเบิดปิงปอง ระเบิดแสวงเครื่อง และ จุดไฟเผาทรัพย์สินของทางราชการและเอกชน รวมถึง การลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยตำรวจสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 3 คน ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ และสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการบิดเบือน ข่าวว่า 1 ใน 3 ผู้ต้องหาที่รถล้ม และถูกตำรวจคุมตัวได้ โดยบิดเบือนว่าถูกตำรวจทำร้ายร่างกายนั้นไม่เป็นความจริง
ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา มีคดีเกี่ยวกับการชุมนุม 177 คดี มีผู้ที่อยู่ในข่ายถูกดำเนินดคี 663 คน จับได้แล้ว 406 คน ขณะที่ภาพรวมตั้งแต่เดือน ก.ค.2563 มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 421 คดี สอบแล้ว 200 คดี อยู่ระหว่าสอบสวน 221 คดี และออกหมายเรียกแล้ว 160 หมาย
@กทม.แพร่ภาพม็อบทำลายตู้ควบคุมอุโมงค์ใต้ดินแยกดินแดง
วันเดียวกัน เพจสำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เผยแพร่ภาพความเสียหายตู้ควบคุมระบบในอุโมงค์แยกดินแดง พร้อมข้อความว่า เมื่อคืนวันที่ 5 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ได้ทำลายทรัพย์สินของทางราชการโดยการทุบทำลายและจุดไฟเผา ทำให้ได้รับความเสีย ไม่สามารถใช้งานได้ ประกอบด้วยตู้ควบคุมหลัก ตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ตู้ควบคุมระบบเครื่องปรับอากาศ ตู้ควบคุมระบบเครื่องสูบน้ำ ตู้ควบคุมวัดระดับน้ำท่วมอุโมงค์ทางลอดดินแดง และระบบกล้อง CCTV ภายในอุโมงค์ทางลอดดินแดง ทั้งนี้ ต้องขออภัยในความไม่สะดวกและอาจเกิดอุบัติเหตุได้เนื่องจากขาดไฟฟ้าแสงสว่างภายในอุโมงค์และหากมีฝนตกหนักจะส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมภายในอุโมงค์ทางลอดดังกล่าวด้วยเช่นกัน
นายสรรเสริญ เรืองฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานระบบโทรมาตรสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวว่า สำหรับ ตู้ขนาดใหญ่เป็นตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าของอุโมงค์ และตู้เล็กเป็นตู้ควบคุมระบบสื่อสารของเครื่องวัดน้ำท่วม (อยู่ที่ผิวการจราจร) อยู่ในตู้เหล็ก มีกุญแจล็อคแน่นหนา ติดตั้งในพื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (ใต้ทางด่วน) อยู่ไม่ไกลจากป้อมตำรวจ น่าจะเป็นสาธารณะสมบัติที่ค่อนข้างปลอดภัย