พรรคเล็กหนีตาย"บัตร 2 ใบ" -"ค่ายใหญ่" บีบยุบรวม
กติกาเลือกตั้งและสูตรการได้มาซึ่งส.ส.ผ่านระบบ"บัตร2ใบ" กำลังบีบให้บางพรรคต้องดิ้นหนีตาย โดยเฉพาะ"พรรคเล็ก" ที่ส่อแววสูญพันธ์ุ ยามนี้จึงต้องเร่งหาชายคาใหม่ด้วยวิธีการ"ยุบรวมพรรค"
พลันที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(แก้ไขเพิ่มเติม)ประเด็น “บัตร 2 ใบ” ปรับสูตร ส.ส.เขต 400 บวกปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน มีผลนับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
ท่าทีจากบรรดาพรรคการเมือง ต่างเร่งเสนอโมเดล และสูตรต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับศึกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
ฟากฟั่ง“ค่ายใหญ่” ที่ดูเหมือนจะกำลังเป็นต่อจากกติกาบัตร 2 ใบ ยามนี้พยายามเดิมเกมรุก-ปลุกเกมรับ
โดยเฉพาะ "พรรคเพื่อไทย" ที่พยายามชิงจังหวะปลุกกระแสชนะแบบ “แลนด์สไลด์” เพื่อเป็นรัฐบาลพรรคเดียว
ไม่ต่างไปจาก "พลังประชารัฐ" แม้จะกำลังเผชิญวิกฤติเกี่ยวกับเสถียรภาพภายใน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงเดินปลุกเกมชนะขาด-กวาดส.ส.-ย่อขนาด “พรรคกลาง” และ“พรรคเล็ก” เพื่อลดแต้มต่อรองเหมือนดังเช่นที่ผ่านมา ซ้ำยังมีเสียงส.ว.ตุนไว้ในมืออีกทางหนึ่ง
สอดรับกับความเห็นจาก “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประเมินตัวเลข ส.ส.ที่จะได้ภายใต้กติกาใหม่ โดยใช้ฐานคะแนนการเลือกตั้งปี 2562 โดยพบว่า เพื่อไทยจะได้ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มจาก 0 เป็น 22 พลังประชารัฐเพิ่มจาก 19 เป็น 24 อนาคตใหม่ (ก้าวไกล) ลดจาก 50 เหลือ 18 พรรคกลาง พรรคเล็ก ลดลงทุกพรรค (ยกเว้น ประชาชาติ) พรรคจิ๋ว 1 เสียง 12 พรรค สูญพันธุ์หมด
“หากคิดบัญญัติไตรยางค์อย่างง่าย ๆ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเพื่อไทย ในการเลือกตั้งคราวใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือ 32 คน รวมเขตที่เคยได้เดิม อีก 136 เขต กลายเป็นจำนวน ส.ส.168 คน ทิ้งห่าง พปชร.ที่ได้เขตรวมบัญชีรายชื่อใหม่แค่ 121 คน” สมชัยประเมิน
ต่างจาก “พรรคขนาดกลาง” ที่พยามยามชิงเกมสู้โมเดล “2 บัตร” ผ่านกระบวนการยกร่างกฎหมายลูก ที่กำลังจะดำเนินในขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้
ไม่จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง “ภูมิใจไทย” และ “ชาติไทยพัฒนา” ที่กำลังเดินเกมต่อรอง “ขอพบกันครึ่งทาง” ฟื้นโมเดล“กึ่งไพรมารี่โหวต” เหมือนเมื่อครั้ง คสช.หวังผลเกลี่ยคะแนนเพิ่มส่วนแบ่งที่นั่ง ส.ส.ในสภา
ไม่ต่างไปจากขั้วฝ่ายค้านอย่าง “ก้าวไกล” ซึ่งการเลือกตั้งรอบที่แล้ว “ส้มหล่น” จากระบบ “บัตรใบเดียว” กวาดปาร์ตี้ลิสต์มากที่สุดในสภาฯ
