“นิพนธ์”ตัวแทน มท.ไทยประชุม“รมต.อาเซียน”ใช้นวัตกรรมลดเสี่ยงภัยพิบัติ
“นิพนธ์” ตัวแทน “มหาดไทย” เข้าร่วมประชุมระดับ “รัฐมนตรี” อาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ ครั้งที่ 9 ย้ำการสร้างความร่วมมือ-หุ้นส่วน ใช้นวัตกรรมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ขับเคลื่อนงานตอนนั่งประธาน ACDM ในปี 65 ผ่านแนวทาง “BALANCING ACT”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 ห้องบัญชาการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ ครั้งที่ 9 (The 9th ASEAN Ministerial Meeting on Disaster Management : The 9th AMMDM) การประชุมผู้นำภาคีเพื่อดำเนินการตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 10 (The Meeting of the Conference of the Parties (COP to AADMER) and Related Meetings) และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ในฐานะรองประธานการประชุม (Vice-Chair) ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยมีสาธารณรัฐสิงคโปร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Committee on Disaster Management : ACDM) เป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ดังกล่าว และกล่าวถ้อยแถลงประเทศ (Country Statement) ในหัวข้อ "การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนและการมีนวัตกรรมเพื่อการจัดการภัยพิบัติที่เข้มแข็งภายในภูมิภาคอาเซียน" (Strengthening Partnership and Innovation for Disaster Management in ASEAN) ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประกอบด้วย ผู้แทนระดับรัฐมนตรีด้านการจัดการภัยพิบัติจากประเทศสมาชิกอาเซียน เลขาธิการอาเซียน เอกอัครราชทูตจีนประจำอาเซียน เจ้าหน้าที่อาวุโสของหน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติของประเทศคู่เจรจา (สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศญี่ปุ่น) ผู้บริหารระดับสูงจากองค์การสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งสิ้นกว่า 80 คน
ในการนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำเรื่องการเสริมสร้างความร่วมมือ ความเป็นหุ้นส่วน และการใช้นวัตกรรมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และสร้างความเข้มแข็งพร้อมรับมือภัยพิบัติตามเป้าหมายสำคัญของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมุ่งสู่การเป็นภูมิภาคที่มีภูมิคุ้มกัน และสามารถอยู่ร่วมกับภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ได้แสดงความพร้อมในการรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Committee on Disaster Management : ACDM) หรือ ACDM Chairmanship คู่ขนานกับการประชุมระดับรัฐมนตรี และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในปี พ.ศ. 2565 โดยกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนงานระหว่างดำรงตำแหน่งประธานฯ คือ "BALANCING ACT" เพื่อสนับสนุนนโยบายการพัฒนาที่สมดุลหลังโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มความสามารถ โดยจะรักษาการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ดี เช่น การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันความรู้ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคการศึกษาให้เพิ่มมากขึ้น และตอกย้ำถึงประเด็นเร่งด่วนต่างๆ ที่ภูมิภาคให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการเตรียมการล่วงหน้าก่อนเกิดภัยพิบัติ การคำนึงถึงเพศสภาวะและประชากรทุกกลุ่ม การขับเคลื่อนหลักการกรุงเทพฯ เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กับภาคสาธารณสุขจากภัยพิบัติ รวมถึงการเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีของอาเซียนในเวทีการประชุมระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น การประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการประชุมระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งจะจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2565 ด้วย
สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ ครั้งที่ 9 (The 9th ASEAN Ministerial Meeting on Disaster Management : The 9th AMMDM) ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ (1) เพื่อเป็นเวทีผลักดันความร่วมมือระดับภูมิภาคและรายงานความคืบหน้าของการดำเนินโครงการสำคัญตามแผนงานความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2564-2568 (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response Work Programme 2021-2015 : AADMER Work Proggramme 2021-2025) (2) เพื่อจัดการประชุมร่วมกับประเทศคู่เจรจาครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ผ่านการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-จีน ด้านการจัดการภัยพิบัติ ครั้งที่ 1 (The 1st ASEAN-China Ministerial Meeting on Disaster Management : AMMDM Plus China) และการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-ญี่ปุ่น ด้านการจัดการภัยพิบัติ ครั้งที่ 1 (The 1st ASEAN-Japan Ministerial Meeting on Disaster Management : AMMDM Plus Japan) โดยมุ่งเน้นถึงความสำคัญในการจัดตั้งกลไกภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และร่วมดำเนินพันธกิจผลักดันข้อริเริ่ม (Initiatives) และโครงการสำคัญที่มุ่งเน้นการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และ (3) ร่วมกำหนดแนวทางการรับมือต่อภัยพิบัติที่หลากหลายและความท้าทายรูปแบบใหม่ในอนาคต ผ่านข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติระดับภูมิภาค