ป.ป.ช.นัด “ชำนาญ” ให้ถ้อยคำ ม.ค.65 ปมร้อง “อดีต ปธ.ศาลฎีกา-ก.ต.”
เผยความคืบหน้าคดี “ชำนาญ รวิวรรณพงษ์” ร้องสอบ “อดีตประธานศาลฎีกา” พ่วง “ก.ต.” เสียงข้างมาก ป.ป.ช. นัดให้ถ้อยคำ ม.ค. 2565
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2564 นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ได้ยื่นร้องเรียน อดีตประธานศาลฎีกา 2 ท่าน รวมทั้งคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เสียงข้างมากและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใน 2 สำนวนคำร้อง โดยกล่าวว่า ป.ป.ช. แจ้งกลับมายังตนว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวนเรื่องราวตามข้อร้องเรียน และขอเชิญไปให้ถ้อยคำเพิ่มเติม ซึ่งตนได้แจ้งป.ป.ช. ไปว่า จะไปให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช. ในช่วงเดือนมกราคม 2565 เนื่องจากช่วงนี้ตนติดภารกิจหลายอย่าง
นายชำนาญ กล่าวว่า ส่วนกรณีเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบการกระทำของนายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล ประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ กรณีถูกร้องเรียนว่า ใช้แอปลิเคชั่นไลน์ หาเสียงเลือกตั้ง ก.ต.บุคคลภายนอกในกลุ่มไลน์ “สภาตุลาการ” ล่าสุดตนทำหนังสือถึงผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรมว่า เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับนายอนุรักษ์ ถือเป็นเรื่องใหญ่ ควรต้องรีบพิจารณาโดยเร่งด่วน เพราะเกี่ยวพันกับคุณสมบัติของ ก.ต. บุคคลภายนอก 2คนที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามาเป็น ก.ต. แล้ว และยังเกี่ยวพันกับการลงมติด้วย เพราะหากผลออกมาว่ามีความผิด อาจจะโยงไปว่า มีความเกี่ยวข้องกับ ก.ต. บุคคลภายนอกนี้ด้วยหรือไม่ เพราะอาจถูกมองว่า รู้เห็นด้วยหรือไม่ เพราะมีกฎหมายอยู่
“ก็เหมือน ส.ส. นั่นแหละครับ ลงมติได้หรือเปล่า และที่ลงมติไปแล้วชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แล้วเบี้ยประชุมที่รับไป ต้องคืนหรือเปล่า ถ้าพบว่าการสรรหามาโดยมิชอบ เพราะฉะนั้น ทิ้งนานไปก็ไม่น่าจะดี เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ตรวจสอบให้มันถูกต้องไป ผิดไม่ผิด ก็ว่ากันไป” นายชำนาญ กล่าว
ส่วนกรณีการขอให้ตรวจสอบว่า ชื่อบัญชีไลน์ที่มีการร้องเรียนว่า ใช้ล็อบบี้การหาเสียง ก.ต. บุคคลภายนอกนั้น ควรที่จะส่งเรื่องให้ตำรวจหรือหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทำการตรวจสอบหรือไม่ นายชำนาญ กล่าวว่า ในการตรวจสอบเรื่องชื่อบัญชีไลน์ ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย เพียงแค่เรียกเจ้าตัวที่ถูกร้องเรียนมาสอบถามก็หมดเรื่องแล้ว ว่าเป็นผู้ใช้ชื่อบัญชีไลน์ดังกล่าวหรือไม่ หากใช้ชื่อไลน์นั้นจริง ส่วนอื่น ๆ ก็ว่ากันไป เรื่องอย่างนี้ หากตรวจสอบไม่ได้แล้วจะไปพิจารณาเรื่องอื่นได้อย่างไร
"สำหรับอำนาจการตรวจสอบเป็นอำนาจของประธานศาลฎีกา ในขณะนั้น เพราะร้องเรียนไปยังประธานศาลฎีกา ต้องมีหน้าที่ในการตรวจสอบให้เรียบร้อย แต่รอดูครั้งที่ 2 ที่ยังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวโยงกันว่าจะมีการพิจารณาออกมาในรูปแบบใด หากเห็นว่าไม่น่าจะถูก ต้องส่งกลับไปให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบใหม่ คราวนี้ก็ต้องสอบทั้งคนที่สั่งให้ยุติการสอบสวน มองว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับการลงมติของ ก.ต.” นายชำนาญ กล่าว