ล่าสุด “แยกวง” ชงร่างกฎหมายลูกร่วมกับพรรคเพื่อไทย ด้วยเหตุผลมีประเด็นที่เห็นต่าง โดยเฉพาะ "สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์"
ชั่วโมงนี้พยายาม“ดิ้นสู้” ด้วยโมเดล “จัดสรรปันส่วนผสม” หรือ MMP หวังแชร์ส่วนแบ่งที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ แม้จะรู้ดีว่าโอกาสผ่านแทบไม่มี มิหนำซ้ำยังมีความพยายามจากบางพรรคในการหยิบยกเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เปิดช่องโมเดลดังกล่าวออกมาต่อสู้
แต่ที่ดูเเหมือนจะได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ หนีไม่พ้นบรรดา “พรรคเล็ก” หรือ “พรรคปัดเศษ” ที่เตรียมสูญพันธ์ุ จากระบบบัตร 2 ใบ ยามนี้พยายาม "ดิ้นหนีตาย" กติกาใหม่ ทั้งการเสนอสูตรส่วนแบ่งการเมืองผ่านเกณฑ์คำนวณส.ส.พึงมี หรือแม้กระทั่งการยึด“ไพบูลย์โมเดล” ยุบพรรคเล็กควบรวมพรรคใหญ่
โดยเฉพาะ “พิเชษฐ สถิรชวาล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ก่อนหน้านี้ออกมาประกาศอย่างชัดเจนยุบพรรคตัวเอง และเตรียมย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) หลังกกต.มีการรับรองการยุบพรรค
มิหนำซ้ำ ล่าสุดยังพยามส่งสัญญาณโน้มน้าวไปยังพรรคเล็กด้วยการ “ปล่อยข่าว” ปรับเกณฑ์ขั้นต่ำจาก 1% เป็น 5% แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เสมือนเป็นการโยนหินถามทาง ให้พรรคเล็กต้องเร่งตัดสินใจในการเร่ง “เปิดดีล” ควบรวมพรรค
เพราะหากประเมินคร่าวๆ ตามจำนวนเปอร์เซ็นที่ “พิเชษฐ์” ระบุจากฐานคะแนนการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งมีคะแนนรวมทุกพรรคอยู่ที่ 35,441,920 คะแนน นั่นหมายความว่า พรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่า 1.7 ล้านคะแนน จะต้องสูญพันธ์ุไปโดยปริยาย และหากเปรียบเทียบการเลือกตั้งรอบที่แล้ว จะมีพรรคการเมืองราวๆ 5 พรรคเท่านั้น ที่มีคะแนนเกิน 1.7 ล้านคะแนน
ฉะนั้น แม้ในร่างของกกต.ที่เตรียมเสนอเข้าสู่สภาฯ เวลานี้ จะยืนยันการกำหนดเณฑ์คำนวณขั้นต่ำไว้ที่ 1% แต่เอาเข้าจริง หากร่างกฎหมายลูกผ่านชั้นรับหลักการในวาระแรกไปได้ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการพิจารณาในชั้น กมธ.ซึ่งชั้นนี้ยังสามารถปรับแก้ไขร่างที่เสนอได้
เกิดอยู่ดีๆ “พรรคใหญ่” หรือ “พรรคกลาง” บางพรรคจับมือกันแล้ว แก้จากเกณฑ์พึงมีจาก 1% เป็น 5% งัดเสียงข้างมากบีบให้พรรคเล็กจำต้องยุบรวมพรรคใหญ่ เพื่อหนีตายก็ย่อมเป็นไปได้
ฉะนั้นสูตรคำนวณส.ส. 5% ตามที่พิเชษฐ์ระบุ แม้จะถูกปล่อยออกมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย อ้างถึงที่มาที่ไปเพียงแค่ “ได้ยินมาว่า...” แต่ก็ใช่ว่าจะมองข้ามไปได้
เอาเข้าจริง สูตรนี้ซึ่งเคยถูกใช้มาแล้วในการเลือกตั้งปี 54 อาจเป็นการ "โยนหินถามทาง" ที่ไปเข้าทางพรรคใหญ่ ในการ “ขวางพรรคกลาง-ปิดทางพรรคเล็ก” ไปในคราวเดียวกันอีกด้วย