เปิดขั้นตอน “เลือกตั้ง อบต.” สมัครนายก-สมาชิกสภา อบต.ทั่วประเทศ 11-15 ต.ค.
เปิดขั้นตอน-หลักฐานสมัคร “เลือกตั้ง อบต.” ทั้ง นายก-สมาชิกสภา อบต. 5,300 แห่งทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11-15 ต.ค.นี้ เช็ครายละเอียดที่นี่
เลือกตั้ง อบต. เริ่มต้นแล้ว โดยในวันที่ 11-15 ต.ค.64 เป็นวันเปิดรับสมัครการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 5,300 แห่งทั่วประเทศ ก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการการเลืออกตั้ง(กกต.) จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเลือกตั้ง และประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครเลือกตั้งในวันที่ 22 ต.ค.64
สำหรับการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น "กกต." เคยออกเอกสารลงวันที่ 29 ต.ค.2563 ถึง "ผอ.กกต.จังหวัด" เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งได้กำหนด มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ตั้งแต่ช่วง "รับสมัคร" เลือกตั้งท้องถิ่นไปจนถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
อ่านที่เกี่ยวข้อง : เปิดคู่มือ "เลือกตั้ง อบต." 28 พ.ย.64 บนแนวปฏิบัติ "เลือกตั้งแซนด์บ็อกซ์"
ทั้งนี้ ขั้นตอนที่ กกต.กำหนดมาตรการในวันรับสมัคร "เลือกตั้ง อบต." ระหว่างวันที่ 11-15 ต.ค. มีดังนี้
1.สถานที่รับสมัคร ต้องกว้างไม่น้อยกว่า 7 ตารางเมตรต่อคน มีอากาศถ่ายเทสะดวก และให้เจ้าหน้าที่ทำความอุปกรณ์การรับสมัครและห้องน้ำทุก 1 ชั่วโมง
2.จัดที่นั่งให้มีระยะห่างระหว่างเจ้าหน้าที่ และผู้สมัครเลือกตั้งอย่างน้อย 1.5 เมตร
3.จำกัดจำนวนคนที่เดินทางมาสถานที่รับสมัคร ให้มีผู้ติดตามไม่เกิน 2 คน
4.จัดให้มี อสม.ทำหน้าที่คัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่รับสมัคร
5.กำหนดให้เจ้าหน้าที่รับสมัคร สวมหน้ากากอนามัย สวม face shield และถุงมือยาง เพื่อลดการแพร่เชื้อ
6.การจัดขบวนแห่หรือการหาเสียง บริเวณสถานที่รับสมัคร เพื่อป้องกันคนมาชุมนุมรวมตัวกัน ให้เป็นไปตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง
ขณะที่การรับสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละวัน หากเจ้าหน้าที่คัดกรองมีการตรวจพบว่าผู้ประสงค์ จะสมัครรับเลือกตั้งรายใด เคยเป็นผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือเคยมีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วย หรือไม่ผ่านการตรวจอุณหภูมิ ให้แยกผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งรายนั้นไปยังสถานที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะ เพื่อดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งให้เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการรับสมัครรับเลือกตั้ง
ส่วนกรณีประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบอันเป็นเหตุที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งตามประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบล โดยความเห็นชอบของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประกาศกำหนดสถานที่รับสมัครเลือกตั้งใหม่ภายในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลที่สามารถดำเนินการรับสมัครได้โดยสะดวก กรณีมีความจำเป็นและเพื่อความปลอดภัยอาจกำหนดสถานที่รับสมัครเลือกตั้งนอกเขตองค์การบริหารส่วนตำบลที่อยู่ภายในเขตอำเภอได้ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัดหรือ สายด่วน 1444
ขณะที่ขั้นตอนสมัครรับเลือกตั้ง ให้ผู้สมัคร "เลือกตั้ง อบต." ให้ยื่นใบสมัครต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบลพร้อมทั้งหลักฐานการสมัครและค่าธรรมเนียมการสมัคร ดังนี้
• หลักฐานและเอกสารประกอบการยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง
1.ใบสมัครรับเลือกตั้งตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 4/1
2.รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก หรือ รูปภาพที่พิมพ์ชัดเจนเหมือนรูปถ่ายของตนเอง ขนาดกว้างประมาณ 8.5 ซม. ยาวประมาณ 13.5 ซม. จำนวนตามที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ประจำองค์การบริหารส่วนตำบลกำหนด
3.สำเนาบัตรประจาตัวประชาชน
4.สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
5.ใบรับรองแพทย์
6.หลักฐานการศึกษา
7.หลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี นับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษี ตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 4/2
ทั้งนี้ ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้ง สามารถขอคัดสำเนาหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3 ปี (2561 , 2562 , 2563) ได้ที่สำนักงานสรรพากรเขตพื้นที่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง
8.หลักฐานอื่นที่ผู้สมัครนำมาแสดงว่าตนเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่มีลักษณะต้องห้ามที่มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
สำหรับการ "รับใบสมัคร" ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ที่ เกี่ยวข้องจะเป็นผู้รับใบสมัคร ตามแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 4/1 พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานจากผู้สมัครตามลำดับของการลงนามในสมุดลงเวลา หรือตามลำดับของการจับสลากกรณีที่ไปยื่นพร้อมกัน
กรณีที่มีผู้ประสงค์จะยื่นใบสมัคร สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พร้อมกันหลายคนหรือยื่นก่อนเวลารับสมัคร และไม่อาจตกลงกันได้ ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้มีการประชุมผู้สมัครนั้น เพื่อตกลงลำดับการยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้ดำเนินการจับสลาก โดยให้ดำเนินการสองครั้ง ดังนี้
1.การจับสลากครั้งที่หนึ่ง ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขียนชื่อผู้สมัครที่ต้องจับสลากบนสลากที่เหมือนกัน แล้วใสในภาชนะทึบแสงทำการเขย่าภาชนะให้สลากคละกันเพื่อไม่ให้ทราบว่าเป็นสลากของผู้สมัครใด แล้วให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จับสลากชื่อผู้สมัครจากในภาชนะขึ้นมาครั้งละหนึ่งใบ ชื่อผู้สมัครใดที่ถูกจับมาเป็นลำดับแรกให้ถือว่า ผู้สมัครนั้นเป็นผู้มีสิทธิจับสลากเพื่อจับสลากก่อน ชื่อผู้สมัครใดที่ถูกจับมาเป็นลำดับถัดไปให้ถือว่า ผู้สมัครนั้นเป็นผู้มีสิทธิจับสลากเพื่อจับสลากเป็นลำดับถัดไปตามลำดับจนครบ
2.การจับสลากครั้งที่สอง ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขียนหมายเลขตั้งแต่หมายเลขหนึ่งถึงหมายเลขที่เท่ากับจำนวนผู้สมัครที่ยื่นใบสมัครพร้อมกันบนสลากที่เหมือนกัน แล้วใส่ในภาชนะทึบแสงทำการเขย่าภาชนะให้สลากคละกัน เพื่อไม่ให้ทราบว่าเป็นสลากที่เขียนหมายเลขใดแล้วให้ผู้สมัครตามลำดับของผลการจับสลาก ทำการจับสลากเพื่อยื่นใบสมัครผู้สมัครใดจับสลากได้หมายเลขใดให้ถือเป็นหมายเลขลำดับในการยื่นใบสมัคร
