“นายกฯ” สั่งตามแผนฉีดวัคซีน ชี้กุญแจสำคัญ ฟื้นเศรษฐกิจ-เปิดประเทศ
“โฆษกรัฐบาล” เผย “ประยุทธ์” สั่งติดตามแผนจัดหาวัคซีนของไทย พอใจเกินเป้าหมาย คาดปลายปีนี้มีวัคซีนรวม 155.6 ล้านโดส ชี้เป็น “กุญแจสำคัญ” แก้ปัญหาโควิด-19 ให้เศรษฐกิจเดินหน้า สร้างความเชื่อมั่นเปิดประเทศ
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 (ศบค.) ติดตามแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของไทย พอใจไทยสามารถจัดหาวัคซีนโควิด-19 เกินเป้าหมาย โดยปลายปีนี้ ไทยจะมีวัคซีนรวมทั้งหมด 155.6 ล้านโดส ประกอบด้วยวัคซีนที่รัฐจัดหา จำนวน 128.6 ล้านโดส ได้แก่ ซิโนแวค แอสตร้าเซเนก้า และไฟเซอร์ รวมทั้งวัคซีนทางเลือก ได้แก่ ซิโนฟาร์ม และโมเดอร์นา จำนวน 27 ล้านโดส โดยตั้งเป้าหมายใหม่ของการฉีดวัคซีนภายในปีนี้ โดยให้ครอบคลุมผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อยร้อยละ 80 และเข็ม 2 อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือนธันวาคมนี้
สำหรับผลการดำเนินการให้บริการวัคซีนโควิด – 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 12 พฤศจิกายน 64 มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสม 84.5 ล้านราย แบ่งประเภท
ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 45.2 ล้านราย คิดเป็น 67.3 %
ผู้ได้รับเข็มที่ 2 จำนวน 36.5 ล้านราย คิดเป็น 54.4 %
ผู้ได้รับเข็มที่ 3 จำนวน 2.7 ล้านราย คิดเป็น 3.8%
สำหรับผลการฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุ 12 – 17 ปี ระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม – 11 พฤศจิกายน 2564 รวมจำนวน 4.3 ล้านโดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 2.8 ล้านโดส และเข็มที่ 2 จำนวน 1.5 ล้านโดส
และการฉีดวัคซีนชาวต่างชาติในไทยอยู่ที่ 2,196,744 โดส คิดเป็นร้อยละ 26.5 ของจำนวนชาวต่างชาติทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในไทย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผู้อำนวยการ ศบค. ยังเห็นชอบให้มีการจัดสรรให้กลุ่มประชากรอื่นๆ ที่ไม่ใช่สัญชาติไทยทั้งหมด สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ตามความสมัครใจ แนวทางบริหารจัดการกลุ่มประชากรที่มิใช่สัญชาติไทย ศบค.มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดและจัดทำทะเบียนรายชื่อและจำนวนสำหรับผู้ที่ประสงค์รับวัคซีน ติดตามให้มารับการฉีดวัคซีนตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด กรณีกลุ่มเป้าหมายไม่มีเลขประจำตัวจะสร้างฐานข้อมูลตัวแปร (generate code) เพื่อออกใบรับรองการฉีดวัคซีนได้ ทั้งนี้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สำรวจ จัดทำทะเบียนฉีด รวมทั้งพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ดังนี้
1) แรงงานภาคประมง จังหวัดชายทะเล ( จังหวัดชายทะเล 21 จังหวัด ) มอบ ศรชล.
2) คนประจำเรือไทยหรือผู้ปฏิบัติงานบนเรือไทย ณ บริเวณท่าเรือในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ( จังหวัดชายทะเล 21 จังหวัด ) มอบกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม
3) แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ /บ้านนายจ้างที่ทั้งขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียน มอบกอ.รมน. กระทรวงแรงงาน /กระทรวงมหาดไทย
4) แรงงานต่างด้าว ตามชายแดนไทย
5) ผู้หนีภัยการสู้รบ พื้นที่พักพิงราชบุรี กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอนและตากและ
6) กลุ่มประชากรอื่นๆ ที่ไม่ใช่สัญชาติไทยทั้งหมด ในทุกจังหวัด มอบกระทรวงมหาดไทย
นายธนกร กล่าวว่า นายกฯ ยังกำชับผู้รับผิดชอบระดับอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน เร่งสำรวจประชากรที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว เพื่อลดความรุนแรงของการแพร่ระบาด พร้อมทั้งปกป้องระบบสาธารณสุขไทย โดยเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ในที่ประชุมผู้นำเอเปค ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค รวมทั้ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังเห็นพ้องกันว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึง เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาทั้งการระบาดไวรัสโควิด-19 และนำเศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าได้อีก ซึ่งตรงกับนโยบายนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่ให้เร่งจัดหาและฉีดวัคซีน มั่นใจไทยเข้าถึงเป้าหมาย 100 ล้านโดสภายในเดือนนี้ ช่วยย้ำความเชื่อมั่นให้กับภาคเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งการเปิดประเทศเพิ่มเติมในปลายปีนี้ ด้วย