1 ปี “ร่าง รธน.” ปชช.แท้ง 2 ฉบับ ปิดประตูรอมชอม “3 นิ้ว”?
หลังจากนี้ “กลุ่ม 3 นิ้ว” จะเดินเกมอย่างไรต่อ เมื่อฝ่ายรัฐ “ไม่รอมชอม” แชร์อำนาจทางการเมือง “พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า” ที่เป็นแนวร่วมก็มองถึงอนาคตการเลือกตั้งเสียแล้ว เมื่อเล่นบทในสภาฯก็ไม่ได้ เคลื่อนไหวบนท้องถนนก็ไม่ได้ ปลายทางสุดท้ายคงเหลือแค่ “ความรุนแรง”
นับเป็นการ “แท้ง” ครั้งที่ 2 ในรอบ 1 ปี สำหรับ “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่ถูกนำเสนอโดย “ภาคประชาชน”
โดยเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเสียงข้างมาก คือ ส.ส. และ ส.ว. จำนวน 473 เสียง “ไม่รับหลักการ” ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชน ฉบับที่ “ไอติม” นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution และประชาชนกว่า 1.35 แสนเสียง นำเสนอ และมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เป็นผู้ชี้แจงหลัก โดยมีประเด็นสำคัญคือ การเลิกวุฒิสภา (ส.ว.) ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร
ก่อนหน้านี้ในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อเดือน พ.ย. 2563 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมาก “ไม่รับหลักการ” ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชน ฉบับที่นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLAW) และประชาชนกว่า 1 แสนเสียงเป็นผู้เสนอ มีนายจอน อึ้งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLAW เป็นผู้ชี้แจงหลัก มีประเด็นสำคัญคือ การเปิดช่องให้มีการตั้ง สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เปิดช่องให้แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ได้ และลดอำนาจ ส.ว. ไม่ให้เลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ถูกล่ารายชื่อในช่วงเวลา “หัวเลี้ยวหัวต่อ” สงครามความคิด-ความขัดแย้งในสังคมที่ “ปะทุ” ขึ้นมารอบใหม่ตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมา นำโดย “กลุ่มราษฎร” ที่ชูข้อเสนอ “ทะลุฝ้า-รื้อเพดาน” ทำให้ถูก “บางฝ่าย” เคลือบแคลงสงสัยถึง “จุดประสงค์” ที่แท้จริงในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ
โดย “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ฉบับ iLAW ซึ่งมีความ “ใกล้ชิด” กับกลุ่มราษฎร และได้รับเงินทุนบางส่วนจากต่างชาติมาขับเคลื่อน แม้ว่านายจอน อึ้งภากรณ์ จะชี้แจงยอมรับว่าได้รับเงินจากต่างชาติจริง แต่เป็นเรื่องปกติ มีหลายองค์กรรับ และไม่สามารถมาชี้ขาดการนำเสนอข้อมูลของ iLAW ได้ก็ตาม แต่ประชาชนบางส่วนได้ “ตีตรา” ไปแล้วว่า “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ฉบับนี้อาจนำเสนอไปเพื่อ “ล้างความผิด” ให้ “คนแดนไกล” ด้วยหรือไม่
เนื่องจากมีสาระสำคัญตอนหนึ่ง “ล้างไพ่” พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 เกี่ยวคดีการทุจริต และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองให้ “พ้นสภาพ” ทั้งหมด และไปร่างกันใหม่ นั่นจะทำให้เกิด “สุญญากาศ” อย่างน้อย 6 เดือน
แม้ว่าร่างนี้จะถูกที่ประชุมร่วมรัฐสภา “ตีตก” ไป และไปเอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ “พรรคประชาธิปัตย์” เป็นผู้เสนอ ที่ปัจจุบันผ่านวาระ 3 และนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯไปแล้ว แต่ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนและ “คนบางกลุ่ม” ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้
กลุ่ม Re-Solution ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อล่ารายชื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทันควัน โดยกลุ่มนี้นำโดย “ไอติม” นายพริษฐ์ วชิรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และหลาน “น้ามาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มาเป็น “แกนหลัก”
ทราบกันโดยทั่วไปว่าในช่วง 1-2 ปีหลังมานี้ “ไอติม” มีความสนิทชิดเชื้อกับ “ค่ายสีส้ม” ทั้งพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า และเคยออกปากว่ามีจุดยืน-อุดมการณ์ “ร่วมกัน” เห็นได้จากการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาเสนอที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้นำนายปิยบุตร แสงกนกกุล มาชี้แจงเป็นตัวหลักด้วย
ขณะที่บทบาทของนายปิยบุตร ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นหนึ่งใน “ไอคอนทางความคิด” ของ “กลุ่มราษฎร” หรือที่ประชาชนบางฝ่ายเรียกว่า “กลุ่ม 3 นิ้ว” ดังนั้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งว่า เป็นความพยายามของ “กลุ่ม 3 นิ้ว” ในการมี “ที่ทาง” ในสภา โดยมี “คนเบื้องหลัง” ต้องการ “แชร์อำนาจ” ทางการเมือง เพราะการเคลื่อนไหวบนถนนไม่สร้างแรงกระเพื่อมใด ๆ ในทางการเมืองอีกแล้ว?
ย้อนกลับไปจุดพีคของ “กลุ่มราษฎร” เกิดขึ้นในระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค. 2563 และหลังจากนั้น “แผ่วลง” เรื่อย ๆ จนมาถึงปัจจุบัน เพราะแกนนำ “แถว 1” ทยอยถูกฟ้องและคุมขัง ส่วนแกนนำ “แถว 2” ไม่มีอิมแพคมากพอ แม้จะมีความพยายาม “ปรับเปลี่ยน” แนวทาง มีการดึง “เจ้าพ่อม็อบ” อย่าง “เต้น” นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. และ “บก.ลายจุด” นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอนคนเสื้อแดง มาช่วยพยุงม็อบแล้วก็ตาม ทว่า “ปลุกไม่ขึ้น” คนยังบางตาเช่นเดิม จนทั้งคู่ต้องถอยออกไป
นอกจากนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ที่ชี้ขาดว่าการปราศรัยของแกนนำ “กลุ่มราษฎร” อย่าง นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์) และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) เป็นการ “ล้มล้างการปกครอง” ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งห้าม “กลุ่มองค์กร” ที่มีลักษณะเดียวกันเคลื่อนไหวอีก ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง
นั่นยิ่งทำให้การ “เคลื่อนไหวบนถนน” ของ “กลุ่ม 3 นิ้ว” ยากลำบากขึ้นไปอีก แม้จะมี “ม็อบ” ในวันที่ 14 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา แต่คนค่อนข้าง “บางตา” อย่างมาก และแกนนำหลักไม่ปรากฏตัวอย่างเช่นเคย ทำให้ “คนเบื้องหลัง” จำเป็นต้องเปลี่ยนเกมมาเล่นในสภาฯอีกครั้ง?
ความเคลื่อนไหวของ “2 กลุ่ม” ใหญ่ที่ “หนุน” ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นำโดยคณะก้าวหน้ามีนายปิยบุตร แถลงที่รัฐสภาแสดงความ “ผิดหวัง” การใช้กลไก “ประชาธิปไตยทางตรง” ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ยัง “ไม่สิ้นหวัง” หันไปใช้ “ประชาธิปไตยระบบผู้แทน” ฝากให้พรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในอนาคตข้างหน้า นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น “นโยบายหาเสียง” เพื่อให้สามารถแก้ไขสังคมไปต่อได้
“ส.ส. ที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญของพวกเรา แม้จะเห็นด้วยไม่ทั้งหมด หรือเห็นด้วยทั้งหมดก็ตาม ท่านมีโอกาสแม้วันนี้ยังเป็นเสียงข้างน้อยในสภา แต่อีกไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี คงมีการเลือกตั้ง ส.ส. ตามมา คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ฝากความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ส.ส. ที่สนับสนุนแนวคิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะนำไปออกแบบเป็นนโยบาย รณรงค์ผ่านการหาเสียงเลือกตั้งครั้งจะมาถึง และประชาชนที่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้ จะได้ตัดสินใจลงคะแนนเลือกพวกท่านมาเป็น ส.ส. เสียงข้างมาก และช่วยกันแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จจงได้ต่อไป” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ระบุ
แทบจะทันควันพลันที่นายปิยบุตรแถลงเสร็จ “พรรคก้าวไกล” โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค “รับลูก” ทันที โดยแสดงความ “เสียดาย” ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการพิจารณา แต่พร้อมจะนำไปเป็น “นโยบายหาเสียง” โดยขอให้ประชาชนที่เห็นด้วย เลือกพรรคก้าวไกลเพื่อนำนโยบายนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป
“ถ้าประชาชนเห็นว่า ระบบการเมืองไทยบิดเบี้ยว กลับมาเข้าร่องรอยสามัญสำนึก ขอแรงสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลด้วย” นายพิธา ระบุ
ชี้ให้เห็นถึง “เล่ห์กลการเมือง” ที่ “พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า” วางหมากเอาไว้อยู่แล้ว และคาดคะเนตั้งแต่ต้นว่า “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้” โอกาสผ่านมี “น้อยมาก” จึงต้อง “สร้างดราม่า” ในสภา ก่อนนำมาเป็น “นโยบายหาเสียง” เพื่อ “ช่วงชิง” มวลชนที่อยู่ “ตรงกลาง” ซึ่งมีจำนวนมากในสังคม เอนเอียงมาเป็น “ฝ่ายซ้าย” ให้ได้?
ดังนั้นน่าจับตาว่าหลังจากนี้ “กลุ่ม 3 นิ้ว” จะเดินเกมอย่างไรต่อ เมื่อฝ่ายรัฐ “ไม่รอมชอม” แชร์อำนาจทางการเมือง “พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า” ที่เป็นแนวร่วมก็มองถึงอนาคตการเลือกตั้งเสียแล้ว
เมื่อเล่นบทในสภาฯก็ไม่ได้ เคลื่อนไหวบนท้องถนนก็ไม่ได้ ปลายทางสุดท้ายคงเหลือแค่ “ความรุนแรง” เพียงเท่านั้น?