"ประยุทธ์" มองวิกฤตโควิด คือโอกาสสร้างความร่วมมือพหุภาคี พัฒนาการแพทย์
นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม UNGA76 เน้นย้ำความร่วมมือพหุภาคี พลิกวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็ง พัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมสร้างสมดุลของการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายน เวลา 00.00 น. (ซึ่งตรงกับวันที่ 25 กันยายน 2564 เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของนครนิวยอร์ก) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 76 ภายใต้หัวข้อ การสร้างความยืดหยุ่นผ่านความหวัง โดยการฟื้นฟูจากโควิด-19 การสร้างอย่างยั่งยืน ตอบรับความต้องการของโลก เคารพสิทธิของผู้คน และการฟื้นฟูของสหประชาชาติ ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล
โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า ประชาคมโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มจะไปอีกนาน อีกทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ เครื่องพิสูจนว่าไม่มีใครปลอดภัย ดังนั้นประชาคมโลกต้องเร่งผลักดันให้วัคซีนและยารักษาโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะของโลก และสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ผ่านการพิจารณาจัดทำ Pandemic Treaty รวมถึงสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้องค์การอนามัยโลก และทุกประเทศควรร่วมมือพัฒนาวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
“ประเทศไทยพยายามส่งเสริมการผนวกรวมมิติด้านสาธารณสุขในเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครอบคลุมทั้งภัยธรรมชาติและโรคอุบัติใหม่ โดยสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงมีความท้าทายสูง แต่ผมเชื่อมั่นว่าการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนมีความสำคัญ โดยเฉพาะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะช่วยรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพและโรคอุบัติใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ไทยได้นำพลังของอาสาสมัครในท้องถิ่นและความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น มาปรับใช้ในการรับมือกับโควิด-19 โดยใช้สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านของไทย มาเป็นยารักษาและบรรเทาอาการของโรค” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวโดยเชื่อว่าความร่วมมือพหุภาคีในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะภายใต้กรอบของสหประชาชาติ จะทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งใหญ่ เครื่องมือสำคัญในการรับมือกับความท้าทายรวมถึงความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นจากโควิด-19 โดยประชาคมโลกควรให้ความสำคัญกับการดำเนินตามแผนปฏิบัติการแอดดิส อาบาบา รวมถึงการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่มีส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศกำลังพัฒนา
นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงแผนรับมือวิกฤตโลกร้อนด้วยว่า ไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608-2613 พร้อมทั้งมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า50% และมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 3 ใน 10 ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ และสนับสนุนให้ประชาคมโลกร่วมกันผลักดันให้การประชุม COP26 มีพัฒนาการที่สร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ทุกประเทศควรร่วมมือกันเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสสู่ ความสมดุลของสรรพสิ่ง” โดยเฉพาะสร้างสมดุลของการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
"พลังของประชาคมโลกในการรับมือกับวิกฤตโลกร้อนที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จะนำเราไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำหน้า ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ ความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายจะผลักดันให้เราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันพร้อมกับการมีโลกใบใหม่ที่ดีและเข้มแข็งกว่าเดิม ทั้งนี้ความสงบสุขและเสถียรภาพเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประชาคมระหว่างประเทศจึงต้องร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมแห่งสันติภาพ” นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่าประเทศไทยพยายามมีบทบาทที่ต่อเนื่อง ได้ส่งเสริมการสร้างสันติภาพและบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืนในกรอบคณะกรรมาธิการเสริมสร้างสันติภาพ และบริจาคเงินสมทบกองทุนเสริมสร้างสันติภาพ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ไทยยังคงปฏิบัติหน้าที่เพื่อสนับสนุนภารกิจการส่งเสริมสันติภาพของสหประชาชาติอย่างแข็งขัน และไทยยังได้บริจาคเงิน จำนวน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนหน่วยงานของสหประชาชาติในการดำเนินงานเพื่อบรรเทาวิกฤตด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถาน นอกจากนี้ การมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประชาคมโลกในการส่งเสริมให้ประชาชนรุ่นหลังปลอดภัยจากอาวุธนิวเคลียร์
"สำหรับประเด็นเมียนมา ไทยได้ติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด และยืนยันที่จะส่งเสริมการใช้การทูตพหุภาคี เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติภาพและความสมานฉันท์ในเมียนมา และส่งเสริมการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ของที่ประชุมผู้นำอาเซียน ควบคู่กับความร่วมมือด้านสาธารณสุขและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การกล่าวอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 76 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-25 และ 27 กันยายน 2564 โดยเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้นำและผู้แทนของประเทศสมาชิกได้กล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงนโยบาย ความคิดเห็น และท่าทีของประเทศตนในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ภายใต้หัวข้อหลัก ทั้งนี้ การร่วมกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีไทย เป็นโอกาสในการแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และความพร้อมในการร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการยึดมั่นในระบบพหุภาคี