• ค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้ง
1.สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล 1,000 บาท
2.นายกองค์การบริหารส่วนตำบล 2,500 บาท
ทั้งนี้ ข้อห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มาตรา 64/2 นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ต้องไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1.ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เว้นแต่ตำแหน่งที่
ต้องดำรงตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือตามนโยบายของรัฐบาล
2.รับเงินหรือประโยชน์ใด เป็นพิเศษจากส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ
นอกเหนือไปจากที่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติกับบุคคลในธุรกิจการงานตามปกติ
3.เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลนั้น หรือมีส่วนได้เสียในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลดังกล่าวตามวรรคหนึ่งได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จ
บำนาญ เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกันและมิให้ใช้บังคับกับกรณีที่บุคคลดังกล่าว ตามวรรคหนึ่งรับเงินตอบแทนค่าเบี้ยประชุมหรือเงินอื่นใดเนื่องจากการดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือสภาท้องถิ่นอื่น หรือกรรมการที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นโดยตำแหน่งให้นำความใน ข้อ 3.มาใช้บังคับแก่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ด้วยโดยอนุโลม
นอกจากนี้ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 50 ได้กําหนดลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ ดังนี้
1.ติดยาเสพติดให้โทษ
2.เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
3.เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
4.เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามมาตรา 35 (1) เป็นภิกษุสามเณร นักพรตหรือนักบวช (2) อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดหรือไม่หรือ (3) วิกลจริต หรือจิตฟันเฟือนไม่สมประกอบ
5.อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิ สมัครรับเลือกตั้ง
6.ต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
7.เคยได้รับโทษจําคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท หรือ ความผิดลหุโทษ
8.เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทําการทุจริต หรือ ประพฤติมิชอบในวงราชการ
9.เคยต้องคําพิพากษา หรือ คําสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจําคุก เพราะกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
10.เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทําโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือ หรือเจ้าสํานักกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
11.เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทําการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
12.เป็นข้าราชการซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํา
13.เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
14.เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการ ส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
15.เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตําแหน่งในองค์กรอิสระ
16.อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
17.เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะศาลฎีกา หรื อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง มีคําพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
18.ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะได้รับโทษหรือไม่ โดยได้พ้นโทษ หรือต้องคําพิพากษามายังไม่ถึง 5 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี
19.เคยถูกถอดถอนออกจากตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือกฎหมาย ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นแล้วแต่กรณี มายังไม่ถึงห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง
20.อยู่ในระหว่างถูกจํากัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามมาตรา 42 หรือตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
21.เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและยังไม่พ้น 5 ปี นับแต่วันที่พ้นจากการถูกเพิกถอนสิทธิ เลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง
22.เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกันหรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
23.เคยพ้นจากตําแหน่งใดๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่า โดยทางตรง หรือ ทางอ้อมในสัญญา หรือ กิจการที่กระทําหรือจะกระทํากับ หรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญา หรือ กิจการที่กระทํากับ หรือจะกระทํากับหรือให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์ส่วนตน ระหว่างกัน และยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตําแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง
24.เคยถูกสั่งให้พ้นจากตําแหน่งใดๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะจงใจไม่ปฏิบัติ ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ หรือมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตําแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง
25.เคยถูกสั่งให้พ้นจากตําแหน่งใดๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะทอดทิ้งหรือละเลย ไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่และอํานาจ หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยหน้าที่และอํานาจ หรือประพฤติตนฝ่าฝืน ต่อความสงบเรียบร้อย หรือ สวัสดิภาพของประชาชน หรือมีความประพฤติในทางที่จะนํามาซึ่งความเสื่อมเสีย แก่ศักดิ์ตําแหน่ง หรือแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแก่ราชการ และยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นจาก ตําแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง
26.ลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกําหนด
อย่างไรก็ตาม การสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัคร มีโทษตามมาตรา 120 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือ มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจาคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี